Haijai.com


การปรุงอาหารให้ลูกวัยหัดทานอาหารเสริม


 
เปิดอ่าน 8546

การปรุงอาหารให้ลูกวัยหัดทานอาหารเสริม

 

 

เมื่อลูกน้อยอายุได้ 5 เดือนขึ้นไป ควรเริ่มให้ลูกได้รับอาหารเสริมเพิ่มเติมจากที่ทานแต่นมแม่อย่างเดียว (ซึ่งถึงแม้จะเริ่มให้อาหารเสริมกับลูก แต่น้ำนมแม่ก็ยังคงเป็นอาหารหลักของลูกอยู่จนกว่าจะถึง 1 ขวบ อาหารเสริมก็จะค่อยๆ กลายมาเป็นอาหารมื้อหลัก 3 มื้อของลูก) จนเมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน ก็จะสามารถรับประทานอาหารเสริมได้ 1 มื้อ (นอกเหนือจากนมแม่) อาหารเสริมควรจะเริ่มจากตับหมู หรือตับไก่ ไข่แดง ผักหรือฟักทอง ข้าว และน้ำต้มกระดูก (การปรุงอาหารให้ลูกวัยหัดทานอาหารเสริม คุณแม่ต้องไม่ปรุงแต่งรสชาติใดๆ เพิ่มเติมให้ลูกเด็ดขาด เช่น รสหวานจากน้ำตาล หรือรสเค็มจากเกลือ หรือซอสปรุงรสต่างๆ) บดอาหารให้ละเอียดเนียนเพื่อให้ลูกกลืนได้ง่ายขึ้น

 

 

หลังจาก ลูกค่อยๆ ทานอาหารเสริมมาจนกระทั่งอายุได้ 8 เดือน ลูกก็จะเริ่มรับประทานอาหารเก่งขึ้น คุณแม่จึงควรปรับเปลี่ยนอาหารจากอาหารบด มาเป็นการเตรียมอาหารแบบตุ๋น และเพิ่มมื้ออาหารให้ลูกเป็นวันละ 2 มื้อ (โดยลูกจะทานนมแม่หรือนมขวด ห่างมื้อขึ้น)

 

 

พอลูกอายุได้ 9 เดือน ลูกจะยิ่งสนุกกับการทานอาหารที่คุณแม่เตรียมไว้ให้มากขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณแม่ควรจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของอาหารเสริม จากที่บด ตุ๋น ก็ปรับมาเป็นการต้ม ซึ่งเริ่มจากการให้ลูกได้ลองทานข้าวต้มข้นๆ ที่ใส่เนื้อสัตว์ และหั่นผักชิ้นเล็กๆ ลงไปด้วย ต้มให้นิ่ม (การปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหารให้ลูกในแต่ละช่วงเดือน ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูกสามารถที่จะปรับตัวรับกับรูปแบบอาหารทั่วไปได้)

 

 

พอลูกอายุได้ 1 ขวบเต็ม ก็ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับ คุณแม่ในการเตรียมอาหารให้ลูกรัก เพราะคุณแม่จะสามารถปรับเปลี่ยน รูปแบบลักษณะของอาหารได้หลากหลายมากขึ้น และลูกก็จะสนุกกับ การทานเมนูอาหารที่คุณแม่เตรียมให้มากขึ้นเช่นกัน (ลูกอายุ 1 ปี เริ่ม เข้าสู่ช่วงเตาะแตะหัดเดิน เวลาป้อนอาหารลูกจะไม่ยอมนั่งอยู่กับที่ เหมือนเช่นเดิมแล้ว ดังนั้นคุณแม่อาจจะต้องหาสถานที่ที่ลูกสามารถ เดิน วิ่ง ได้ด้วย อย่างการป้อนมื้อเย็นให้ลูกที่สนามหญ้าหน้าบ้านก็ เป็นไอเดียที่ค่ะ และลูกก็จะเจริญอาหารมากขึ้น) การเตรียมอาหาร สำหรับลูกวัย 1 ขวบ รูปแบบของอาหารจะเป็นลักษณะของข้าวสวย นิ่มๆ ที่ทานคู่กับ กับข้าว เช่น ข้าวสวยกับแกงจืดเต้าหู้, ข้าวสวยกับ แกงต้มจับฉ่าย (ผักจะนิ่มทานง่ายมาก), ข้าวสวยกับแกงจืดไข่น้ำใส่ วุ้นเส้น เป็นต้น เวลาป้อนให้ลูกให้กะให้พอดีคำเป็นคำเล็กๆ เพราะถ้า รีบป้อน และแบ่งเป็นคำใหญ่ๆ ลูกอาจสำลักได้ คุณแม่ควรใจเย็น ค่อยๆ ป้อน ลูกจะได้ค่อยๆ เคี้ยวนะคะ อาหารของลูกวัย 1 ขวบ จะ เป็นการให้อาหารที่ครบ 3 มื้อ เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ทานแล้วค่ะ เพียงแต่ การทานของเด็กอาจจะยังไม่หนักเท่าผู้ใหญ่ที่ทานกันในแต่ละมื้อ

 

 

ตั้งแต่ลูกเริ่มทานอาหารเสริมได้ จนกระทั่งครบ 1 ขวบ จะเห็นว่าการเพิ่มอาหารให้ลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น จะมีผลดีต่อร่างกายของลูก ที่จะค่อยๆ ปรับตัวรับกับการทานอาหาร ฉะนั้น เมื่อถึงวัยที่ต้องการอาหารมากขึ้น (1 ขวบขึ้นไป) คุณแม่ควรเตรียมอาหารให้หลากหลายมากขึ้น จัดให้ครบ 5 หมู่ สลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละมื้อ เพราะหากลูกได้รับคุณค่าสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน ก็จะไปทำให้การเจริญเติบโตไม่เป็นตามเกณฑ์ เด็กที่อยู่ในช่วงวัยก่อนถึงวัยอนุบาล ควรเน้นให้ทานเป็นข้าววันละ 3 มื้อ ร่วมกับการได้ดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว และควรได้รับประทานปลาทะเลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการบำรุง และพัฒนาศักยภาพทางระบบประสาท สมอง ให้กับลูก

 

 

สารอาหารที่สำคัญ ที่ควรเตรียมให้ลูกได้รับกันอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อการเจริญเติบโตที่แข็งแรง สมบูรณ์สมวัยของลูกในทุกช่วงพัฒนาการ สารอาหารสำคัญที่ร่างกายลูกต้องการมาก คือ

 

 

 โปรตีน ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ให้พลังงานช่วยรักษาสมดุลของน้ำในหลอดเลือด เนื้อเยื่อ และเซลล์ โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมอง โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ขวบปีแรก สมองเด็กจะมีการเจริญเติบโตถึงร้อยละ 80 หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบทำให้สมองมีขนาดเล็กกว่าปกติ ซึ่งจะมีผลเสียต่อสติปัญญาในระยะยาวกับลูกได้ โปรตีนเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ที่จะได้จากการทานนม ไข่ เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา เต้าหู้ ถั่ว และเมล็ดธัญพืช ฯลฯ ซึ่งก่อนที่ลูกจะได้รับโปรตีน และพลังงานจากการทานอาหารทั่วไปนั้น ลูกจะได้รับโปรตีนที่ดีจากการทานน้ำนมของคุณแม่กันตั้งแต่แรกเกิดนั่นเอง

 

 

 แร่ธาตุเหล็ก ที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และยังช่วยในการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้ทำหน้าที่ปกติ เช่น ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบประสาท การแข็งตัวของเลือด เป็นต้น แหล่งอาหารที่ทานแล้วจะได้รับแร่ธาตุเหล็ก คือ จากการทานตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล

 

 

 ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองของทารก ช่วยในการทำงาน และเจริญเติบโตของต่อมไทรอยด์ ช่วยให้ร่างกายผลิตพลังงานได้ตามปกติ ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย และช่วยพัฒนาสมอง แหล่งอาหารที่ทานแล้วจะได้รับไอโอดีน ก็เช่นใน ปลาทะเล สาหร่ายทะเล และเกลือทะเล

 

 

 แคลเซียม ช่วยในเรื่องการเสริมสร้างกระดูก และฟันให้แข็งแรง แหล่งอาหารที่ทานแล้วจะได้รับแคลเซียม คือ นม ผักใบเขียว เต้าหู้ งา และปลาตัวเล็กๆ

 

 

 วิตามินเอ ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของร่างกายเสริมสร้างเซลล์ และระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยบำรุงในเรื่องการมองเห็น แหล่งอาหารที่ทานแล้วจะได้รับวิตามินเอ คือ ในผักใบเขียว ฟักทอง แครอท มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ

 

 

 สังกะสี จัดเป็นแร่ธาตุในกลุ่มแร่ธาตุปริมาณน้อย (TraceMinerals) มีชื่ออีกอย่างว่า ซิงค์ (Zinc) เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกำกับการทำงานของร่างกายมีบทบาทสำคัญ ในการสังเคราะห์กรดนิวคลิอิก และโปรตีนเอนไซม์ในร่างกาย สังกะสี จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์โปรตีน และสร้างคอลลาเจน มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของเด็ก และช่วยให้เซลล์สามารถจับกับวิตามินเอได้ดีขึ้น และช่วยให้เซลล์สามารถนำเอาวิตามินเอไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วย ซึ่งช่วยทำให้เซลล์ผิวพรรณที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ๆ มีสุขภาพดี แหล่งอาหารทานแล้วจะได้รับสังกะสี คือ ในน้ำนมแม่ นมวัว ตับ ถั่ว ไข่แดง เป็นต้น

 

 

ความต้องการนมในแต่ละวัน ของลูก

 

เด็กแรกเกิด-4 เดือน ในเด็กแรกเกิดถึง 2 สัปดาห์จะตื่นบ่อย หลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้วจะเริ่มกินนมเป็นเวลา วันละ 6-7 ครั้ง(ลูกควรได้รับนมทุก 3 ชั่วโมงในช่วงกลางวัน และทุก 4 ชั่วโมงในตอนกลางคืน)

 

 

เด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไป สำหรับเด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไป เวลาระหว่างมื้อนมจะเริ่มค่อยๆ ห่างออกไป เมื่อเด็กอายุมากขึ้น คือ อายุ 4-7 เดือนอาจจะยังให้นมลูกทุก 4-5 ชั่วโมง และหลัง 7 เดือนจะเริ่มให้นมทุก 6 ชั่วโมง และหลัง 7 เดือนไปแล้ว ก็สามารถจะให้ลูกเลิกกินนมมื้อดึกได้ เหลือแค่ตอนกลางวัน วันละ 3-4 มื้อ

 

 

 แรกเกิด-1 สัปดาห์ 6-10 มื้อ ทุก 3 ชั่วโมง

 

 

 1 สัปดาห์-1 เดือน 6-8 มื้อ ทุก 3-4 ชั่วโมง

 

 

 1 เดือน-3 เดือน 5-6 มื้อ ทุก 4 ชั่วโมง

 

 

 3 เดือน-7 เดือน 4-5 มื้อ ทุก 6 ชั่วโมง

 

 

 7 เดือน-9 เดือน 3-4 มื้อ ทุก 4 ชั่วโมง (เฉพาะช่วงกลางคืน)

(Some images used under license from Shutterstock.com.)