© 2017 Copyright - Haijai.com
ปัสสาวะเล็ดในผู้ชาย
ปัญหาปัสสาวะเล็ดราดไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในผู้ชาย ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาต่อมลูกหมากโต ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิงที่จะพบปัญหานี้ในทุกช่วงอายุ และจะพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้นเช่นกัน ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาปัสสาวะเล็ดราดในผู้ชาย รวมทั้งปัญหาต่อมลูกหมากโต ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาระบบปัสสาวะในผู้ชาย
การที่ผู้ชายประสบปัญหาปัสสาวะเล็ดราดน้อยกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมีกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะที่แข็งแรงกว่า นอกจากนี้ผู้ชายยังมีต่อมลูกหมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดอีกด้วย ปัญหาปัสสาวะเล็ดที่พบในผู้ชาย มักเกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมากกว่าสาเหตุอื่น มักพบในผู้สูงอายุ และมักพบร่วมกับภาวะต่อมลูกหมากโต ดังนั้น หากผู้ป่วยชายมาพบแพทย์ด้วยปัญหากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน และต่อมลูกหมากโต แพทย์จะแนะนำให้รักษาภาวะต่อมลูกหมากโตก่อน เนื่องจากบ่อยครั้งที่รักษาภาวะต่อมลูกหมากโตแล้ว ปัญหากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินก็จะดีขึ้นเช่นกัน
นอกจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดราด ที่พบได้คือผลข้างเคียงหลังจากการผ่าตัดหรือฉายแสง ซึ่งอาจส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดในผู้ป่วยบางรายแย่ลง และตามมาด้วยปัญหาปัสสาวะเล็ดราด
ต่อมลูกหมากโตกับปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ
ภาวะต่อมลูกหมากโตพบได้ถึงร้อยละ 50 ในผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และพบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในผู้ชายอายุ 80-90 ปี แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาการ และไม่ใช่ทุกคนที่จะรักษา อย่างแรกต้องดูก่อนว่ามีอาการผิดปกติใดหรือไม่ โดยอาการผิดปกติดังกล่าวมักเกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะไม่สุด อั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่พุ่ง ต้องเบ่งปัสสาวะ ต้องตื่นมาปัสสาวะบ่อยๆ ในตอนกลางคืน เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการเด่นแตกต่างกันไป เช่น บางรายมีอาการเด่นคือปัสสาวะไม่สุด บางรายปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตส่วนใหญ่จะรักษาด้วยยา ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังจากใช้ยา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาปัสสาวะไม่ออก หรือมีอาการรุนแรง หรือรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องเกือบทั้งหมด และมีด้วยกันหลายเทคนิค เช่น การส่องกล้องเข้าไปแล้วใช้ลวดไฟฟ้าขูด (Transurethral Resection of the Prostat: TURP) เป็นวิธีที่ใช้มานานกว่า 50 ปี และยังคงเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันมาก ในการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต
นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกน้อยกว่าและอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะแพงกว่า TURP มาก อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการผ่าตัดรักษาของทั้ง 2 วิธีนี้เท่ากัน แต่ระยะเวลาในการรักษาและฟื้นตัวอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย โดยเฉลี่ยแล้วไม่ว่าจะรักษาแบบไหน ผู้ป่วยจะต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน โดยระหว่างนั้นผู้ป่วยต้องงดกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ควรระวังอย่าให้ท้องผูก อย่าขับรถ อย่ายกของหนัก หลังจากผ่านไป 1 เดือน จึงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติทุกอย่าง ผู้ป่วยส่วนใหญ่หากผ่าตัดไปแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยาอีกเลย โดยแพทย์จะนัดมาตรวจติดตามอาการปีละครั้ง
ผู้ชายทุกคนต้องทำใจไว้อย่างหนึ่งว่า เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งจะต้องพบกับภาวะต่อมลูกหมากโตแน่ๆ แต่ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป เพราะต่อมลูกหมากโตเป็นเรื่องของธรรมชาติ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สามารถรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยสามารถพูดคุยปรึกษากับแพทย์ถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างเปิดเผย ภาวะต่อมลูกหมากโตสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่งด้วยการลดเนื้อสัตว์ และอาหารไขมันสูง ซึ่งในระยะคาวมเสี่ยงจะลดลง
ในส่วนของปัญหาปัสสาวะเล็ดราด โดยหลักการในการรักษาปัญหาปัสสาวะในผู้สูงอายุ ที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง คือ การปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ลดคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และเนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดในมื้อเย็น ไม่ควรรับประทานอาหารรสเค็ม เพราะการขับเกลือออกจากร่างกายต้องใช้เวลา ทำให้ต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึก ในกรณีที่ผู้ป่วยได้ปรับการใช้ชีวิตและได้ผลออกมาในระดับที่ตัวผู้ป่วยเองก็พอใจ อาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม
ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)