Haijai.com


วิธีการครอบแก้วบำบัดอาการปวด


 
เปิดอ่าน 3209

ครอบแก้วบำบัด

 

 

วิธีการครอบแก้วบำบัดอาการปวดเป็นวิธีที่นิยมมากมาแต่โบราณกาล และถือเป็นหนึ่งในวิธีแพทย์ทางเลือก โดยวิธีการไม่ยุ่งยาก เพียงใช้หลักการของสุญญากาศและการรับความรู้สึกของผิวหนังเป็นปัจจัย ที่ทำให้อาการปวดหรืออักเสบบรรเทาลง นอกจากนี้การครอบแก้วยังจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ผ่อนคลาย และยังทำให้รู้สึกเหมือนผิวหนังได้รับการนวดอีกด้วย

 

 

การครอบแก้วไม่ได้จำกัดเฉพาะการใช้แก้วเพียงอย่างเดียว อุปกรณ์ที่ใช้อาจมีเพียงหลากหลาย ได้แก่ ไม้ไผ่กระเบื้อง หรือแม้กระทั่งพลาสติกหรือซิลิโคน ประวัติของการครอบแก้วบำบัดนี้ไม่ได้เพิ่งจะมานิยมในปัจจุบัน แต่ในสมัยกรีกโบราณได้มีการบันทึกเกี่ยวกับการครอบแก้วบำบัดในตำราแพทย์กรีก ชื่อว่า Ebers Papyrus เมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล รวมทั้งยังพบประวัติของการครอบแก้วในบันทึกแพทย์แผนจีนอีกด้วย

 

 

ชนิดของการครอบแก้วมีทั้งแบบแห้งและแบบเปียก โดยทั้งสองวิธีผู้ทำการครอบแก้วจะใช้สารที่สามารถติดไฟได้ เช่น แอลกอฮอล์ สมุนไพร หรือกระดาษใส่ลงไปในแก้ว เพื่อให้ติดไฟได้ และเมื่อไฟดับลง ผู้ครอบแก้วก็จะคว่ำแก้วลงบนผิวหนังในตำแหน่งที่ต้องการครอบแก้ว ขณะนั้นเองก็จะเกิดแรงดูดสุญญากาศดูดผิวหนังขึ้นมา ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และผิวหนังแดงเป็นวงกลม

 

 

โดยปกติผู้ครอบแก้วจะทำการครอบแก้วไว้ประมาณ 3 นาที ต่อมาได้มีการดัดแปลงให้การครอบแก้วทำได้ง่ายขึ้น และสามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยใช้กระบอกสูบอากาศพลาสติก ทำให้เกิดแรงดันสุญญากาศ ในช่วงแรกผู้ครอบแก้วอาจใช้แก้วจำนวน 3-5 ใบ และเพิ่มจำนวนแก้วตามลำดับในครั้งต่อๆ ไป แพทย์แผนจีนบางท่านอาจใช้การฝังเข็มร่วมกับการครอบแก้ว โดยฝังเข็มบริเวณที่ปวดก่อน ต่อมาจึงครอบแก้วเหนือบริเวณที่ฝังเข็ม

 

 

การครอบแก้วนอกจากจะใช้บำบัดรักษาในตำแหน่งที่ปวดแล้ว ยังรักษาอาการปวดที่เกี่ยวพันกับเส้นลมปราณ ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของเส้นประสาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของกล้ามเนื้อมีอาการปวด ตำราแพทย์แผนจีนเชื่อว่าเลือดมักจะอัดแน่นในตำแหน่งนั้นๆ และจะเข้าไปกดทับเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าว ดังนั้น การครอบแก้วจึงช่วยบรรเทาอาการได้เป็นอย่างดี และเส้นประสาทในแต่ละจุดยังมีความเกี่ยวโยงกับอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย

 

 

งานวิจัยเกี่ยวกับการครอบแก้ว

 

แม้ว่าการครอบแก้วบำบัดจะถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่ออกมารองรับผลของการครอบแก้วยังไม่มีมากนัก หนึ่งในงานวิจัยเกี่ยวกับการครอบแก้วที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารแพทย์แผนโบราณ (Journal of Traditional and Complementary Medicine)

 

 

เมื่อปี 2015 กล่าวว่าการครอบแก้วบำบัดอาจจะมีประโยชน์ในการลดปวด ลดสิว และบรรเทาโรคงูสวัด นอกจากนี้หลายงานวิจัยยังรองรับว่าการครอบแก้ว อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทในกรณีที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณใบหน้า ส่วนสมาคมครอบแก้วแห่งประเทศอังกฤษ (The Cupping Society of England) กล่าวว่า การครอบแก้วยังช่วยบำบัดอาการในโรคต่างๆ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย โรคโลหิตจาง โรคข้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคผิวหนัง โรคความดันโลหิตสูง โรคไมเกรน โรคซึมเศร้า โรคหอบหืด และโรคเส้นเลือดขอด เป็นต้น

 

 

ข้อควรระวัง

 

หลังเข้ารับการครอบแก้วบำบัดอาจเกิดรอยเป็นจ้ำๆ ที่ผิวหนังบริเวณที่มีการครอบแก้วคล้ายรอยกระแทก โดยเฉลี่ยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วัน แล้วรอยเหล่านี้จะค่อยๆ จางลงโดยไม่จำเป็นต้องทายา บางรายอาจมีอาการปวดระบมหรือมีไข้ต่ำๆ หากมีอาการควรใช้ผ้าอุ่นๆ ประคบหรือรับประทานยาพาราเซตามอล นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการอาบน้ำทันทีหลังการทำครอบแก้ว และในแต่ละครั้งของการทำครอบแก้วบำบัดไม่ควรครอบแก้วทิ้งไว้นานเกิน 10 นาที เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ ผู้ที่ห้ามเข้ารับการครอบแก้วบำบัด คือ หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคผิวหนัง

 

 

โดยปกติการครอบแก้วมาตรฐานจะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ที่ผ่านการอบรมในสถานพยาบาลหรือคลินิก ในปัจจุบันแพทย์แผนจีนหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามไปยังสถานพยาบาลใกล้บ้านในแผนกฝังเข็ม และแพทย์แผนจีน หรือแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู (กายภาพบำบัด)

 

 

ผลข้างเคียงของการครอบแก้วบำบัด

 

 ผิวหนังไหม้

 

 รอยฟกช้ำ

 

 การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง

 

 

นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

(Some images used under license from Shutterstock.com.)