© 2017 Copyright - Haijai.com
อ.อดทน ฝึกกันได้
เป็นที่รู้กันดีว่า เด็กวัยเตาะแตะจะมีการเรียนรู้และพัฒนาการในทุกๆ ด้านรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการ ทางด้านร่างกาย สมอง หรืออารมณ์ สังคม โดยเฉพาะการเรียนรู้ถึงอำนาจในการร้องไห้ของตัวเอง ว่ามีอิทธิพลต่อพ่อแม่มากแค่ไหน อิทธิพลที่ว่าก็คือ พอส่งเสียงร้องปุ๊บลูกก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการทันทีทันใด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ใกล้หรือ ไกล ชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม คุณพ่อคุณแม่ก็จัดให้ทุกสิ่งทุกอย่าง การกระทำนี้ยิ่งทำให้ลูกได้ใจ และนับวันยิ่งเรียกร้องเอาจากคุณเพิ่มขึ้นๆ ไม่รู้จักอดทน รอคอยไม่เป็น สิ่งไหนที่อยากได้แล้วไม่ได้เป็นต้องร้องกรี๊ด ร้องไห้สะอึกสะอื้นจนหน้าดำหน้าแดง คนไหนที่ถูกตามใจมากๆ ก็จะทุ่มตัวลงกับพื้นแล้วดิ้น 360 องศากันเลยทีเดียว
• อารมณ์ร้อน หงุดหงิด โกรธ โมโหง่าย ไม่ยั้งอารมณ์ตัวเอง แสดงออกมาเต็มที่ทั้งหมด
• เมื่อไม่ได้ดั่งใจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้าย คนอื่น ทำร้ายตัวเอง หรือทำลายข้าวของ
• อีกทั้งปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ยาก เบื่อง่าย ไม่รู้จักประนีประนอม เล่นหรือทำงาน ร่วมกับคนอื่นได้ไม่ดี
Problem
บ้านไหนที่เจ้าตัวเล็กกำลังสำแดงฤทธิ์เดชแบบนี้อยู่ล่ะก็ แสดงว่าคุณพ่อคุณแม่ตามใจลูกมากจนทำให้เขาไม่รู้จักการอดทน รอคอยไม่เป็น พอไม่ได้ดั่งใจลูกก็แก้ปัญหาด้วยความก้าวร้าว หรือใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนที่ขาดเพื่อนแท้ เพราะไม่มีใครอยากคบกับคนแบบนี้ ทำให้ลูกขาดทักษะ เพราะการฝึกฝนทักษะทั้งด้านการอ่าน การเขียนหนังสือ การคำนวณ การเล่นกีฬา ดนตรี ฯลฯ ล้วนต่างต้องผ่านการฝึกฝนซ้ำๆ จนทำได้คล่องขึ้น เมื่อลูกไม่มีความอดทน ใจร้อน ก็จะทำให้เลิกล้มความตั้งใจที่จะทำได้ง่ายๆ และท้ายที่สุดลูกก็จะเสียการเรียน เพราะการเรียนต้องอาศัยความอดทน ความรับผิดชอบ การทบทวน ความตั้งใจที่จะเรียนทั้งในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในที่สุด
Solution
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปค่ะ เพราะความอดทนนั้นมันฝึกกันได้ แต่อาจต้องใช้เวลาสักนิดและควรเริ่มฝึกเสียตั้งแต่ตอนนี้ และคนที่ต้องฝึกนั้นไม่ได้มีเพียงแค่คุณลูกฝ่ายเดียวนะคะ แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องฝึกด้วยเช่นกัน คือการฝึกตัวเองไม่ให้ตามใจลูก หรือลดการตอบสนองลูกให้พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป จากนั้นก็คอยชี้แนะและเป็นผู้ฝึกสอนลูกดังนี้
1.ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูลูก คือให้ตามใจลูกลดลง หากใครที่คิดว่าตามใจลูกพอดี แล้วก็ไม่ควรไปลดให้น้อยลงอีก เพราะจะกลายเป็นการเข้มงวดกับลูกมากจนเกินไปยิ่งทำให้ลูกรู้สึกกดดันเข้าไปอีก ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองและงานบ้านเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์ สิ่งไหนที่เล่นไม่ได้ก็อย่าให้เล่น ถึงแม้ว่าลูกจะอาละวาดขนาดไหนก็อย่าให้ความสนใจ แต่ให้เบี่ยงเบนความสนใจไปที่อย่างอื่นแทน
2.อย่าให้ความสนใจกับการอาละวาดของลูก ยกเว้นในกรณีที่ลูกทำร้ายตัวเอง ให้จับตัวลูกไว้แต่ไม่ควรรุนแรง ไม่ควรสั่งสอน ณ ขณะที่ลูกกำลังอาละวาดอยู่ แต่ให้พูดชัดเจนสั้นๆ ว่าคุณไม่ต้องการให้เขาทำแบบนี้ ท่าทีที่มั่นคง เอาจริง แต่นุ่มนวลในการจับตัวลูกไว้ เพื่อควบคุมไม่ให้ลูกอาละวาด จะทำให้ลูกรู้ว่าคุณเข้าใจความรู้สึกว่าลูกโกรธ แต่คุณจะไม่สนใจหรือตอบสนองจนกว่าเขาจะระงับอารมณ์ได้
3.เพิ่มเวลาในการเล่น การทำงาน ร่วมกัน เพื่อฝึกให้ลูกอดทน ปรับตัวตามกติกา และมีทักษะด้านต่างๆ ดีขึ้น
4.ท่าทีอันมั่นคง สม่ำเสมอในกฎเกณฑ์ที่วางไว้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการฝึกความอดทนมาก (จริงๆ แล้วสำคัญสำหรับการฝึกทุกๆ อย่างด้วย) อย่าเอาแต่ดุ ว่า ตี สลับกับการกลับไปตามใจลูก เพราะการฝึกแบบนี้จะใช้ฝึกกับลูกไม่ได้ผลเลย
นอกจากนี้ควรเพิ่มทักษะในการเล่น เช่น การว่ายน้ำ เล่นเตะบอล ถีบจักรยาน วาดรูป เล่นตุ๊กตา หรือเล่นขายของ ฯลฯ ให้มากขึ้น เพราะการเล่นของเด็กมีความหมายเทียบเท่ากับการทำงานของผู้ใหญ่ ซึ่งในชีวิตจริงคนเป็นพ่อเป็นแม่จะพบว่าเป็นไปไม่ได้ ที่ลูกจะได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ ความผิดหวัง ความเสียใจ ความโกรธแค้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่การเล่นและการทำกิจกรรมจะทำให้ลูกผ่านภาวะเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ได้มีเวลาไตร่ตรอง และระบายความรู้สึกผ่านการเล่นไปในตัวด้วย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)