Haijai.com


วัยรุ่น วัยว้าวุ่น


 
เปิดอ่าน 11599

วัยรุ่น วัยว้าวุ่น

 

 

วัยรุ่นเป็นวัยเปลี่ยนผ่านที่กำลังเปลี่ยนจากเด็กน้อย ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ ในวัยนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งขึ้นชื่อว่าวัยรุ่น พ่อแม่หลายคนคงทราบกันดีว่า เป็นวัยเจ้าปัญหา จะเป็นผู้หญิงจริงๆ ก็ไม่ใช่ เหมือนจะคิดได้แต่บางทีก็คิดไม่ได้ ไม่ค่อยฟังพ่อแม่ อารมณ์แปรปรวน เข้าใจยาก คุยกันก็คุยไม่ค่อยรู้เรื่อง ทะเลาะกันทุกที ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า เราจะมีวิธีดูและพูดคุยกับวัยรุ่นได้อย่างไร

 

 

ช่วงอายุของวัยรุ่น

 

วัยรุ่นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

 

 วัยรุ่นตอนต้น คือ ช่วงอายุ 10-13 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างรวดเร็วและชัดเจน เช่น ตัวสูงขึ้น ผู้หญิงเริ่มมีหน้าอก ผู้ชายเริ่มมีหนวด เป็นต้น ทำให้บางคนเกิดความกังวลกับร่างกายตัวเอง นอกจากเรื่องร่างกายแล้ว ทางด้านสังคมก็จะเริ่มสนใจเพื่อนและเพศตรงข้ามมากขึ้น

 

 

 วัยรุ่นตอนกลาง คือ ช่วงอายุ 14-16 ปี วัยนี้จะติดเพื่อนมาก ต้องการการยอมรับจากกลุ่ม และมักมีบุคคลในดวงใจที่เป็นไอดอล เช่น ดารา นักร้อง รุ่นพี่ เป็นต้น วัยนี้มักจะอารมณ์รุนแรงและเปลี่ยนแปลงเร็ว เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากมีอิสระ และมักจะขัดแย้งกับพ่อแม่ในเรื่องต่างๆ

 

 

 วัยรุ่นตอนปลาย คือ ช่วงอายุ 17-25 ปี เป็นช่วงก่อนเข้าวัยผู้ใหญ่ เมื่อมาถึงช่วงนี้ จะเริ่มมีเหตุผลและความรับผิดชอบมากขึ้น มีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ชัดเจน เริ่มที่จะคิดถึงเรื่องอนาคตของตัวเอง

 

 

พ่อแม่ควรดูแลวัยรุ่นอย่างไร

 

 ทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงของวัย วัยรุ่นจะเริ่มมีคำถาม โต้แย้ง ต่อรอง เริ่มเถียง ไม่ได้เชื่อทุกอย่างที่พ่อแม่บอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการตามวัย แปลว่าเขาเริ่มพัฒนาความคิดของตนเองและคิดเองได้

 

 

 เป็นที่ปรึกษาที่ดี แต่ไม่ใช่คนออกคำสั่ง แทนที่พ่อแม่จะเป็นคนสั่ง เช่น ให้เรียนอะไร ให้ทำอะไร ต้องเปลี่ยนเป็นลักษณะของการให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิด หรือถามคำถามให้เขาคิด แต่ไม่ใช่คิดแทนให้หมดทุกอย่างแล้วสั่งให้ทำ

 

 

 ให้โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง วัยนี้มักจะอยากรู้อยากลอง มีพลังทำสิ่งต่างๆ มากมาย และอาจเปลี่ยนความสนใจไปมา จึงเป็นโอกาสที่ให้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อที่จะค้นหาความถนัดและความชอบของตัวเอง และพัฒนาเป็นเอกลักษณ์ของตนต่อไปในอนาคต

 

 

 ปล่อยอย่างมีขอบเขต แต่หนักแน่นในเรื่องสำคัญ ในวัยนี้ควรให้อิสระมากขึ้น มีโอกาสได้มีประสบการณ์ทำสิ่งต่างๆ อย่างไรก็ตามในเรื่องที่สำคัญและเป็นกฎของบ้าน ก็ต้องหนักแน่นชัดเจนว่าห้ามทำ เช่น ห้ามกลับดึกเกินกว่ากี่โมง ห้ามใช้ยาเสพติด ห้ามไปค้างกับเพื่อนต่างเพศ ห้ามโกหก เป็นต้น แต่ในเรื่องที่เล็กน้อยก็ควรให้โอกาสได้เรียนรู้ชีวิต และมีประสบการณ์ทำสิ่งต่างๆ บ้าง เช่น ไปเที่ยวที่ไหน จะเลือกทำกิจกรรมอะไร จะอาบน้ำกี่โมง เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ พ่อแม่ไม่ควรไปกำกับทุกอย่างเหมือนตอนวัยเด็ก

 

 

 อยู่เมื่อเขาต้องการ แม้วัยรุ่นจะอยากเป็นผู้ใหญ่ ไม่อยากให้มายุ่ง แต่เมื่อเจอปัญหาจริงจัง ก็ยังต้องการคนให้คำปรึกษาและคนปลอบใจ การที่วัยรุ่นรับรู้ได้ว่า พ่อแม่เป็นกำลังใจให้เสมอ และพร้อมจะให้คำปรึกษาเมื่อเขาต้องการ จะทำให้เขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรค เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งได้ แต่ในขณะเดียวกันหากเขายังไม่ต้องการ พ่อแม่ก็ไม่ควรพยายามเข้าไปถามไปยุ่มย่ามมากจนเกินไป ต้องไม่ลืมว่า ความปรารถนาดีที่เจ้าตัวไม่ต้องการมันเป็นส่วนเกิน และทำให้เขารำคาญได้

 

 

 เป็นแบบอย่างที่ดี สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ตัวอย่างที่ดีที่มีค่ากว่าคำสอน” เพราะสำหรับวัยรุ่นแล้ว เขาจะทำตามสิ่งที่เขาเห็นมากกว่าสิ่งที่พ่อแม่พูด-สอน-บ่นให้ฟัง การที่พ่อแม่ขับรถฝ่าไฟแดงแล้วบอกว่า ถ้าไม่โดนจับก็ไม่เป็นอะไรหรอก ไปทำงานสายตลอด นัดก็ไม่เคยมาตรง ก็อย่าแปลกใจว่าลูกก็จะคิดว่าโกหกแล้ว พ่อแม่จับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร หรือกลายเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ

 

 

คุยกับลูกวัยรุ่นอย่างไรดี

 

พ่อแม่หลายคนรู้สึกว่าการคุยกับลูกวัยรุ่นช่างเป็นเรื่องยากเย็น ไม่รู้จะคุยอย่างไรให้ความสัมพันธ์ยังดีอยู่ อันนี้เป็นแนวทางเล็กๆ น้อยๆ เบื้องต้นในการพูดคุยกับลูกช่วงวัยรุ่น

 

 คุยกันให้เป็นประจำโดยเริ่มจากเรื่องที่สนุกและเขาสนใจ ให้เริ่มพูดคุยจากเรื่องที่สนุก เรื่องดีๆ เรื่องที่เขาสนใจ เช่น กีฬา หนัง เพลง งานอดิเรกอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน คุยกันได้ ทำให้เวลามีปัญหาก็สามารถเข้ามาคุยได้ โดยไม่ลำบาก แต่งานนี้พ่อแม่เองก็อาจต้องหาความรู้รอบตัว และเข้าใจในสิ่งที่วัยรุ่นสนใจบ้าง เพราะถ้าไม่รู้อะไรเลยก็คงหาเรื่องคุยกันลำบาก

 

 

 ให้โอกาสออกความคิดเห็น และคุยกันแบบปรึกษาหารือ พ่อแม่จำนวนมากมักมีคำตอบในใจของตัวเองมาแต่แรก และมักเริ่มด้วยการเทศนาสั่งสอน หรือสั่งให้ทำตามที่เราคิด ซึ่งวัยรุ่นจะเกลียดมาก ดังนั้น อย่าใจร้อน ควรฟังความคิดเห็นของเขาก่อน การช่วยกันคิดแก้ไข จะทำให้เขาเต็มใจฟังและทำตามมากกว่าการสั่งไปด่าไป เช่น หากลูกไปโรงเรียนสายติดกันหลายวัน อาจจะเริ่มด้วยว่า “เอ พ่อเห็นว่าช่วงนี้ลูกไปโรงเรียนไม่ทันหลายวัน ลูกคิดว่าเราควรจะทำยังไงดี?” เป็นต้น

 

 

 มีท่าทีที่ยอมรับในตัวลูก และรับฟัง เป็นอีกข้อที่สำคัญของการคุยกับวัยรุ่น เราต้องให้เกียรติ รับฟังความคิดของเขา อย่าพึ่งรีบตัดสิน หรือคิดว่าเป็นแค่เด็ก (หรือเป็นแค่ลูก) จะรู้อะไร! เพราะถ้าเขารู้สึกว่าคุณไม่รับฟัง เขาก็จะเลิกคุยกับคุณ แต่หากเขารู้สึกว่าคุณรับฟังและพยายามเข้าใจ เขาก็จะอยากคุยและกล้าพูดสิ่งที่คิดอยู่มากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่พึงกระทำ คือ รับฟังความคิดเห็นที่เขาพยายามอธิบายให้จบ แม้คุณอาจรู้สึกไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกก็ตาม ห้ามขัด ชิงดุ หรือตัดบทก่อนเขาจะพูดจบ

 

 

 ให้คุยกันด้วยเหตุผล แต่อย่าใช้อารมณ์ การรับฟังลูกไม่ได้แปลว่าเราต้องเห็นด้วย หรือยอมเขาไปหมด ประเด็นคือเราต้องเข้าใจเขาก่อน ว่าเขาคิดอะไร เมื่อเข้าใจแล้วแต่เราไม่เห็นด้วย ก็สามารถแสดงความเห็นแย้งไปได้โดยใช้เหตุผล แต่ห้ามใส่อารมณ์ ในกรณีที่หากคุยกันไปแล้ว เขา (หรือคุณ) อารมณ์แรงและไม่ฟังเหตุผล ก็อาจต้องหยุดไว้ก่อน แล้วค่อยคุยกันใหม่ในวันหลัง ไม่ควรเถียงกันแบบใช้อารมณ์ เพราะจะไม่ได้อะไร และไม่มีวันจบ และอาจลงเอยด้วยลูกรู้สึกว่า “พ่อแม่ไม่เข้าใจเราเลย”

 

 

 หากลูกรู้จักใช้เหตุผลที่ดี อย่าลืมชมเชย ถ้าคุณชมเขา เขาจะรู้สึกภูมิใจและใช้เหตุผลที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลไหนของเขาที่ไม่ดี เถียงข้างๆ คูๆ ก็ไม่ต้องไปสนใจ และอย่าเก็บมาเป็นอารมณ์ให้เสียสุขภาพจิตเปล่า

 

 

วัยรุ่นไม่ชอบอะไร มาดูกันว่าวิธีพูดแบบไหนที่ไม่ควรทำกับวัยรุ่น

 

 ไม่ควรทำ

 

ประชดประชัน ประจาน (ด่า) ให้อายเปรียบเทียบ วิธีเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น วัยรุ่นมักต่อต้านและไม่ทำตามมากยิ่งขึ้น แถมความสัมพันธ์มักจะแย่ลงเรื่อยสๆ นอกจากนี้อาจจะทำให้เขากลายเนคนที่ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และเก็บกดได้

 

ควรทำอย่างไร

 

 หากจะตำหนิเรื่องใดที่เขาทำไม่เหมาะสม ก็ควรเรียกมาคุยเป็นการส่วนตัว ไม่ทำต่อหน้าคนอื่น

 

 ตำหนิเฉพาะพฤติกรรมหรือเหตุการณ์นั้นๆ พร้อมเหตุผลว่าเพราะอะไร แต่ห้ามเหมารวมเป็นตัวเขา เช่น หากเขากลับบ้านดึก ให้พูดว่า เราไม่ชอบที่เขากลับบ้านดึก แต่อย่าด่าเหมาว่า “แกมันเด็กเลว”

 

 ตำหนิโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร ไม่ต้องไปเปรียบเทียบเขากับ พี่ น้อง หรือลูกเพื่อน

 

 

 ไม่ควรทำ

 

จู้จี้ขี้บ่น พูดซ้ำๆ ซากๆ ยุ่งเรื่องส่วนตัวมากเกินไป วัยนี้จะมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ให้พ่อแม่ได้บ่นอยู่เสมอ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น และผู้ใหญ่หลายคนก็มีแนวโน้มจะใช้วิธีบ่นซ้ำๆ ซากๆ หรือจู้จี้เกินไปในเรื่องส่วนตัว

 

 

ควรทำอย่างไร

 

บางเรื่องที่เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น พ่อแม่ควรทำใจยอมรับ และทำเฉยๆ บ้าง การพูดซ้ำๆ ในทุกเรื่อง จะทำให้เด็กเบื่อ รำคาญ และเกิดการต่อต้าน ดังนั้นควรจะจัดการเฉพาะอันที่เป็นปัญหาสำคัญ เป็นกฎของบ้าน ถ้ามีหลายเรื่องก็จัดการไปทีละเรื่อง แต่ไม่ควรเอามาบ่นรวมๆ กันไปเรื่อยๆ

 

 

 ไม่ควรทำ

 

ไม่ต้อนรับเพื่อนของลูก ถ้าพ่อแม่มีท่าทีไม่ต้อนรับเพื่อนของลูก ลูกก็จะไม่พาเพื่อนมาให้พ่อแม่รู้จัก หรือไม่พามาที่บ้านอีกเลย ซึ่งการที่พ่อแม่รู้จักเพื่อนของลูกวัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะช่วยให้รู้ว่าเพื่อนที่ลูกคบนั้นดีหรือไม่ และทำให้ลูกยังอยู่ในสายตาเราด้วย

 

 

ควรทำอย่างไร

 

อย่าใจร้อน อย่ารีบตัดสินเพื่อนของลูก ควรติดตามดูไปสักระยะก่อน หากคนไหนเห็นได้ชัดเจนว่าไม่น่าคบ ก็ไม่ควรใช้วิธีสั่งหรือบังคับให้เลิกคบ เพราะลูกจะยิ่งปกปิด แอบพบกัน หรือมองว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ แต่ควรใช้วิธีค่อยๆ พูดคุยกัน ให้ลูกรู้ว่าเพื่อนที่ดีและไม่ดีเป็นอย่างไร ควรระวังตัวอย่างไร และอาจจะเกิดผลเสียอะไรกับตัวเขาบ้าง

 

 

 ไม่ควรทำ

 

คิดแทนตลอดเวลาและห้ามเถียงพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่คิด ตัดสินใจให้ทุกอย่างเหมือนสมัยเด็กๆ ลูกจะตัดสินใจไม่เป็น ไม่โต ไม่มีวุฒิภาวะ การที่เขาเริ่มเถียงแสดงว่าเขากำลังโตขึ้น มีความคิดของตนเอง เพียงแต่ยังไม่ร็จักวิธีการพูดที่เหมาะสม

 

 

ควรทำอย่างไร

 

อย่าตัดสินใจแทนเขา เลิกความคิดแบบ “เด็กห้ามเถียงผู้ใหญ่” แต่ให้ค่อยๆ สอน และแสดงให้ดูถึงวิธีการแสดงความเห็นต่างที่เหมาะสมแทน

 

 

หากปฏิบัติได้ตามนี้ เชื่อว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น  พ่อแม่จะสามารถประคับประคองให้ลูกก้าวผ่านวัยว้าวุ่นนี้ไปได้ด้วยดี

 

 

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ

จิตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)