
© 2017 Copyright - Haijai.com
10 สารเคมีบนฉลากอาหาร พบแล้ว “อย่าเลือก”
สมัยนี้การอ่านฉลากอาหารนั้น เป็นเหมือนหน้าที่สำคัญของผู้บริโภคทุกคนไปแล้ว ฉะนั้น ถ้าวันนี้เราไม่รู้ว่าสารเคมีที่ผสมลงไปในอาหาร และที่ปรากฏอยู่บนฉลากอาหารตัวไหน “ก่อมะเร็ง” ตัวไหน “ก่อปัญหาสุขภาพสมอง” ตัวไหน “ก่อเหตุทำร้ายสุขภาพทางเพศ” ก็เรียกว่าเชยไปหน่อย
เพื่อทำให้ตัวเองทันสมัยอยู่เสมอ เหอๆ งั้นมาอ่านฉลากอาหารกัน โดยเฉพาะฉลากบนอาหารที่เราหยิบฉวยได้ง่ายๆ จากร้านสะดวกซื้อ
เนื้อสัตว์แปรรูป
ไม่ว่านจะเป็นอาหารจำพวกแฮม ไส้กรอก เบคอน หรือลูกชิ้น โดยปกติเราก็ไม่แนะนำให้กินกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเผลอหยิบฉวยขึ้นมา ก็อยากให้อ่านฉลากกันนิดหนึ่ง โดยต้องดูว่ามีสารเคมีเหล่านี้หรือไม่
• ไนเตรตหรือไนไตร์ต (Nitrates / Nitrites)
โดยปกติผู้ผลิตจะใส่สารไนเตรต หรือไนไตร์ตลงไป เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อโดนความร้อนจะกลายเป็นสารคาร์ซิโนเจนก่อมะเร็ง (ยืนยันโดย WHO) ทั้งนี้สารเคมีสองตัวนี้ จะทำให้เนื้อสัตว์มีสีแดง ฉะนั้นเราจึงสังเกตได้ง่ายตรงที่เนื้อสัตว์นั้นๆ จะมีสีแดงผิดปกติ แต่อย่างไรก็ตามการอ่าน ฉลากอาหารนั้นสำคัญที่สุดค่ะ
• โพรพิลแกลเลต (Propyl gallate)
เมื่ออ่านฉลากอาหารแล้วพบสารตัวนี้ บอกตัวเองเลยว่า นอกจะเป็นสารคาร์ซิโนเจนก่อมะเร็งแล้ว สารโพรพิลแกลเลต ยังทำให้เกิดโรคผิวหนังในผู้บริโภคบางราย มิหนำซ้ำยังทำลายตับและไตอีกด้วย
ขนมปังและขนมอบต่างๆ
ขนมปังทุกชนิด ไม่ว่าจะผลิตจากแป้งขาวหรือแป้งโฮลวีต หากเป็นขนมปังที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรมที่มีอายุบนเชลฟ์หลายๆ วัน โปรดหยิบมาพลิกถุงอ่านฉลากอาหารดู หากพบว่ามีสารเคมีสองตัวดังที่จะกล่าวต่อไป อาจต้องเปลี่ยนใจวางไว้อย่างเดิม นั่นคือ
• โพแทสเซียมโบรเมท (Potassium bromate)
เป็นสารเคมีที่ช่วยให้ขนมปังมีความยืดหยุ่น เหนียวอร่อย โดยหากเราอ่านฉลากอาหารแล้วพบสารตัวนี้ ให้รู้เลยว่าเรากำลังจะกินสารก่อมะเร็ง ตามกฎหมายของประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปสั่งห้าม ไม่ให้ใส่สารเคมีตัวนี้ในอาหาร แต่ในประเทศอื่นๆ เมื่ออ่านฉลากอาหารแล้วพบว่ายังมีการใช้อยู่
• โพรพิลพาราเบน (Propylparaben)
ที่จริงถ้าเป็นนักอ่านฉลากอาหารจะพบว่า สารเคมีกลุ่มพาราเบนนี้ มักปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณและเครื่องสำอาง ฉะนั้น เมื่ออ่านฉลากอาหารแล้วพบพาราเบนก็จะตกใจ แต่ให้รู้ไว้ค่ะว่า มีผู้ผลิตใส่ลงในอาหารจริงๆ เพราะมีคุณสมบัติต้านเชื้อราและแบคทีเรีย อย่างไรก็ดี พาราเบนอยู่ในกลุ่มสารคาร์ซิโนเจนก่อมะเร็ง
ซีเรียล
อาหารเช้าของคนทำงานในวันที่มีงานด่วน หรือเร่งรีบไปพบลูกค้า ส่วนใหญ่ คือ ซีเรียล ฉะนั้น หากเปิดครัวในคอนโดหลายแห่งจะพบว่า ทุกครัวจะตุนซีเรียลไว้ อย่างไรก็ดี การเลือกซีเรียลคุณภาพดี นอกจากดูเรื่องคุณค่าทางอาหารแล้ว เราคงต้องอ่านฉลากอาหาร ดูส่วนผสมซึ่งต้องไม่มี 2 ตัวนี้ ได้แก่
• บิวติเลเทตไฮดร็อกซิโทลูอีน (Butylated Hydroxytoluene หรือ BHT)
เป็นสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติละลายในไขมัน มีคุณสมบัติในการช่วยคงสี และรสชาติของอาหารไว้ได้ จึงจัดอยู่ในหมวดสารกันบูด ที่ผู้ผลิตใส่ลงในอาหารประเภทซีเรียล ทั้งนี้พบว่า “BHT” ก่อโรคมะเร็งในสัตว์ทดลอง ฉะนั้น เมื่ออ่านฉลากอาหารแล้ว พบสารตัวนี้อาจจะต้องเปลี่ยนใจไม่ซื้อมากิน
• บิวติเลเทตไฮดร็อกซีแอนิโซล (Butylated Hydroxyanisole หรือ BHA)
เป็นสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเหมือน BHT ทุกอย่าง แต่ที่มากกว่านั้นคือ กฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาชี้ว่า นี่คือ สารคาร์ซิโนเจนก่อมะเร็งตัวหนึ่ง
อาหารอื่นๆ
• โซเดียมอะลูมินัมฟอสเฟต (Sodium Aluminum Phosphate) และ โซเดียมอะลูมินัมซัลเฟต (Sodium Aluminum Sulfate)
เป็นสารเคมีที่ไม่มีกลิ่น หากอ่านฉลากอาหารแล้วพบสารตัวนี้ ให้รู้ว่า ผู้ผลิตใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์ เนื่องจากต้องการให้มีคุณสมบัติเป็นสารตึงตัว ปกติจะนิยมใส่ลงไปในเครื่องสำอาง สี กระดาษ และยา รวมทั้งอาหารหลายๆ ประเภท โดยสารเคมีสองตัวนี้ เป็นพิษต่อการทำงานของสมอง
• แคลเซียมโพรพิโอเนต (Calcium Propionate)
เป็นสารกันบูดที่ยับยั้งเชื้อราในอาหาร โดย Center for Science in the Public Interest กล่าวว่า ผู้ผลิตจะผสมสารเคมีตัวนี้ลงไปในแป้งทำอาหารต่างๆ ซึ่งมีผลต่อแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ และเป็นพิษต่อการทำงานของสมอง หากอ่านฉลากอาหารแล้วพบสารตัวนี้ อาจต้องหยุดคิดสักนิดหนึ่งค่ะ
• ทีโอโบรมีน (Theobromine)
สารเคมีตัวนี้ผู้ผลิตมักผสมลงในอาหารประเภทช็อกโกแลต ขนมปัง และสปอร์ตดริ๊งค์ จัดเป็นสารกันบูดประเภทหนึ่ง จากการทดลองกับสัตว์ทดลองพบว่า สารเคมีตัวนี้ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ และพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
• สีผสมอาหารเทียม
เรารู้ว่าสารเคมีตัวนี้เป็นพิษต่อร่างกายมานานนม แต่เชื่อว่าหลายคนยังลม เผลอกินอาหารสีจัด (และเชื่อตามผู้ขายว่าสีสวยๆ ในอาหารนั้น มาจากธรรมชาติ) สีผสมอาหารเทียมนี้ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะทุกระบบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการมากมาย ตั้งแต่ไฮเปอร์แอ๊คทีพในเด็กจนถึงโรคมะเร็งทุกชนิดในผู้ใหญ่
ทราบแล้วก่อนช็อปปิ้งของกินครั้งต่อไป อย่าลืมพกแว่นขยายไปซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย เพื่อสะดวกต่อการอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ และเลือกเฉพาะอาหารที่ไม่มีสารเคมี 10 อย่างข้างต้น
เอื้อมพร แสงสุวรรณ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)