© 2017 Copyright - Haijai.com
เป็นไต ความดัน
โซเดียม คือ สารอาหารชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ทำหน้าที่รักษาสมดุลน้ำในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ และช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปแล้วร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น และปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้ โดยไม่เกิดผลเสียนั้นอยู่ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ในความเป็นจริงพบว่า มีคนไทยจำนวนมากที่ได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย จากข้อมูลการสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือแกงของประเทศไทย โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย พ.ศ.2552 พบว่า คนไทยได้รับเกลือเฉลี่ยจากการรับประทานอาหาร 1.08 กรัมต่อวันต่อคน คิดเป็นปริมาณเกลือโซเดียมที่ได้รับสูงถึง 4,351.59 มิลลิกรัมต่อวันต่อคน ซึ่งหมายความว่าคนไทยได้รับเกลือมากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันกว่า 2 เท่าตัวเลยทีเดียว
โซเดียม มากไปไม่ดี
จากรายงานการศึกษาหลายการศึกษาพบว่า การได้รับปริมาณโซเดียมในร่างกายมากเกินความจำเป็น จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ เช่น เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา (Left ventricular hypertrophy) และเกิดการสะสมของพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีกหลายโรคที่สัมพันธ์กับการกินเค็ม เช่น เบาหวาน ภาวะอ้วนลงพุง ภาวะดื้ออินซูลิน กระดูกพรุน และนิ่วในไต เป็นต้น
แหล่งโซเดียม
โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงอาหารที่มี “เกลือ” เป็นส่วนประกอบ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเกลือแกง (salt) ที่ใช้ในการปรุงแต่งรสอาหารให้มีรสเค็ม แต่ในทางวิทยาศาสตร์ “เกลือ” คือ สารประกอบทางเคมีที่เรียกว่า “โซเดียมคลอไรด์ (sodium chloride)” คำว่าเกลือและโซเดียมจึงมักใช้แทนซึ่งกันและกัน จนทำให้คิดว่าเกลือกับโซเดียมคือสารเดียวกัน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเกลือคือสารประกอบโซเดียมคลอไรด์ ที่มีองค์ประกอบของโซเดียมร้อยละ 40 และคลอไรด์ร้อยละ 60 โดยน้ำหนัก ดังนั้น การพูดถึงเกลือ 1 กรัม จึงหมายถึงโซเดียม 0.4 กรัม (โซเดียม 1 กรัมมาจากเกลือ 2.5 กรัม) โดยมีวิธีการคำนวณปริมาณโซเดียมในอาหารง่ายๆ ดังนี้
เกลือ 1 ช้อนชา = โซเดียมคลอไรด์ 5 กรัม = โซเดียม 2 กรัม (2,000 มิลลิกรัม)
เพราะฉะนั้นเวลาอ่านฉลากอาหารเราสามารถแปลงโซเดียมเป็นเกลือได้ด้วยการเอาปริมาณโซเดียมคูณ 2.5 กรัม ตัวอย่างเช่น โซเดียม 1 กรัม ต่อ 100 กรัม มีค่าเท่ากับเกลือ 2.5 กรัมต่อ 100 กรัม)
อาหารเกือบทุกชนิดมีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ แต่จะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดอาหารและการปรุงแต่ง โดยทั่วไปคนเราจะได้รับโซเดียมจากการบริโภคอาหารใน 3 ลักษณะ คือ
1.จากอาหารตามธรรมชาติ ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู นม ผักกาดหอม สับปะรด เป็นต้น อาหารแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียมที่แตกต่างกัน โดยอาหารประเภทนม เนื้อสัตว์ จะมีโซเดียมมากกว่าอาหารประเภทผักและผลไม้
2.จากการบริโภคอาหารสำเร็จรูปและอาหารที่ใช้เกลือในการถนอมอาหาร ได้แก่ ไข่เค็ม ปลากระป๋อง อาหารแปรรูปต่างๆ เช่น เบคอน แฮม อาหารสำเร็จรูปจำพวกบะหมี่ โจ๊ก รวมั้งขนมขบเคี้ยวต่างๆ
3.จากการเติมเครื่องปรุงรสในอาหาร ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว น้ำมันหอย และซอสปรุงรสชนิดต่างๆ ซึ่งมีโซเดียมถึงประมาณ 880-1,620 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนโต๊ะ
ข้อสังเกต คือ อาหารตามธรรมชาติ อาหารที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป จะมีโซเดียมน้อยกว่าอาหารที่ผ่านการแปรรูปแล้ว อาหารประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้ มักมีโซเดียมน้อยกว่าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นอกจากนี้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การรับประทานอาหารเค็ม คือ อาหารที่มีเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือเครื่องปรุงรสที่ให้ความเค็มเท่านั้น หากแต่ลืมคิดถึง “โซเดียม” ที่อยู่ในอาหารที่ใช้วัตถุกันเสียอย่างอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง และผงชูรส ซึ่งมีปริมาณโซเดียมในขนาดสูงมากด้วยเช่นกัน
นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล
อายุรแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)