Haijai.com


ขิง

ขิง สรรพคุณและประโยชน์

 

ขิง สรรพคุณและประโยชน์

 

ขิง

 

ขิงเป็นพืชที่คนไทยเราคุ้นเคยมานาน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Rosc. จัดอยู่ในวงศ์ Zingiberaceae มีชื่อที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันไป เช่น ขิงแกลง ขิงแดง (จันทบุรี) ขิงเผือก (เชียงใหม่) สะเอ (แม่ฮ่องสอน) ขิงบ้าน ขิงแครง ขิงป่า ขิงเขา ขิงอกเดียว (ภาคกลาง)

 

ลักษณะทางพืชศาสตร์

 

ขิงเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นกอสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ก้านใบเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับข่า ขมิ้น กระวาน เร่ว มีลำต้นใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายฝ่ามือ เรียกว่า “เหง้า” เปลือกเหง้ามีสีเหลืองอ่อน เนื้อมีสีเหลืองอมเขียว มีใยอาหารมาก ขิงอ่อนมีสีขาวออกเหลือง มีรสเผ็ดและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขิงยิ่งแก่ยิ่งมีรสเผ็ดร้อน

 

สรรพคุณทางยา

 

 ราก รสหวาน ขม เผ็ดร้อน ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ลม แก้บิด และช่วยเจริญอาหาร

 

 เหง้า รสหวาน เผ็ดร้อน ใช้ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้

 

 ต้น รสเผ็ดร้อน แก้จุกเสียด ขับลม แก้ท้องเสียและท้องร่วง

 

 ใบ รสเผ็ดร้อน แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ และใช้ฆ่าพยาธิได้

 

 ดอก รสเผ็ดร้อน แก้ขัดปัสสาวะ และช่วยย่อยอาหาร

 

 ผล มีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนม แก้คอแห้ง แก้อาการระคายคอ เจ็บคอ แก้ไข้

 

 แก่น มีสรรพคุณแก้คัน

 

สารอาหารสำคัญในขิง

 

ขิงอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปรตีน วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 วิตามินซี และมีเส้นใยจำนวนมาก

 

นอกจากนี้แล้วยิงยังมีน้ำมันหอมระเหยที่มีประโยชน์ น้ำมันหอมระเหยในขิงประกอบด้วยสาระสำคัญต่างๆ ได้แก่ ซิงจิเบอรีน (Zingiberene) ซิงจิเบอรอล (Zingiberol) ไบซาโบลีน (Bisabolene) และแคมฟีน (Camphene) ซึ่งจะมีอยู่ในขิงประมาณมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกและช่วงการเก็บรักษา นอกจากนี้แล้วยังมีน้ำมันโอลีโอเรซิน (Oleoresin) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ด

 

ขิงกับประโยชน์ต่อสุขภาพ

 

แพทย์แผนโบราณทั่วโลกรู้จักใช้ขิงให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายหลายด้าน และมีการใช้ประโยชน์จากขิงมาอย่างยาวนาน โดยการจัดให้ขิงเป็นพืชรสเผ็ดอุ่น ช่วยขับเหงื่อ มีฤทธิ์แก้หวัดเย็น แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน บำรุงกระเพาะอาหาร และลดคอเลสเตอรอลที่สะสมในเส้นเลือดและตับ

 

จากความรู้เหล่านี้เองที่ทำให้การรักษาโรคด้วยขิง กลายมาเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ แบบรุ่นสู่รุ่น และมีการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ลองมาดูกันว่า รับประทานขิงเป็นยาดีต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

 

ขั้นตอนวิธีการปลูกขิง

 

ขิงมีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพและความงามครอบจักรวาล หากบ้านไหนมีสวนครัวอยู่หลังบ้าน หรือกำลังสนใจปลูกผักสวนครัว ต้องไม่ลืมที่จะปลูกขิงติดบ้านเอาไว้

 

ด้วยประโยชน์ของขิงที่มีมากมายมหาศาล การมีขิงสดๆ ติดบ้านเอาไว้ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือจะขยันปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ก็น่าสนใจไม่น้อย

 

เราขอแนะนำวิธีการปลูกขิงโดยสังเขป ข้อมูลจากคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

 

พันธุ์ที่ใช้ปลูก

 

 ขิงไทย

 

ขิงที่นิยมปลูกในบ้านเรามีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น ขิงขาว ขิงมาเลย์ ขิงไทย ขิงเผ็ด ขิงเล็ก หรือขิงดำ ขิงชนิดนี้มีลักษณะที่เห็นชัดคือมีข้อถี่ แง่งขิงมีขนาดเล็กและสั้น แง่งเบียดกันชิดมาก มีเสี้ยนมาก รสชาติค่อนข้างเผ็ด

 

 ขิงใหญ่ ขิงหยวก หรือขิงขาว

 

ขิงชนิดนี้มีข้อห่าง แง่งขิงมีขนาดใหญ่ ไม่เบียดกันชิด เนื้อละเอียด มีเสี้ยนน้อยมาก หรือไม่มีเสี้ยน รสเผ็ดน้อย ขิงสดที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วๆ ไป ส่วนมากมักเป็นขิงชนิดนี้

 

 ขิงเล็กหรือขิงเผ็ด

 

จะมีแง่งเล็ก สั้น ข้อถี่ เนื้อมีเสี้ยนมาก รสค่อนข้างเผ็ด ลักษณะของตาที่ปรากฏบนแง่งค่อนข้างแหลม แตกแขนงดี นิยมปลูกเป็นขิงแก่ เพราะได้นำหนักดี ใช้ทำเป็นพืชสมุนไพรประกอบทำยารักษาโรคและสกัดทำน้ำมัน

 

การเก็บรักษาท่อนพันธุ์

 

แง่งขิงที่ขุดขึ้นมาแล้วควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ก่อนเก็บให้นำท่อนพันธุ์มาจุ่มลงในน้ำยาเคมี เพื่อป้องกันเชื้อราและแมลงศัตรูขิง สารเคมีที่ใช้อาจใช้ยาพวก ไดโฟลาแทน 80 หรือแมนเซท-ดี ผสมน้ำในอัตรา 2-4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือใช้เบนเลทผสมน้ำในอัตรา 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บก็ได้ โดยมีวิธีการดังนี้

 

 เลือกพันธุ์ขิงที่มีอายุ 10-12 เดือน ข้อถี่ แง่งใหญ่ กลมป้อม ตาเต่ง เนื้อขิงไม่นิ่ม ผิวเป็นมัน

 

 ตัดท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์เท่านั้น (ปราศจากร่องรอยการทำลายของโรคและแมลง)

 

 เมื่อจะตัดท่อนพันธุ์ขิงในแง่งหนึ่งๆ ต้องทำความสะอาดมีดที่ใช้ตัดทุกครั้ง โดยแช่ไว้ในแอลกอฮอล์หรือคลอร็อกซ์ เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อโรค เพราะถ้านำมีดที่ตัดแง่งขิงที่เป็นโรคไปใช้ตัดท่อนพันธุ์ดี จะทำให้พันธุ์ขิงดีติดเชื้อโรคได้

 

 ตัดขิงพันธุ์เป็นท่อนๆ ให้แต่ละท่อนมี 2-3 ตาเท่านั้น จะใช้พันธุ์ขิงประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่

 

 ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดเพลี้ยหอย เช่น มาลาไทออน ผสมสารป้องกันกำจัดโรครา เช่น เดลซีนเอ็มเอกซ์ หรือไดเทนเอ็น 45 โดยใช้อัตรา 2 เท่าที่ใช้พ่นทางใบ แช่ท่อนพันธุ์ประมาณ 15-30 นาที แล้วนำไปผึ่งให้แห้งก่อนนำไปปลูก

 

การเตรียมพันธุ์ปลูก

 

ทำการตัดท่อนพันธุ์เป็นท่อนๆ ยาวประมาณท่อนละ 2 นิ้ว โดยแต่ละท่อนให้มีตาบนแง่งประมาณ 2-3 ตา นำท่อนพันธุ์ดังกล่าว ไปแช่น้ำยากำจัดเชื้อราอีกครั้ง อาจใช้ยาพวกไดโฟลาแทนหรือแมนเซท-ดี ในอัตรา 2 ต่อ 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปีบ หรือใช้เบนเลทในอัตรา 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปีบ แช่ไว้ประมาณ 10-15 นาที หรืออาจใช้วิธีคลุกด้วยยาซีรีแซนผงผสมน้ำคลุกได้เช่นกัน

 

จากนั้นนำท่อนพันธุ์ที่แช่หรือคลุกยาดังกล่าว มาผึ่งแดดให้แห้งอีกครั้งหนึ่ง จึงค่อยนำไปปลูก สำหรับพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะใช้ท่อนพันธุ์ขิงประมาณ 200 – 400 กิโลกรัม

 

ฤดูการปลูกขิง

 

การปลูกในฤดูฝน ขิงที่ปลูกขายกันไม่ว่าจะเป็นขิงอ่อน หรือขิงแก่ ส่วนใหญ่จะเป็นขิงที่ปลูกในฤดูฝนเกือบทั้งหมด การปลูกขิงในฤดูฝนนี้นิยมปลูกต้นฤดูฝน ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี

 

การปลูกนอกฤดูฝน โดยจะทำการปลูกในฤดูหนาว ประมาณ เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

 

การเตรียมดินปลูก

 

ไถพรวนดิน 3-4 ครั้ง จากนั้นก็ทำการยกแปลงหรือยกร่องปลูก ถ้าปลูกแบบแปลงก็ทำการยกแปลงปลูกให้มีขนาดกว้าง 1 เมตร สูง 15-20 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ถ้าปลูกแบบร่องก็ทำให้เป็นร่องปลูก โดยให้ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 50-70 เซนติเมตร ส่วนความสูงและความยาวก็เช่นกัน

 

ก่อนการปลูกควรหาปุ๋ยอินทรีย์ อาจเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักก็ได้ และใส่ปูนขาวในอัตราส่วนปุ๋ยอินทรีย์ต่อปูนขาวเท่ากับ 1 ต่อ 15 รดน้ำทิ้งไว้ 15 – 30 วัน จึงค่อยลงมือปลูกต่อไป

 

การปลูกขิงอ่อน

 

เตรียมแปลงแล้วนำเอาแง่งขิงที่เตรียมไว้ลงในแปลงปลูก โดยใช้มือคุ้ยทรายหรือเสียมเล็กๆ ก็ได้ ลึกประมาณ 8 เซนติเมตร แล้ววางท่อนพันธุ์ในแนวตั้ง หลังจากปลูกประมาณ 1 เดือน ขิงจะแทงหน่อขึ้นมาให้เห็น มีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร เมื่อขิงอายุได้ 2 เดือน ขิงรุ่นแรกจะโผล่พ้นพื้นทรายขึ้นมา สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ถ้าหากสูงขึ้นมาประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก็ทำการเก็บหน่อขายได้ ระยะเวลาที่เก็บแต่ละครั้ง จะห่างกันประมาณ 12-15 วัน จากสถิติผลผลิตที่ได้นั้น แม่ขิงที่เพาะ 100 กิโลกรัม จะเก็บขิงอ่อนรุ่นแรกได้ประมาณ 13 กิโลกรัม ส่วนรุ่นหลังๆ จะเก็บได้รุ่นละประมาณ 6-12 กิโลกรัม

 

การปลูกโดยอาศัยน้ำฝน

 

เป็นการปลูกในร่องหรือระหว่างร่อง โดยมีสันร่องสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปลูกโดยนำท่อนพันธุ์วางลงในหลุมปลูกหลุมละ 1 ท่อน หลุมปลูกควรมีความลึกประมาณ 4-5 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20-25 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 50-70 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ท่อนพันธุ์ปลูกประมาณ 190-230 กิโลกรัม

 

การปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน

 

โดยจะทำการปลูกบนสันร่อง ร่องปลูกสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร และมีความกว้างประมาณ 1 เมตร ระหว่างแปลงปลูก ควรมีทางระบายน้ำกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร วิธีนี้จะใช้ระยะปลูกที่ห่างกว่าวิธีแรก เพื่อสะดวกในการใช้น้ำ ซึ่งไม่เหมือนกับการปลูกในวิธีแรกที่ต้องปลูกชิด เพื่อรักษาความชื้นเอาไว้ มีหลุมปลูกลึกประมาณ 4-5 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 30-35 เซนติเมตร ระหว่างแถวประมาณ 50-70 เซนติเมตร

 

การปฏิบัติดูแลรักษา

 

 การให้น้ำ

 

โดยติดตั้งระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ซึ่งอาจจะต้องลงทุนสักหน่อย แต่เมื่อเทียบกับผลที่ได้แล้วก็นับว่าคุ้มกันอยู่ หากพบว่าหน้าดินและต้นขิงเริ่มแสดงอาการเหี่ยว ควรทำการให้น้ำทันที ส่วนการปลูกโดยอาศัยการชลประทานนั้น เมื่อตรวจแปลงปลูกพบว่าดินเริ่มแห้ง ก็ทำการทดน้ำเข้าแปลงปลูก หากพบว่าในแปลงปลูกมีน้ำท่วมขัง ให้รีบระบายน้ำออกทันที

 

 การคลุมดิน

 

จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชไปด้วย ช่วยรักษาความชื้นในแปลงปลูก สำหรับวัสดุคลุมดินที่ใช้นั้น ก็หาที่มีอยู่ตามหมู่บ้าน เช่น ทางมะพร้าว ใบหญ้าคา ฟางข้าว เป็นต้น

 

 การใส่ปุ๋ย

 

สำหรับปุ๋ยที่ใช้คือปุ๋ยสูตร 15-15-15 ซึ่งจะใช้เป็นปุ๋ยรองพื้นในอัตรา 50-60 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อจากนั้นเมื่อขิงอายุได้ 2 เดือน และ 4 เดือน จะใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตรา 50-60 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ควรใส่ระหว่างหลุมปลูกประมาณหลุมละ 1 ช้อนชา

 

 การกำจัดวัชพืช

 

จะเริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก โดยในการไถจะต้องทำการไถพรวนเก็บเอาเศษวัชพืชออกให้หมด หลังจากปลูกขิงเรียบร้อยแล้วนั้น สามารถที่จะทำได้วิธีเดียว คือ ใช้มือถอน เนื่องจากเป็นวิธีที่กระทบกระเทือนต่อขิงน้อยที่สุด

 

 การกลบโคนหรือถมโคน

 

นอกจากจะเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัวแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ขิงแตกหน่อแตกกอดี และแง่งจะเจริญสมบูรณ์ ครั้งแรกทำการกลบโคนเมื่อขิงมีอายุ 2 เดือน หรือเมื่อต้นขิงงอกขึ้นมาได้ประมาณ 3 ต้น โดยใช้จอบโกยดินบนสันร่องกลบโคนต้นขิง เพียงครึ่งหนึ่งของร่อง ครั้งที่สองกระทำหลังจากครั้งแรกประมาณ 1 เดือน คือ เมื่อขิงมีอายุ 3 เดือน

 

การเก็บเกี่ยวขิง

 

 การเก็บเกี่ยวขิงอ่อน จะเริ่มเก็บเมื่ออายุประมาณ 4-6 เดือน ผลผลิตของแง่งสดได้ประมาณ 3,000-4,000 กิโลกรัมต่อไร่

 

 การเก็บเกี่ยวขิงแก่ จะเริ่มเก็บเมื่อขิงมีอายุได้ประมาณ 8-12 เดือน โดยจะสังเกตได้จากใบและลำต้นเริ่มมีอาการเหี่ยวเฉา

 

ความรู้เกี่ยวกับขิงอื่นๆ

 

 ขิงกับนานาประเทศ

 

 ขิงแก้ปัญหาระบบย่อยอาหาร

 

 ขิงกับสมดุลธาตุในร่างกาย

 

 ขิงช่วยเสริมสุขภาพชะลอวัยความชรา

 

 ขิงต้านไมเกรน

 

ขิงยาดีต่อระบบประสาท

 

ขิงมีฤทธิ์ช่วยกล่อมประสาทตามธรรมชาติ จึงทำให้ผู้ที่รับประทานขิงนอนหลับได้สนิทและยาวนานขึ้น มีผู้รู้จำนวนไม่น้อย ที่ใช้ขิงเป็นยารักษาอาการนอนไม่หลับ ทั้งในรูปแบบของอาหารที่มีส่วนผสมของขิง น้ำขิง และขิงแคปซูล

 

ขิงฟื้นฟูร่างกายหลังคลอดบุตร

 

เพราะร่างกายของคุณแม่หลังคลอดนั้น เสียทั้งพลังหยาง เลือด และมีน้ำในร่างกายตกค้าง

 

การรับประทานขิงจะช่วยขับระบายของเสียหรือน้ำตกค้าง น้ำคาวปลา ทำให้ระบบน้ำในร่างกายเป็นปกติเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้คุณแม่มือใหม่ ควรกินเมนขิงเป็นประจำทุกวัน

 

ขิงต้านเชื้อแบคทีเรียและพยาธิ

 

ขิงสามารถต้านเชื้อโรคและสามารถยับยั้งเชื้อโรคได้ จากน้ำขิงที่แช่ไว้ตามเวลาที่กำหนด และนอกจากนี้แล้ว การดื่มน้ำขิงเป็นประจำ ยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของพยาธิชนิดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น พยาธิตัวกลมในลำไส้

 

ขิงเยียวยาภูมิแพ้

 

ขิงช่วยทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นภูมิแพ้ ที่มีอาการเป็นหวัดหรือคัดจมูก เพราะขิงมีฤทธิ์ร้อน จึงทำให้อาการไข้หวัดดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง สามารถใช้ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

 

แนะนำให้ดื่มน้ำขิงชงอุ่นๆ โดยอาจบีบน้ำมะนาวหรือเติมน้ำผึ้งลงไป เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

 

ขิงไล่หวัด

 

น้ำขิงต้มทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจจับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการอันเนื่องมาจากหวัดอย่างได้ผล เพราะทั้งช่วยอาการไอโดยเฉพาะการไอมีเสมหะ บรรเทาอาการตัวร้อน ลดอาการปวดเนื้อปวดตัว และอาการเซื่องซึม นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการเบื่ออาหารระหว่างมีไข้ ช่วยให้เจริญอาหารและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 

ขิงต้านอัลไซเมอร์

 

ขิงมีส่วนช่วยให้ร่างกายมีประสิทธิภาพในการป้องกันระบบประสาท (Neuroprotective Function) ดีขึ้น ซึ่งคุณสมบัตินี้สอดคล้องกับที่ทีมนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการทดลองมากว่า 3 ปี และได้ผลลัพธ์ออกมาว่า ขิงสามารถช่วยเยียวยาโรคอัลไซเมอร์ของกลุ่มคนสูงวัยได้ เพราะขิงช่วยเพิ่มความทรงจำต่อสิ่งเร้า และช่วยเรื่องการเรียนรู้และความทรงจำโดยทั่วไปให้ดีขึ้นได้

 

การเติมขิงลงไปในสลัดหรือผัดผักในปริมาณรวมประมาณ 1 ขีดทุกๆ วัน จะเป็นการช่วยบำรุงสมองชั้นเอกทีเดียว

 

 ขิงดูแลหัวใจและหลอดเลือด

 

 ขิงเยียวยาอาการหลังคีโม

 

ขิงรักษากรดไหลย้อน

 

อาการกรดไหลย้อน (Gastro-Esophageal Reflux Disease: GERD) คือ ภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร เป็นอีกโรคหนึ่งที่คนในสมัยนี้เป็นกันมาก

 

สาเหตุใหญ่ก็เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปนั้นเอง การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร หรือมักมีสาเหตุมาจากหลอดอาหารที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดอาการหลอดอาหารอักเสบ

 

สาระสำคัญในขิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันหอมระเหยของขิง สามารถเยียวยากรดไหลย้อนได้ เพียงนำขิงแก่สด 2-3 แง่ง มาทุบให้ละเอียด นำไปต้มในน้ำเดือด รอให้อุ่น กรองน้ำดื่มหรือจิบบ่อยๆ ระหว่างวัน

 

 ขิงต้านมะเร็ง

 

 ขิงลดอาการข้ออักเสบ ข้อเสื่อม

 

เคล็ดลับต้มน้ำขิงบรรเทาอาการปวดข้อ

 

การต้มน้ำขิงด้วยความร้อน จะทำให้ได้สาระสำคัญบางอย่างในขิง ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น อาการปวดตามข้อ หายไปได้ ดังนั้น ควรใช้เวลาต้มสั้นๆ ไม่เกิน 3-5 นาที เพราะหากใช้เวลาต้มนาน นอกจากจะทำให้สาระสำคัญสลายไปแล้ว จะทำให้กลิ่นหอมของขิงหมดไป ทำให้ไม่มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน

 

ขิงแก้คลื่นไส้ อาเจียน เมารถ เมาเรือ

 

ขิงจะมีฤทธิ์และคุณสมบัติคล้ายๆ กับยาแผนปัจจุบันที่ใช้สำหรับแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน และบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ ตลอดจนอาการเมาเครื่องบินได้อย่างไม่แพ้ยาแผนปัจจุบันเลยทีเดียว

 

สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ในการศึกษาที่ให้ผู้ป่วยหญิงรับประทานแคปซูลขิงขนาด 1 กรัม หรือขิงผงขนาด 1 กรัม ก่อนการผ่าตัดทางนรีเวช เปรียบเทียบกับยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) และยาหลอก พบว่าขิงและยาเมโทโคลพราไมด์ สามารถต้านอาเจียนได้ดีกว่ายาหลอก มีผู้ศึกษาฤทธิ์แก้อาเจียนของขิงเทียบกับโดรเพริดอล (Droperidol) ในผู้หญิงที่ผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้อง พบว่า การใช้ขิง 2 กรัม หรือโดรเพริดอล 1.25 มิลลิกรัม หรือทั้งสองอย่างมีผลลดการอาเจียนเหมือนกัน

 

ขิงแก่ ขิงอ่อน แบบไหนดีกว่ากัน

 

 ขิงอ่อน มีสรรพคุณในการเจริญธาตุ แก้ไข้ บรรเทาปวด แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย

 

 ขิงแก่ จะมีปริมาณของสารโอลีโอเรซิน (Oleoresin) ในปริมาณที่สูง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเพิ่มรสเผ็ดร้อนในขิง ทั้งยังมีกลิ่นหอมมากกว่าขิงอ่อน ขิงแก่นอกจากจะมีสรรพคุณแก้พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ช่วยขับลมในกระเพาะ ช่วยเจริญอาหาร ตลอดจนใช้เป็นยาแก้ปวด โดยมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ และยับยั้งอาการอักเสบของข้อต่อได้เป็นอย่างดี

 

สูตรเมนูหลากหลายประโยชน์จากขิง

 

ขึ้นชื่อว่าขิงแล้วละก็ รับรองว่าพ่อครัวแม่ครัวตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะขิงสามารถนำมาประกอบอาหารเป็นเมนูต่างๆ ได้มากมาย นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณทางยา ลองมาดูกันว่า เมนูจากขิงที่ทำง่ายๆ แต่มากด้วยประโยชน์นั้น มีเมนูอะไรบ้าง

 

 เห็ดหอมผัดขิงเรียกน้ำนมคุณแม่หลังคลอด

 

 ปลานึ่งซอสขิงต้านปวดศีรษะ บำรุงสมอง

 

 น้ำขิงสารพัดประโยชน์ สร้างสมดุลระบบย่อย บรรเทาหวัด

 

 น้ำขิงซ่าช่วยย่อย แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน

 

 วุ้นเต้าฮวยน้ำขิงบำรุงกระดูก

 

 น้ำขิงผลไม้ต้านหวัด