
© 2017 Copyright - Haijai.com
ทำงานน่าเบื่ออย่างสนุก ด้วยการฝึกเจริญสติ
ผมได้รับเชิญจากศูนย์คุณธรรมไปร่วมทัศนศึกษาการทำงานของคณะฉือจี้ไต้หวัน เมื่อหลายปีมาแล้ว เรื่องหนึ่งที่ผมสนใจมากก็คือ การสอนคุณธรรมให้เยาวชน ปรากฎว่า เขาสอนโดยให้เด็กหัดจัดดอกไม้ ชงชา และวาดรูป ที่บ้านเราจะรู้จักกันในนามของการจัดดอกไม้แบบเชน ชงชงแบบเชน และวาดรูปแบบเชนนั่นเอง ผมเข้าใจว่า คงเป็นวัฒนธรรมฝ่ายพุทธ ที่พัฒนาขึ้นในเมืองจีนโบราณ แล้วญี่ปุ่นรับไปตกแต่งขัดเกลา ให้เป็นแบบญี่ปุ่น แล้วกระจายไปตะวันตกผ่านพุทธศาสนานิกายเชน
โดยตัวสาระหลักนี่ คือ การเจริญสติไปด้วยขณะจัดดอกไม้ ชงชา หรือวาดรูปนั่นเอง วิธีการที่เขาสอนเด็กนั้น ก็คือ จัดห้องสำหรับสอนแต่ละเรื่องโดยเฉพาะ ทุกอย่างวางไว้พร้อม พอเด็กเข้าไปนั่งเรียบร้อยในที่ของตนแล้ว การหยิบจับทุกอย่างให้ทำอย่างเนิบช้าด้วยสติ เช่น ยกมือขึ้น เอื้อมไปหยิบพู่กัน ยกพู่กันขึ้น ยื่นพู่กันไปตรงขวดหมึก จุ่มพู่กันลงไป ยกพู่กันขึ้นมา จรดลงไปบนกระดาษ ฯลฯ ทุกขั้นตอนทำเหมือนพิธีกรรมหมด
ผมเข้าใจว่าเขาคงสอนเรื่องอื่นๆ ไปด้วย แต่สาระหลักของการสอนศีลธรรมของเขา คือ การเจริญสติ นี่น่าสนใจมาก ทางสายมหายานดูเหมือนได้พัฒนาเรื่องนี้ อย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นส่วนหนึ่ีงของวัฒนธรรม ในวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสายปฏิบัติธรรม ในนิกายเชน และคงกระจายไปในคณะอื่นๆ ด้วย ท่านติช นัท ฮันห์ ผู้รจนา "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" ได้นำวิธีการนี้ มาเผยแพร่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในหนังสืออีกหลายเล่มของท่าน จนติดปากผู้ติดตามอ่านงานของท่านเรื่อง "ล้างจานเพื่อล้างจาน"
เวลาเราล้างถ้วยจาน คนทั่วไปมักรีบทำให้เสร็จๆ เพื่อไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่า เพราะถือว่าเป็นงานไม่สำคัญอะไร ท่านสอนว่า ให้เราเปลี่ยนทัศคตินั้นเสีย ให้ถือว่าเป็นโอกาสอันวิเศษ สำหรับการฝึกสติ ขณะหยิบจานขึ้นมา ขณะถูด้วยผ้าหรือแปรงล้างจาน ขณะรินน้ำหรือจุ่มลงน้ำ เพื่อล้างคราบสบู่ออก ทุกขึ้นทุกตอนให้ทำอย่างมีสติควบคู่ไปด้วย แทนที่งานล้างจานจะเป็นงานธรรมดาๆ ก็กลายเป็นคล้ายๆ พิธีกรรม มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายขึ้นมา ที่สำคัญ เราได้พัฒนาพลังชีวิตให้งอกงามไปพร้อมกันกับกิจกรรม ที่แสนจะธรรมดาไปด้วย
สำหรับคนที่ต้องการมีชีวิตอย่างมีความหมายและมีความสุขแล้ว จะมีพลังอะไรอื่น ที่สำคัญกว่าพลังแห่งสติเป็นไม่มีอีกแล้ว เป็นพลังที่มีประโยชน์ในทุกโอกาสของชีวิต ทั้งหลังและตื่น
ที่จริงวัฒนธรรมฝ่ายเถรวาท หรือพุทธศาสนาแบบของเรา ก็มีการฝึกเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ไม่ได้ออกมานอกวัดมากนัก คือ ไม่ได้กระจายลงมาสู่วิถีชีวิตประชาชนมากนัก สำนักกรรมฐานหลายสาย ก็อาศัยการเจริญสติในทุกอิริยาบท เป็นส่วนสำคัญยิ่งยวดในการปฏิบัติธรรม
ในชีวิตจริงของคนเรา มีเรื่องมากมายที่เราถือว่าไม่สำคัญ แต่ขาดไม่ได้สำหรับการดำรงชีวิต เช่น หุงข้าว ต้มแกง กวาดบ้าน ถูเรือน ดูดฝุ่น ซักผ้า ไม่ว่าซักด้วยมือหรือด้วยเครื่อง จัดที่นอน พับผ้า รีดผ้า ลุก นั่ง ยืน เดิน หยิบข้าว หยิบของ เข้าห้องน้ำ ฯลฯ ทุกอย่าง เราใช้เป็นโอกาสสำหรับฝึกสติได้ทั้งสิ้น รวมทั้งการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่าย เพียงแต่เราเติมความรู้ตัวเข้าไป ในขณะที่เราทำเรื่องนั้นๆ เท่านั้น
ขอยกตัวอย่างเรื่องกวาดบ้าน ขณะกวาดบ้านอยู่ แทนที่จะรีบทำให้เสร็จ ขณะกวาดบ้าน ก็คิดไปทำเรื่องอื่นต่อไป ไม่ได้อยู่ในขณะปัจจุบัน เราก็ทำอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม ขณะยกไม้กวาด ขณะขยับมือ ขณะก้มลง ขณะเดินไปมา กวาดบ้านเสร็จแทนที่จะรู้สึกเหนื่อย เราจะรู้สึกสนุกเสียด้วย ได้พลังด้วย ถ้าทำได้ต่อเนื่องยาวนานพอสมควร ความรู้สึกอิ่มใจ ก็จะเกิดขึ้น ที่ท่านเรียกปิตินั่นเอง อันนี้เป็นผลได้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นความสุขที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อหา ไม่ต้องพึ่งพาใครๆ แล้วยัง เป็นการสะสมพลังที่จะรับมือกับยามที่ชีวิตต้องเผชิญภาวะหนักหน่วงอีกด้วย เมื่อถึงยามนั้นๆ เราก็จะตั้งสติได้เร็ว ตัดสินใจได้ดี
ผลได้สำคัญยิ่งก็คือ เรามีสติมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องแสนจะธรรมดา แต่ผมอยากจะย้ำว่า นี่แหละเป็นปัจจัยชี้ขาด สำหรับการดำรงชีวิต อย่างมีความหมายและมีความสุข
สมััยที่ผมยังหนุ่ม เรามีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ปฏิบัติธรรมด้วยกัน เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า เขานั่งกับคนรักเฉยๆ ไม่ต้องพูดอะไร ต่างคนต่างเจริญสติ ทั้งคู่ก็มีความสุขอย่างเหลือล้น นี่เป็นการเอาสติมาใช้ แม้ในเรื่องของความสุข แบบสามัญธรรมดา ทำให้เราบริโภคความสุขแบบนี้ อย่างพอดี
เมื่อแต่งงานกันแล้ว เพื่อนอีกคนเล่าว่ เวลาภรรยาโกรธเคือง และกล่าววาจาต่อว่าต่อขานอย่างรุนแรง เขาฟังและเจริญสติรู้ตัวทั่วพร้อมไปด้วย รับรู้ถึงพลังโกรธที่พุ่งมาหาเขา ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในท้องในไส้ของตนเอง รู้สึกถึงทุกข์ที่ภรรยากำลังรับอยู่ ขณะโกรธนั้น แทนที่จะตอบโต้และนำไปสู่การทะเลาะ เขาฟังอย่างลึกซึ้ง พอภรรยาพูดจบ เขาลองพูดทวนให้ภรรยาฟังว่า ประเด็นที่เธอโกรธเขา คืออะไร และทำไมเขาจึงทำไป ถ้าเขาทำผิดเขาก็ยอมรับ และเขาจะทำอะไรต่อไปในเรื่องที่ภรรยาต่อว่า ปรากฏว่า เมื่อภรรยาได้ยินที่เขาทวนคืน เธอรู้สึกสงบลงทันที เพราะเขาฟังเธออย่างแท้จริง รู้ว่าเธอกำลังทุกข์ใจเรื่องอะไร
การมีสติในงานการน่าเบื่อของชีวิตประจำวัน ยังทำให้เราลดความทุกข์ อันเนื่องจากการคิดของเราได้ด้วย การเจริญสติเป็นการสร้างวงจรใหม่ในสมองของเรา ทำให้เราไม่ต้องตกอยู่ในร่องกรรมเดิม ที่ทำให้เราคิดวนในเรื่องเดิมๆ ที่ทำให้เราเป็นทุกข์
คนเราเสียเวลามากมายไปกับการคิดเรื่อง ที่ไม่เป็นเรื่อง คิดในเรื่องที่เราไม่รู้จริงจัง แต่คาดเดาเอา แม้แต่เรื่องที่สามัญที่สุดเราก็ขุ่นมัวได้ เพราะคิดไปเอง มีครั้งหนึ่งผมพาสมาชิกในกลุ่นนั่งภาวนาด้วยกัน ก่อนออกจากบ้าน ผมเอาโทรศัพท์มือถือมาด้วย ระหว่างนั่งมีเสียงดังขึ้น ผมคิดว่าต้องเป็นมือถือของเราแน่เลย รู้สึกเสียใจไปแล้วและสองใจว่า จะลุกไปปิดดีไหม ถ้าเราลุกไปก็จะทำให้ทุกคนเสียสมาธิไปด้วย พอนั่งเสร็จก็ขอโทษเพื่อนๆ แต่เพื่อนบอกว่ามันเสียงเครื่องจักรข้างนอกต่างหาก ลุกไปดู เอ้า มีเครื่องจักรมาทำงานจริงๆ นี่เรื่องนิดเดียว ใจเราก็คิดไปไม่ตรงกับความเป็นจริงได้มากขนาดนี้ เรื่องอื่นๆ ในชีวิต เราคิดปรุงแต่งไปเองได้มากมายแค่ไหน
ถ้าเป็นเรื่องแรงๆ ของชีวิต เราจะหยุดความคิดของเราไม่ได้ด้วย เราจะคิดวนอยู่อย่างนั้น คนสมัยใหม่ส่วนมากเป็นทาสความคิดของตนเอง สร้างทุกข์ร้อนให้กับตนเอง เพราะความคิดวนไปวนมา เรื่องเดิมๆ มากมาย บางคนในบางคืนก็คิดมากจนนอนไม่หลับ บางคนนอนไม่หลับหลายๆ คืน นี่คือกรรมเก่า หรือวัฎสงสารนั่นเอง การออกจากวังวนของการคิดซ้ำๆ ในเรื่องที่ทำให้เราทุกข์ได้ ก็คือ การแก้กรรมอย่างแท้จริง ตามหลักพุทธศาสนา เราจะทำเช่นนี้ได้ เราต้องอาศัยการเจริญสตินั่นเอง และเราทำได้โดยอาศัยกิจกรรมน่าเบื่อทั้งหลาย ในชีวิตประจำวันนี้แหละ เป็นเชือกไต่ขึ้นมาจากหุบเหวของความทุกข์
ทุกข์ใจบางเรื่องเราจะไปแก้ที่ใจทันทีไม่ได้ ต้องอาศัยการเจริญสติที่ฐานกายก่อน อาศัยฐานกายสร้างพลังขึ้นมา แล้วค่อยเอาพลังนั้นไปสู้รบตบมือกับทุกข์ทางใจ แม้จะรู้หลักธรรมมากมายแค่ไหน รวมทั้งรู้ธรรมขั้นสูงเรื่องอนัตตา ตฤตา สุญญตาด้วย แต่ถ้าไม่มีพลังสติพอแล้ว เราเอาความทุกข์ไม่อยู่หรอก
จริงอยู่คนเราจะให้ชีวิตมันสดใสไปหมดทุกอย่าง มันก็พูดง่ายเกินไป คนพูดส่วนมากก็ทำไม่ได้หรอก เวลาเจอทุกข์เข้ากับตนเอง แต่สอนคนอื่นดีหนักหนา แต่ถ้าเราสะสมพลัง โดยใช้กิจกรรมที่อย่างไรเสีย เราก็ต้องทำอยู่แล้ว มาเจริญสติ เราก็จะมีทุนสำรองไว้ เมื่อทุกข์มาโจมตี เราก็มีพลังสำรองไว้รับมือ
ผมเองมีความสุขที่ได้ดูแลลูกเล็ก ตอนตัวเองเริ่มแก่ตัวลง แต่บางครั้งเวลาเล่นกับลูก เราก็เบื่อ เพราะเด็กเรียนรู้ด้วยการเล่นซ้ำๆ เช่น เล่นทราย ขนทรายไป ขนทรายมา แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองเบื่อเวลาอยู่กับลูก อาจจะคิดในใจ "เมื่อไหรจะพอเสียทีนะ" ผมก็ขนทรายกับลูก แต่ใช้การขนทรายนั้น เป็นการเจริญสติไปด้วย ทำให้ผมเล่นกับลูกอย่างมีความสุขได้ แทนที่จะเบื่อแล้ว หาทางชวนลูกไปทำอย่างอื่น ทั้งๆ ที่ลูกยังไม่จบการเรียนรู้เรื่องการเล่นทรายของเขา ผมเชื่อทฤษฎีว่า การใช้มือทำกิจกรรมของเด็ก เกี่ยวโยงกับการสร้างพัฒนาการทางสมองของเขา พอสมองพัฒนาด้านนั้นแล้ว เขาก็จะไปเล่นอย่างอื่นต่อไป เราต้องเข้าใจว่าเวลาอยู่กับลูก มันเป็นวาระของลูก ไม่ใช่วาระของเรา
การเจริญสตินี้ทำจริงๆ ทำง่าย แต่ที่ยากคือเรามักลืมง่าย เผลอทำอะไรตามความเคยชิน โดยทำการทำงานธรรมดาๆ เหล่านี้ อย่างไม่มีสติ วิธีหนึ่งที่ช่วยผมได้มาก คือ การทำป้ายเล็กๆ ไปติดไว้ในที่ต่างๆ ที่เราต้องทำงานเหล่านั้น เช่น บริเวณครัว เราก็ติดป้ายเล็กๆ ทำให้สวยๆ ามรสนิยมของเราได้ว่า "ทำอาหารมีสติ" ตรงที่ล้างจานเราก็เขียนไว้ว่า "ล้างจานมีสติ" ตรงห้องน้ำ เราก็เขียนไว้ว่า "ขับถ่ายมีสติ" ตรงประตูก็เขียนไว้ว่า "เปิดประตูมีสติ" ฯลฯ โดยป้ายเหล่านี้ ติดไว้ให้อยู่ในระดับสายตา ก็ช่วยให้เราทำกิจนั้น อย่างมีสติได้ง่ายขึ้น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)