© 2017 Copyright - Haijai.com
แมงกานีส
แมงกานีสเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย พบได้ทั่วไปในอาหาร โดยอาหารที่พบแมงกานีสมากเช่น ถั่ว เมล็ดพืช จมูกข้าว ธัญพืชทั้งเมล็ด ถั่วฝัก และสับปะรด ขนาดของแมงกานีสที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันแตกต่างกันไปตามเพศ อายุ และสภาวะของร่างกาย (ตั้งครรภ์ให้นมบุตร) โดยผู้ที่มีอายุ 19 ปีขึ้นไปควรได้รับแมงกานีส
แมงกานีสเป็นแร่ธาตุที่พบได้ในกระดูก ตับ ไต และตับอ่อน และยังเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน กระดูก สารเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด และฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้แมงกานีสยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรต และไขมัน การดูดซึมแคลเซียม การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การทำงานของสมองและระบบประสาท และแมงกานีสยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระอีกด้วย
เนื่องจากแมงกานีสเป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปในอาหาร อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารพวกธัญพืชผ่านการขัดสี อาจทำให้ร่างกายได้รับแมงกานีสในปริมาณน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย หากร่างกายขาดแมงกานีสอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก กระดูกผิดรูป อ่อนเพลีย และลมชัก การได้รับแมงกานีสมากหรือน้อยเกินไประหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้พัฒนาการทางระบบประสาทของทารกผิดปกติได้
แมงกานีสมีจำหน่ายในท้องตลาดในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยอาจอยู่ในรูปของเกลือแมงกานีส เช่น แมงกานีสซัลเฟต หรือ แมงกานีสกลูโคเนต หรืออยู่ในรูปที่จับกับสารโมเลกุลใหญ่ เช่น แมงกานีสแอสพาร์เตต ฟูมาเรต ซิเตรต โดยมักพบจำหน่ายในรูปวิตามินและเกลือแร่รวม
อย่างไรก็ตามการรับประทานแมงกานีสในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องอยู่ภายใต้การให้คำแนะนำ โดยแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรรับประทานแมงกานีสเกินวันละ 10 มิลลิกรัม เนื่องจากการได้รับแมงกานีสเกินขนาด ทำให้ระบบประสาทถูกทำลาย หากปริมาณแมงกานีสในสมองมากกว่าปกติ จะทำให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งมีอาการคล้ายโรคพาร์กินสันได้ นอกจากนี้ในเด็กวัยเรียนที่มีปริมาณแมงกานีสในเลือดสูงพบว่า เกี่ยวข้องกับภาวการณ์รับรู้ต่ำกว่าปกติ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับแมงกานีสเกินขนาด ได้แก่ ผู้ที่มีโอกาสหายใจรับเอาไอแมงกานีสเข้าไปในระหว่างทำงาน (เช่น งานในโรงเหล็ก เหมืองแร่) ผู้ที่มีโรคตับ (เช่น ตับแข็ง) โดยจะมีอาการแสดง เช่น ไม่อยากอาหาร ปวดศีรษะ ตะคริวที่ขา กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง สั่น ชัก ไวต่อสิ่งกระตุ้นเกินปกติ และอาจเกิดภาพหลอนได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา
แมงกานีสเกิดปฏิกิริยาเมื่อรับประทานในขณะที่ใช้ยาต้านจิตเภท (เช่น haloperidol) โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเภทที่มีโรคตับร่วมด้วย จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาพหลอนขณะใช้ยาร่วมกับแมงกานีส ยาลดกรด ยาระบาย และยาปฏิชีวนะบางชนิด (เช่น doxycycline หรือ norfloxacin) สามารถลดการดูดซึมแมงกานีสและในทางกลับกัน แมงกานีสสามารถลดการดูดซึมยาปฏิชีวนะดังกล่าวได้ จึงควรรับประทานแมงกานีสร่วมกับยาดังกล่าว ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อลดการรบกวนการดูดซึมยา
ข้อแนะนำ
การรับประทานแมงกานีสจากอาหารตามปกติ เป็นวิธีการเสริมแมงกานีสที่ดีที่สุด เนื่องจากปลอดภัย อีกทั้งร่างกายยังได้รับประโยชน์จากเส้นใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และสารมีประโยชน์ชนิดอื่นๆ ควรแจ้งให้เภสัชกรร้านยาและเภสัชกรโรงพยาบาลทราบทุกครั้งเมื่อรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยาเก่าและใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้
ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)