© 2017 Copyright - Haijai.com
สอนทารกให้รู้ภาษา
การรู้ศัพท์มากเป็นเครื่องหมายของความฉลาดอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กทารกมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในโรงเรียนได้ดีกว่าเด็กที่รู้ศัพท์น้อย มีข้อมูลจากการศึกษาว่าทารกในครอบครัวมีอันจะกิน ได้ยินศัพท์ก่อนเข้าเรียนอนุบาลมากกว่าทารกในครอบครัวยากจน หรือเด็กที่พ่อแม่ไม่มีเวลาว่างมาเลี้ยงลูก ช่องว่างของการเรียนรู้นี้มีความสำคัญ เพราะเด็กในวัยทารกเป็นช่วงเวลาที่สมองพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
มีการสร้างโครงข่ายจุลวงจรโยงใยของระบบประสาทในการจดจำเรียนรู้เป็นอย่างมาก ถ้าพลาดการเรียนการสอนในช่วงเวลาพัฒนาการอันสำคัญตอนนี้ไปแล้ว จะทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาสมองไปมาก เคยมีการศึกษาที่เมืองโปรวิเดนซ์ โรดไอแลนด์ สหรัฐฯ เขามีวิธีนับจำนวนคำที่เด็กได้ยินจากพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยง และการบันทึกสิ่งที่พ่อแม่ชวนลูกคุย ผู้ศึกษาบอกวว่าการพูดจากับทารกเป็นสิ่งที่มีพลังในการสอนมาก ยิ่งสอนเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น
ผลการศึกษาในปี ค.ศ.1994 พบว่าเด็กในครอบครัวยากจนได้ยินคำพูดน้อยกว่าเด็กในครอบครัวมีอันจะกิน รวมแล้วได้ยินน้อยกว่าถึง 30 ล้านคำ เมื่อนับถึงอายุ 3 ขวบ สาเหตุมีมากมาย เช่น ถ้าแม่ต้องทำงาน 2 กะ พอกลับมาถึงบ้านก็เหนื่อยเกินกว่าที่จะพูดจาจ๊ะจ๋ากับทารก ไม่มีแรงที่จะอ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง เด็กกลุ่มนี้รู้ศัพท์น้อยกว่า เรียนด้อยกว่า และเรียนตามเขาไม่ทัน ที่เป็นอย่างนี้ส่วนหนึ่งเพราะขาดประสบการณ์การเรียนรู้ในเยาว์วัย
ปัจจุบันที่สหรัฐฯ มีโปรแกรม “let’s talk” ในการสอนให้เด็กพูดตั้งแต่แบเบาะ แล้วนักวิจัยก็พบว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าจำนวนคำที่เด็กได้ยิน คือ คุณภาพที่เกิดจากการที่เด็กมีโอกาสพูดจาตอบโต้กับพ่อแม่ ที่เมืองโปรวิเดนซ์เริ่มมีโปรแกรมสอนเด็กให้พูด มีโค้ชแนะนำว่า ไม่ใช่อ่านแค่นิทานก่อนนอน แต่ให้หาวิธีชวนเด็กคุยด้วย เช่น เวลาขับรถพาเด็กไปไหน ก็ควรบรรยายให้เด็กฟังว่ากำลังจะไปไหน และควรหยุดเว้นวรรคให้เด็กมีโอกาสได้โต้ตอบ จากการศึกษาติดตามวิธีการนี้พบว่า เมื่อทำไปจนจบโปรแกรมเด็กได้ยินศัพท์เพิ่มขึ้นจาก 8,000 คำต่อวัน เป็น 12,000 คำต่อวัน
จากวิธีการนี้เขาเคยทดลองทำกับครอบครัวที่มีความเสี่ยงเรื่องขาดการสอนทารกให้พูด ปรากฏว่าได้ผลดีขึ้น อย่าปล่อยเวลาอันมีค่าของเด็กให้เสียไปเปล่าๆ ภาษิตฝรั่งกล่าวว่า “A mind is terrible thing to waste.” (ความสามารถของสมองที่เสียหายไปเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง)
(Some images used under license from Shutterstock.com.)