
© 2017 Copyright - Haijai.com
ฮอร์โมนดี ไม่มีอ้วน
หากเอ่ยถึงฮอร์โมน เป็นเรื่องปกติที่ว่า ถ้าเรายังอยู่ในวัยเด็กหรือหนุ่มสาว ฮอร์โมนจะยังทำหน้าที่ได้ดีอยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งที่เราแก่ตัวลง ฮอร์โมนก็จะลดลงตามไปด้วย แต่รู้หรือไม่คะว่าฮอร์โมนนอกจากจะสัมพันธ์กับช่วงวัยแล้ว ฮอร์โมนยังสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวของเราได้อีกด้วย
หน้าที่ของฮอร์โมน
ฮอร์โมนในร่างกายมีความสำคัญมากต่อความปกติสุขทางร่างกาย เช่น
• สร้างพลังงานให้กับร่างกาย
• ช่วยในการทำหน้าที่ของเซลล์ เนื้อเยื่อรวมถึงอวัยวะต่างๆ
• ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
• ทำหน้าที่ในการควบคุมทำให้อารมณ์ดีขึ้น โดยสัมพันธ์กับการทำงานของสมองในส่วน ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เพราะถ้าการทำหน้าที่ของฮอร์โมนพร่องไป อาจก่อให้เกิดโรคอ้วนตามมา
ฮอร์โมนกับความอ้วน
คนที่มีฮอร์โมนดีอยู่เต็มเปี่ยม คือ คนที่อยู่ในช่วงวัยหนุ่ม-สาว เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ผู้ชายจะมีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ มีความทะมัดทะแมง คล่องแคล่วว่องไว รูปร่างดี สมองดี เรียนรู้ได้ไว ในผู้หญิงก็เช่นกัน ผิวพรรณจะดูมีน้ำมีนวล รูปร่างดี ดูปราดเปรียวสมวัย ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการมีฮอร์โมนที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) ฮอร์โมนเพศไทรอยด์ คอร์ติซอล (Thyroid Cortisol)
ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ระบบการเผาผลาญในร่างกายดี การซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็จะดีตามไปด้วย ที่สำคัญอารมณ์ก็จะดี อารมณ์ดีรับประทานเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน แต่ยกเว้นในรายที่รับประทานมากเกินไป หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรม
สิ่งที่ควรคำนึงอย่างหนึ่งคือ เมื่ออายุเริ่มเข้าวัย 25 ปี ร่างกายเริ่มโตเต็มที่ ถ้าไม่ระมัดระวังในเรื่องของการรับประทานอาหารต่างๆ อาจเริ่มมีการสะสมไขมันมากขึ้น รวมถึงระบบการเผาผลาญเริ่มไม่เหมือนเดิม เมื่ออายุย่างเข้า วัย 40-45 ปี ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเสื่อมของวัย โดยเฉพาะเรื่องความอ้วนจะเริ่มมีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง ต้นขา ผิวพรรณเริ่มไม่สดใส มีกระ มีฝ้า ผิวพรรณแลดูไม่เปล่งปลั่งสดใสเหมือนวัยหนุ่มสาว
• ในผู้ชายจะเริ่มมีพุง กล้ามเนื้อที่เคยเป็นมัดๆ จะเริ่มหายไปกลายเป็นไขมันแทน มีเต้านมเล็กๆ แบบผู้หญิง ร่างกายก็ไม่กระชับฟิตเฟิร์ม และเกิดความหย่อนยาน
• ในผู้หญิงก็จะเริ่มมีพุง ผิวพรรณเหี่ยวย่น แลดูไม่สดใสหรือมีน้ำมีนวลเหมือนในอดีต
สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสองเพศเป็นเพราะ ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับเพศชายและฮอร์โมนในเพศหญิง คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ลดลง นอกจากความสวยงามภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ร่างกายภายในก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตาม เช่น เริ่มมีปัญหาโรคภัยรุมเร้า เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด หรือโรคกระดูกพรุนที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ผู้หญิงที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือหมดประจำเดือน โดยมากจะอ้วนขึ้นเพราะเกิดจากความบกพร่องของฮอร์โมนเพศหญิงเป็นหลัก ทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ผู้ชายจะเข้าสู่วัยทอง อ้วนลงพุง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องระวัง
ภัยร้ายของความอ้วน
เรามักจะมองอันตรายของโรคอ้วนกันเฉพาะแต่ภายนอก แต่ที่จริงแล้วอันตรายที่อยู่ภายในร่างกายนั้นมีมากมาย โดยอาการที่แสดงออกมา อาจเริ่มจากอาการเล็กๆ น้อยๆ เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หงุดหงิด ซึมเศร้า เพราะว่าคนที่เป็นโรคอ้วนมักจะขาดฮอร์โมน ซึ่งเป็นตัวสร้างพลังงาน โดยปกติแล้วคนอ้วนจะต้องใช้พลังงานมาก เพราะมีขนาดตัวที่ใหญ่ จึงต้องใช้พลังงานในการทำงานของเซลล์ จึงทำให้ไม่ค่อยเหลือพลังงานจากแต่ละเซลล์ มาใช้ในการซ่อมแซมร่างกาย
เมื่อการสร้างพลังงานได้น้อย แต่ร่างกายของคนที่เป็นโรคอ้วนต้องใช้มากกว่าการสร้างขึ้นมา จึงทำให้ไม่เหลือพลังงานในการซ่อมแซมร่างกาย ผลคือ ร่างกายเกิดภาวะเสื่อมหรือสึกหรอได้เร็วขึ้นกว่าในคนปกติ จากงานวิจัยต่างๆ พบว่าโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงในทั้ง 11 ระบบของร่างกายดังต่อไปนี้
1.โรคเส้นเลือดแดงตีบตัน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดดำอุดตัน
2.โรคเบาหวานชนิดที่ 2, เป็นหมัน ประจำเดือนมาผิดปกติ
3.โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ไมเกรน
4.โรคซึมเศร้า
5.ข้อเสื่อม เก๊าต์
6.โรคผิวหนัง
7.โรคทางเดินอาหาร (GERD ไขมันเกาะตับ)
8.โรคมะเร็งในบางชนิด
9.โรคทางเดินหายใจอุดกลั้นเวลาหลับ (Obstructive Sleep Apnea) หรือ โรคหอบหืด
10.โรคระบบไตและทางเดินปัสสาวะ (ED, CKD, Urinary incontinence)
11.ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เติมฮอร์โมนลดอ้วน
จากที่เราได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อหน้าที่ของฮอร์โมนและฮอร์โมนกับความอ้วน เราจะเห็นว่าฮอร์โมนมีความสัมพันธ์กับเรื่องของน้ำหนักเกินหรือความอ้วนอย่างมากมาย จากที่เราทราบความอ้วนเกิดจากการที่เราทานมากแต่ใช้พลังงานน้อย และตามพันธุกรรมในคนที่อายุน้อยโดยไม่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน แต่แท้จริงแล้วในรายที่อ้วนมากๆ ก็ตรวจพบว่าฮอร์โมนต่ำกว่าปกติ ในคนที่อายุเกินกว่า 40 ปีขึ้นไป ความอ้วนมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่ลดลงอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องความอ้วนในภาพรวมทั้งหมด ฮอร์โมนจึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างแน่นอน ดังนั้น การนำฮอร์โมนมาเติมในการลดความอ้วน จึงได้ผลดีมากมายดังเหตุผลต่อไปนี้
1.สร้างพลังงาน จากการเผาผลาญและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ทำให้ผู้ที่ลดความอ้วนไม่จำเป็นลดหรืออดอาหาร ทำให้มีความสบายใจ ไม่ต้องทนฝืนกับความหิว ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความล้มเหลวในลดน้ำหนักระยะยาว
2.ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ลดความเครียด เมื่อมีอารมณ์ดีทำให้รับประทานอาหารน้อยลง ขณะเดียวกันทำให้อยากไปทำงาน อยากไปเที่ยว อยากออกกำลังกาย ยิ่งเป็นการเสริมในการใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งเป็นการลดความอ้วนแบบธรรมชาติและลดได้ถาวร
ฮอร์โมนที่นำมาใช้เติมเข้าไปเป็นฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้นโดยขบวนการพันธุวิศวกรรม สามารถใช้ได้กับทุกคนเพราะเป็นฮอร์โมนเดียวกับที่มีอยู่ในร่างกาย เท่ากับว่าเป็นการเติมฮอร์โมนให้กับส่วนที่ร่างกายขาดหายไป
เมื่อฮอร์โมนสมดุลแล้วสุขภาพจะดีขึ้นอีกขั้นหนึ่ง แล้วก็มาประเมินสุขภาพ โดยใช้หลัก 3 อ. 1 ส. คือ
1.อาหาร โรคเรื้อรังมีหลายชนิด เพราะฉะนั้นอาหารแต่ละโรคก็สำคัญ ในส่วนของโรคอ้วนเราต้องจำกัดปริมาณแคลอรี โดยควรใช้มากกว่าการรับประทานเข้าไป ก็จะช่วยลดน้ำหนักได้ แต่ต้องมีหลักการที่สำคัญคือ สัดส่วนของอาหารที่จะช่วยในการเผาผลาญ (micronutrients) ได้แก่ วิตามินแร่ธาตุจากผักและผลไม้ ซึ่งต้องปรับให้มากขึ้น จะต้องมีสัดส่วนเท่ากับสารอาหารที่ให้พลังงาน (macronutrients) คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ควรทานในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสมด้วยคือ 40:30:30 โดยแคลอรี ที่สำคัญคือเวลาของการรับประทานอาหาร หลายคนจะรับประทานมื้อดึกบ่อยๆ จากการวิจัยพบว่าอัตราการเผาผลาญของระดับเซลล์หลังจากพระอาทิตย์ตกดิน จะค่อนข้างน้อยมาก เพราะฉะนั้นการับประทานอาหารในมื้อเช้าจึงสำคัญมาก
2.อนามัย การรับประทานควรล้างทำความสะอาดผักและผลไม้ เพื่อจะได้ลดอันตรายจากสารพิษและยาฆ่าแมลง
3.ออกกำลังกาย คนที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง สามารถออกกำลังกายได้ แต่ต้องค่อยๆ ปรับอัตราการเต้านของหัวใจในคนที่มีโรคเรื้อรัง การคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจควรจะไม่เกิน 60% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด (220-อายุ) เพราะฉะนั้นควรเป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆ ไม่ควรเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจให้มากจนเกินไป รวมไปถึงการนอนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากนอนไม่พอหรือไม่หลับก็จะทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลได้
4.สมดุล ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมน อาหารการดูแลสุขอนามัย หรือการออกกำลังกายทุกสิ่งต้องสมดุลกัน เป็นการดูแลสุขภาพองค์รวมในระยะยาว
พญ.มะลิ วิโรจน์สกุลชัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย
โรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)