© 2017 Copyright - Haijai.com
โบทูลินัมท็อกซิน ยาพิษยอดฮิตของผู้หญิง
ผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลกทุกวันนี้ต่างก็รู้จักโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum toxin) กันทั้งนั้น ถ้าไม่เคยใช้ ไม่เคยอ่านเจอ ก็คงจะเคยได้ยินเขาพูดคุยกันบ้าง เช่น ในร้างเสริมสวย ร้านกาแฟ หรือลานแอโรบิค นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่โบทูลินัมท็อกซินเป็นยาพิษที่ร้ายแรงที่สุด แต่ผู้หญิงกลับชอบ คือ ชอบไปให้เขาฉีดยานี้ให้หน้าสวย เนื่องจากความสวยไม่เข้าใครออกใคร คือ มันเข้าแล้วไม่ออก จึงต้องฉีดกันให้สวยสุดซอยไปเลย
โบทูลินัมท็อกซิน หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่าโบท็อกซ์ ถูกผลิตในธรรมชาติโดยเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Clostridium botulinum สารตัวนี้มีฤทธิ์ต้านการส่งผ่านสัญญาณประสาทตรงรอยต่อของปลายประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ทำให้สัญญาณผ่านไม่ได้ กล้ามเนื้อจึงไม่ทำงาน คือ เป็นอัมพาต กล้ามเนื้อเป็นพัมพาตแล้วดีตรงไหน?
คำตอบคือ ดีสิครับ ถ้าคุณคิดให้ลึกเหมือนจักษุแพทย์คนหนึ่งที่ชื่อว่า แอแลน บี.สก๊อต (Alan B.Scott) ซึ่งเป็นคนแรกที่เอายาพิษตัวนี้มาใช้ฉีดรักษาโรคตาเหล่ หรือตาเข (ภาษาแพทย์เรียกว่า strabismus ชาวบ้านเรียกว่า crossedeye) ขณะที่หมอสก๊อตรักษาคนไข้ตาเขอยู่ เขาก็สังเกตเห็นว่าภาวะหนังตาตก รวมทั้งริ้วรอยตีนกาและหน้าผากย่นมันหายไปด้วย การค้นพบนี้เป็นการค้นพบที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ทำให้คนอื่นร่ำรวยมหาศาล แต่คนค้นพบไม่ได้ร่ำรวย เพราะเป็นหมอตาที่ไม่มีตาการค้า
ปกติรอบตาเรามีกล้ามเนื้อที่เรียกว่า Orbicularis Oculi คือ กล้ามเนื้อที่เมื่อทำงานแล้ว จะทำหน้าที่ปิดตาเหมือนกล้ามเนื้อหูรูดของตา ทำให้ผิวหนังรอบตายู่เข้าหากัน เมื่อเราทำให้กล้ามเนื้อนี้เป็นอัมพาตโดยการฉีดโบทูลินัมท็อกซินจำนวนน้อยๆ เข้าไปที่กล้ามเนื้อ มันก็จะทำงานได้น้อย มีผลให้ผิวหนังรอบตาไม่ยู่ ไม่เหี่ยวย่น ไม่เห็นตีนกา ผลอย่างเดียวกันก็เกิดขึ้นกับรอบย่นที่หน้าผาก ถ้าเราฉีดยาตัวนี้เข้ากล้ามเนื้อหน้าผาก สรุปแล้วหน้าก็จะดูเต่งตึงขึ้น สวยขึ้น โดยไม่ต้องไปทำศัลยกรรมดึงหน้า ยาพิษตัวนี้มีผลอยู่ได้ยาวนาน 3-6 เดือน
ยาโบทูลินัมท็อกซินได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1989 โดยอนุมัติให้ใช้รักษาโรคตาเข แต่หมอมากมายเอาไปใช้นอกอนุมัติ ที่เขาเรียกว่า off-label use ใช้กันมากเข้าจนต่อมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา จึงอนุมัติให้ใช้รักษาตีนกาหน้าผากย่นด้วยในปี ค.ศ.2002 หลังจากนั้นตลาดการใช้ยาตัวนี้ก็ขยายราวระเบิดปรมาณู เพิ่มยอดขาย 759% ปี ค.ศ.2001 มียอดขาย 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พอถึงปี ค.ศ.2013 ยอดขายไปอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เชื่อหรือไม่ โบทูลินัมท็อกซินส่งผลต่อวัฒนธรรม
โบทูลินัมท็อกซินไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการเสริมสวยลดหน้าเหี่ยวย่นเท่านั้น แต่ยังมีผลในการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมอีกด้วย ทำให้เกิดงานปาร์ตี้โบท็อกซ์ ทั้งยังกลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็พูดถึงกัน กลายเป็น talk of the town แม้แต่ในหนังอย่างเซ็กส์แอนด์เดอะซิตี้ก็มีบทสนทนา โดยใช้คำว่าโบท็อกซ์ในบทสนทนาด้วย
อย่างไรก็ตามโบทูลินัมท็อกซินเป็นยาพิษ ใช้ผิดขนาด ผิดที่ ก็จะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจจะร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ ในการทำอาหารกระป๋องที่ไม่ถูกสุขลักษณะมีเชื้อโรคแปดเปื้อนจะทำให้เกิดปัยหา เพราะในกระป๋องเป็นสูญญากาศ เป็นภาวะแวดล้อมที่ขาดออกซิเจน ซึ่งเชื้อ Clostridium botulinum ชอบและเจริญได้ดี เมื่อมันแบ่งตัวเจริญงอกงามก็จะสร้างสารพิษโบทูลินัมท็อกซิน พร้อมกับผลิตก๊าซออกมา ทำให้กระป๋องบวมเพราะความดันของก๊าซ อาหารกระป๋องที่เข้าลักษระนี้ต้องระวัง ห้ามกิน ถ้ากินเข้าไปจะเกิดพิษต่อระบประสาท เกิดอาการ เช่น มองเห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก หรือหายใจไม่ออก ถึงตายได้ เคยมีคนตายมาแล้ว การฉีดสารโบทูลินัมท็อกซินก็เหมือนกัน ถ้าฉีดเกินขนาดอาจทำให้เกิดพิษกระจายไปนอกเหนือจากบริเวณที่เราตั้งใจจะให้เกิดผล เช่น จะฉีดรักษาหน้าย่นก็อาจจะเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้ออื่นจนมีเรื่องถึงกับมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันมาแล้วในต่างประเทศ
การใช้ยานอกอนุมัติ หรือ off-label เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องระวังเพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่รับรอง เพียงแต่เขารับรองอนุมัติให้ใช้ในข้อบ่งชี้จำเพาะอย่างที่มีข้อมูลประจักษ์สนับสนุน การใช้นอกอนุมัติจึงเชื่อได้อย่างเดียวคือ มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัย การใช้ยา off-label เกิดจากหมอที่คิดหาทางรักษาคนไข้ที่วิธีรักษาอย่างอื่นไม่ได้ผลแล้วต้องการลองโบทูลินัมท็อกซิน ซึ่งการใช้โบทูลินัมท็อกซินแบบ off-label มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันมันเป็นตัวทำตลาดประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดโบทูลินัมท็อกซินทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะตลาดเสริมความงามอย่างเดียวอีกต่อไป
โรคที่ลองใช้โบทูลินัมท็อกซินแล้วต่อมาได้รับการอนุมัติ ได้แก่ ตาเข (cervical dystonia), เหงื่อออกใต้รักแร้มาก (severe underarm sweating), แขนเกร็ง (upper-limb spasticity), โรคปวดหัวข้างเดียว (chronic migraine), ปัสสาวะบ่อย (overactive bladder), ขาเกร็ง (lower-limb spasticity), หน้าเหี่ยวย่น (facial wrinkles)
โรคอื่นที่มีการลองใช้โบทูลินัมท็อกซินยังมีอีกมาก เช่น โรคแผลในช่องทวารหนัก (anal fissure), โรคหลอดอาหารเกร็งไม่เปิดออก (achalasia), มือเย็น, ขากรรไกรค้าง, ปวดหลัง, ปวดจากร่วมเพศ หลั่งเร็ว (ล่มปากอ่าว), โรคพาร์กินสัน, กัดฟันเวลานอน, น้ำลายไหล, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation ขณะทำการผ่าตัดหัวใจ และล่าสุดคือการใช้โบทูลินัมท็อกซินฉีดหน้าผาก เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า ต่อไปถ้า 2 ข้อบ่งชี้หลังนี้ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา จะทำให้ยอดขายพุ่งทะลุเพดานตลาดหุ้นขึ้นไปเป็นแน่
โบทูลินัมท็อกซินซึ่งเป็นยาพิษชนิดร้ายแรงที่สุด แต่มีคนนิยมใช้มากที่สุดอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาประมาณ 25 ปี ที่มีการใช้ในการรักษาคนไข้ มีบทความวิจัยเขียนถึงยาพิษชนิดนี้ ทั้งในวารสารวิทยาศาสตร์และวารสารการแพทย์มากถึง 3,200 บทความ มากมายมหาศาล เป็นปรากฏการณ์ที่หายากอย่างหนึ่ง
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)