© 2017 Copyright - Haijai.com
เมื่อหนูให้ด้วยใจ
เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่ประเทศไทยได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายสิบจังหวัดทั่วประเทศไทย ผู้คนต่างบริจาคสิ่งของที่จำเป็น ลงแรงลงมือซ่อมแซมสิ่งต่างๆ การช่วยเหลือ และการให้มากมายถูกหยิบยื่นไปสู่ผู้ประสบภัยกันถ้วนหน้า ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างยิ่งและ “การให้” นี้เอง ที่ผมคิดว่าเป็นหลักจริยธรรมที่ควรมีติดตัวอยู่ในมนุษย์ทุกคน
หากคุณพ่อคุณแม่เชื่อว่าการให้ คือ หลักพื้นฐานหนึ่งที่ครอบครัวของคุณให้ความสำคัญ ดังนั้นพ่อแม่อย่างเราก็ควรต้องมีวินัยของการให้นี้ด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้วเด็กก็จะดูความประพฤตินี้จากคุณเป็นหลัก หากคุณย้ำถึงความสำคัญของการให้แก่เด็กโดยคุณไม่ทำเป็นตัวอย่าง แน่นอนว่านั่นก็จะไม่ส่งผลดี เพราะเด็กก็จะไม่ถูกซึมซับการกระทำนั้นเข้าสู่ตัวเอง ก็เหมือนกับคุณมีแต่หลักทฤษฎีแต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เด็กจะทราบความหมายของการให้ได้ก็ต่อเมื่อเขาลงมือปฏิบัติเอง ผมอยากให้ทุกท่านเข้าใจก่อนว่า “การให้” ที่ผมพูดถึงในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่การที่ต้องลงทุนให้ด้วยเงินทอง แต่อาจหมายรวมถึงการแบ่งปันเวลาที่มีไปทำสิ่งมีประโยชน์เพื่อส่วนรวมหรือการใช้ความสามารถที่เรามี เพื่อความสุขของผู้อื่น เป็นต้น นั่นหมายความว่า หากคุณไปบ้านเด็กกำพร้า เพื่อนของคุณอาจซื้อของบริจาคให้เด็กๆ มากมาย แต่คุณอาจให้สิ่งอื่นแก่พวกเขาทดแทนได้ เช่น การอาสาอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังหรือถ้าหากคุณสามารถร้องเพลงได้ ผมก็เชื่อว่านั่นคือการให้ที่สมบูรณ์แบบอย่างหนึ่ง และในฐานะพ่อแม่ควรจะปลูกฝังในเรื่องของ “การให้” แก่ลูกหลานเราอย่างไร หลายๆ ท่านอาจคิดว่าการที่ลูกไปโรงเรียนแล้ว นั่นอาจเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของโรงเรียน ที่ต้องอบรมสั่งสอนเด็กในเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า แต่ผมกลับเชื่อว่าหากครอบครัวใดเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เราจะไม่เกี่ยงกันเลยว่านี่คือความรับผิดชอบของใครกันแน่ เพราะแท้จริงแล้วการให้สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่วัยเด็กเล็กๆ และสามารถเริ่มต้นได้ในบ้านหรือสิ่งรอบตัวของเรานั่นเอง ตัวอย่างเช่น
• การช่วยเหลือคนรอบข้าง
ถือเป็นการเริ่มต้นในการปลูกฝังทฤษฎีการให้แก่เด็กที่ดี เพราะคุณสามารถเริ่มเมื่อไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอโอกาสหรือวันสำคัญ เช่น ปลูกฝังให้เขาช่วยคุณล้างจาน, ช่วยคุณปู่คุณย่ารดน้ำต้นไม้ หรือทำคุกกี้แจกเพื่อนบ้านเป็นต้น
• การบริจาคเสื้อผ้า หรือของเล่นที่ไม่ใช้แล้ว
การที่คุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้เขามีส่วนร่วมในการให้เขาเป็นฝ่ายเลือกเสื้อผ้า หรือของเล่นที่เขาจะบริจาคเองจะมีประโยชน์มากกว่าการที่คุณไปเลือกของๆ เขาเองโดยเขาไม่ทราบหรือไม่อยู่ที่สำคัญคุณควรพาเขาไปยังสถานที่ที่คุณบริจาคและให้เขาเป็นคนหย่อนเองลงในกล่อง หรือยื่นให้แก่ผู้รับบริจาคด้วยมือของเขาเอง
• ปลูกฝังวันสำคัญให้เป็นวันแห่งการให้
คุณอาจตั้งใจว่าทุกวันเกิดลูกคุณจะพาไปบ้านเด็กกำพร้าหรือบ้านคนชรา หมุนเวียนกิจกรรมให้ต่างกันไปในทุกๆ ปี เพื่อให้เขาได้ทราบว่ามีบุคคลหลายประเภทที่ต้องการความช่วยเหลือนั้น หากคุณจำเป็นต้องซื้อของเพื่อนำไปบริจาค คุณสามารถให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยตัดสินใจในของบริจาคเหล่านั้นได้
• กระปุกแห่งการให้
อธิบายกับลูกว่าเงินในกระปุกที่เขาเก็บสะสมอาจแบ่งมา 10% (แล้วแต่ตกลง) เพื่อมาใช้ในการบริจาคหรือช่วยเหลือผู้อื่น (หากคุณตั้งใจพาลูกไปบริจาคในทุกๆ วันเกิดของเขาอยู่แล้ว ดังนั้นจะเป็นการดีที่จะเอาเงิน 10% จากกระปุกของเขามาร่วมบริจาค ณ วันนั้นด้วย)
นี่คือตัวอย่างคร่าวๆ ที่ผมเชื่อว่าแท้จริงแล้ว “การให้” นั้นอยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง เริ่มจากตัวของเราเองที่ต้องทำเป็นแบบอย่าง และสิ่งนี้แหละจะถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานของเราเอง ขอเพียงระลึกไว้เสมอว่าการให้ไม่จำเป็นต้องรอให้เหตุการณ์อะไรมาดลใจให้เราจำต้องให้ แต่ควรเกิดจากความรู้สึกที่อยากจะให้ด้วยตัวเราเองโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ผมเชื่อจริงๆ ครับว่าหากเด็กน้อยคนหนึ่งได้เรียนรู้ที่จะให้เด็กน้อยคนนั้นจะเป็นเด็กที่มีความสุขคนหนึ่ง เพราะเขาจะให้ด้วยใจ และเหนือสิ่งอื่นใดแน่นอนว่าการให้ยิ่งใหญ่กว่าการได้รับคำถามอยู่เพียงแค่
เราจะเริ่มเมื่อไร...???
อาจารย์ปรมิตร ศรีกุเรชา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)