© 2017 Copyright - Haijai.com
บุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พ่อค้าคิดค้นขึ้นมาขายแก่นักสูบบุหรี่ โดยอ้างว่าไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ ลักษณะเป็นแท่งคล้ายบุหรี่แต่โตกว่าเล็กน้อย ปลายหนึ่งเป็นช่องเหมือนไปป์สำหรับดูด อีกปลายเป็นหัวมีหลอดไฟให้แสงสีแดงหรือสีเขียวแล้วแต่ยี่ห้อ ตรงกลางตัวเครื่องมีที่ทำความร้อนให้สารเหลวเป็นไอระเหย โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านลิเธียมและช่องใส่หลอดน้ำยาหรือผงยา น้ำยานี้ส่วนมากมีส่วนผสมสำคัญ คือ นิโคตินและสารให้กลิ่น หลอดน้ำยาเมื่อหมดสามารถซื้อมาเติมใหม่ได้ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ได้นิโคตินเข้าสู่ร่างกาย มีการกล่าวอ้างว่าเนื่องจากไม่มีเขม่าควัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีสารก่อมะเร้ง จึงเป็นบุหรี่ที่สูบแล้วไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (แต่ผู้เชี่ยวชาญไทยกล่าวว่า ไม่ควรจะไปเชื่อโฆษณาอย่างนั้น) ทั้งยังไม่มีกฎหมายห้าม จะสูบที่ใดก็ได้
บุหรี่ไฟฟ้าถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2003 โดยหมอจีนเพื่อช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่ ต่อมาจึงแพร่ไปทั่วโลกและเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2007 สร้างมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์
เนื่องจากเพิ่งมีการใช้กันไม่นานข้อมูลทางการแพทย์จึงยังมีไม่มาก ดังนั้น จึงยังมีการโต้เถียงกันอยู่มากกว่า บุหรี่ไฟฟ้านี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร องค์การอนามัยโลกยังต่อต้าน แต่ผู้เชี่ยวชาญที่เคยศึกษาเรื่องนี้มากล่าวว่า สิ่งนี้ช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่ได้ถึง 81% แต่แพทย์คนอื่นกล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กๆ เพราะจะทำให้เด็กที่ใช้ติดบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และเอาไปใช้ผิดๆ เช่น เอาไปสูบกัญชา โคเคน แทนที่จะสูบนิโคตินอย่างเดียว ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ห้ามจำนห่ายบุหรี่ไฟฟ้ารวมทั้งประเทศไทยด้วย
การสูบบุหรี่ยังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ มีการต่อต้านการสูบบุหรี่กันทั่วโลก แต่ยังไม่สามารถจะปิดกั้นและกำจัดมันออกไปได้หมดสิ้น แม้ว่าผู้ใหญ่จะลดละเลิกบุหรี่กันมากขึ้นแล้ว แต่เยาวชนทั่วโลก ยังคงเป็นเหยื่อการตลาดกันต่อไป พ่อค้าหัวใสได้คิดวิธีใหม่ๆ ในการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบทางอื่น เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หรือ อี-ซิกาแร็ต (e-cigarette)
บุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะอย่างไร
บุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะเป็นแท่งคล้ายบุหรี่ ปลายข้างหนึ่งเป็นช่องเปิดเหมือนไปป์สำหรับดูด ปลายอีกข้างเป็นหัวมีหลอดไฟให้แสงสีแดงหรือเขียวหรือสีอื่น ซึ่งจะติดขึ้นเวลาสูบ ในส่วนลำตัวของบุหรี่ไฟฟ้ามีช่องสำหรับใส่หลอดน้ำยา หรือผงยา ซึ่งจะถูกรมหรือให้ความร้อนจนของเหลวกลายเป็นไอ (vapor) หรือเป็นควันในกรณีที่เป็นผงยา แท่งนี้ใช้พลังงานจากแบตเตอรีลิเธียมซึ่งเปลี่ยนได้ และหลอดยาก็สามารถเปลี่ยนหรือเติมยาได้ น้ำยาที่ใช้มีนิโคตินผสมกับสารให้กลิ่น (บางอย่างเขาทำน้ำยา โดยไม่มีนิโคตินก็มี) เมื่อของเหลวกลายเป็นไอก็จะถูกดูดโดยคนสูบ
กล่าวโดยย่อ บุหรี่ไฟฟ้า คือ เครื่องทำไอระเหยหรือ Vaporizer (คำว่า vape ในภาษาอังกฤษยุคใหม่เป็นคำกิริยา หมายความว่าการสูดดมไอระเหยจากเครื่องที่ว่านี้) ลักษณะเด่นของมันคือไม่ต้องใช้ไฟแช็กจุด ไม่ต้องใช้ไม้ขีด ใช้แต่ถ่านลิเธียม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่มีกลิ่น (อ้างว่าไม่ทำให้ก่อมะเร็ง) แต่มีนิโคติน (ซึ่งมีผลเสียต่อหลอดเลือดและหัวใจ) และสารสร้างกลิ่น จำนวนความเข้มข้นของนิโคตินแปรผันไปแล้ว แต่ยี่ห้อหรือขนาดยา แต่ส่วนมากมีตัวยานิโคตินราว 18 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (บางชนิดทำเป็นของเหลว ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่าไม่มีนิโคติน)
บุหรี่ไฟฟ้าบางอย่างจะใช้ผงนิโคตินเวลาเข้าเครื่องรม แล้วจะได้เป็นควันออกมาให้สูบ เครื่องแบบนี้เรียกว่าอีบารากุ (e-baraku หรือ e-shisha) การสูบแบบนี้เมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา มีข้อมูลว่าการสูบอีบารากุ 45 นาที จะได้เขม่ามากกว่า 36 เท่า ได้คาร์บอนมอนอกไซด์มากวก่า 15 เท่า และได้นิโคตินมากกว่า 70 เท่าของการสูบบุหรี่ธรรมดา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดเมืองไทยกล่าวว่า ทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าต่างก็มีผลเสียต่อสุขภาพ อย่าไปเชื่อโฆษณาว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ สูบเท่าไหร่ก็ได้
วัยรุ่นปกติชอบของใหม่แฟชั่นใหม่ ที่สหรัฐอเมริกา วัยรุ่นเริ่มนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น คิดเป็น 10% ของนักเรียนมัธยมปลาย และ 3.4% ในผู้ใหญ่ ปัจจุบันนี้คนอเมริกัน 40 ล้านคนสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้เกิดการตายมากถึง 1 ใน 5 ของสาเหตุการตายทั้งหมด ควันบุหรี่มีผลเสียต่อทุกอวัยวะ จากการสำรวจประชามติพบว่า 70% ของคนอเมริกันอยากเลิกบุหรี่ แต่การเลิกบุหรี่นั้นยาก เพราะนิโคตินเป็นยาเสพติด (ว่ากันว่าถ้าเทียบปริมาณต่อกรัม นิโคตินมีพลังเสพติดมากเป็นอันดับ 1) ปัจจุบันนี้ในสหรัฐอเมริกา การขายบุหรี่ลดลง 10% ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าภาษีเพิ่มขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมี e-cigarettes เกิดขึ้น
บุหรี่ไฟฟ้านี้แรกเริ่มเดิมทีในปี ค.ศ. 2003 หมอจีนชื่อ Hon Lik เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2007
ตลาดขายบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาใหญ่ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี บางแห่งเริ่มเปิดบริการห้องดูดบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาแล้ว เรียกว่า vaping lounge ซึ่งทำให้ผมคิดย้อนกลับถึงอดีตที่เมืองไทยมีโรงยาฝิ่น คนเสพจะเข้าไปนอนแอ้งแม้งดูดฝิ่นชื่นมื่น เห็นสวรรค์รำไร ไม่ต้องเดือดร้อนทำอะไร ทำให้เสียหายต่อประเทศ (ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ฝรั่งต่างชาติสมัยก่อนเอามามอมเมาคนจีน จนเกิดสงครามฝิ่นในประเทศจีน) จนรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ต้องออกกฎหมายห้ามเสพยาฝิ่น ปิดโรงยา เผาอุปกรณ์เครื่องสูบทิ้งกันเป็นมหกรรมประชาสัมพันธ์ ทำให้สิงห์อมควันลงแดงกันเป็นแถว จึงนับว่าเป็นการดีแล้วที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีนโยบายจะออกกฎหมายห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเมืองไทยเสียเลย เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม
มีอะไรอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า
ปกติในควันบุหรี่ธรรมดามีสารเคมี 7,000 ชนิด และมีอยู่ 69 ชนิดที่ก่อมะเร็ง ส่วนบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเหลวและสารสร้างกลิ่น ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่าไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่นิโคตินมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ถาบริโภคขนาดมากๆ อาจตายได้จากการสูดดมขนาดสูง การกินหรือการดูดซึมทางผิวหนังขนาดสูง ก็อาจถึงตายได้เช่นกัน เช่น นิโคตินขนาด 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าดูดซึมเข้าทางผิวหนังหมดสามารถฆ่าผู้ใหญ่ได้ และขนาด 1 ช้อนชา สามารถฆ่าเด็กได้
นิโคตินมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในร่างกายบีบตัว เลือดจึงไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกายลดลง ทำให้อวัยวะขาดออกซิเจน มีผลเสียต่อทุกอวัยวะ การสูบบุหรี่ทำให้ความดันเลือดสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ น้อยลง มีผลเสียต่อการผ่าตัด ทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้น แผลหายช้าหรือไม่หาย แผลแยก ทำให้เกิดไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัดมากขึ้น ฯลฯ คนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดตามนัด จึงควรงดสูบบุหรี่ประมาณ 6 สัปดาห์ การผ่าตัดจึงจะได้ผลดีเหมือนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
บุหรี่ไฟฟ้านี้ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในตลาดมาหลายปี แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอว่าปลอดภัยแค่ไหน จึงยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ เมื่อไม่นานมานี้มีการประชุมต่อต้านบุหรี่ระดับนานาชาติที่อาบูดาบี มีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก และได้การโต้เถียงกันถึงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก นางมากาเร็ต ซาน มีจุดยืนต่อต้าน เพราะเกรงว่าเยาวชนจะติดยามากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญอื่นเห็นว่าไม่ควรต่อต้าน เพราะบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยคนที่อยากเลิกบุหรี่ได้ดีกว่ายาเลิกบุหรี่แบบอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ นายคอนแสตนติโนส์ ฟาซาริโนส์ กล่าวว่าเคยมีการทดลองในคน 19,500 คน พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ 81% ของผู้เข้ารับการทดลองเลิกสูบบุหรี่ได้และได้ผลดีมาก ทั้งยังเสริมว่าถ้าคนสูบบุหรี่เปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าราว 3% ก็จะช่วยให้คนรอดตายได้ 2 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่มีคนไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เด็กวัยรุ่นหันมาสูบมันมากขึ้น และเอาไปใช้แบบผิดๆ เช่น แทนที่จะสูบนิโคตินกลับไปสูบอย่างอื่น เช่น กัญชา โคเคน เฮโรอีน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก
เนื่องจากในประเทศส่วนใหญ่ไม่มีการเปิดเผยส่วนผสม เพราะไม่มีกฎหมายใช้บังคับ ในปี ค.ศ.2015 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงบังคับให้เปิดเผยส่วนผสม โดยมีการออกกฎหมาย smoke prevention and tobacco control act และบังคับให้ต้องขออนุมัติก่อนวางตลาดบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามขายเยาวชน ห้ามขายจากเครื่องหยอดเหรียญ และต้องมีฉลากเตือนภัยเหมือนซองบุหรี่
ในส่วนของค่าใช้จ่าย นักสูบบุหรี่ธรรมดาวันละซอง ต้องจ่าย 1,000 ดอลลาร์ต่อปี เพื่อจะได้จำนวนนิโคตินที่เขาต้องการ ส่วนนักดูดบุหรี่ไฟฟ้าตอนแรกต้องลงทุนซื้อเครื่อง แบตเตอรี่ หลอดยา รวมค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 30-100 ดอลลาร์ รวม 1 ปี จ่าย 600 ดอลลาร์
เนื่องจากไม่ค่อยมีการควบคุมด้านการตลาด จึงมีการโฆษณากันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่ที่ไม่มีควัน ไม่มีปัญหาทางสุขภาพ และสูบที่ไหนก็ได้ (ไม่มีการห้ามเหมือนบุหรี่ธรรมดา) จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง คณะรัฐมนตรีของไทยจึงได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการห้ามนำ อี-บารากุและบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ในขณะที่อีกหลายประเทศก็ห้ามเช่นกัน เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา อิสราเอล เม็กซิโก ยูเออี ที่สหรัฐอเมริกาก็มีที่มลรัฐนิวยอร์ค ลอสแองเจลิส และชิคาโก ผู้บริโภคจึงควรรู้ไว้
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)