Haijai.com


หยุดอาการโรคสองขั้วเวลาใน 14 วัน


 
เปิดอ่าน 2006

โรคสองขั้ว การรักษาให้ได้ผลดี

 

 

ผู้ป่วยโรคสองขั้วจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ ถ้าเลือกได้ไม่พบแพทย์สาขาอื่น ประเด็นสำคัญของการรักษาโรคทางจิตใดๆ รวมทั้งโรคสองขั้วด้วย มิใช่เป็นประเด็นเรื่องยาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นประเด็นเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและจิตแพทย์ด้วย ซึ่งมีเพียงจิตแพทย์เท่านั้นที่ได้รับการฝึกอบรมมาเพื่อการนี้ พูดง่ายๆ ว่า การวางตัวของจิตแพทย์คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น มิใช่ยาแต่เพียงอย่างเดียว ต่อให้ได้ยาที่ถูกต้องหรือขนาดสูงเท่าไร ผู้ป่วยก็ไม่สามารถดีขึ้นได้หากจิตแพทย์วางตัวไม่ถูกต้อง

 

 

จิตแพทย์มิใช่ซูเปอร์มนุษย์ที่ต้องดี หรือเก่งพิเศษ เพียงแต่มีหลักการและหลักปฏิบัติหลายประการที่ต้องทำและเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางตัวและการปฏิบัติตนในห้องตรวจ ขอเพียงแพทย์ประจำบ้านที่มาศึกษาต่อด้านจิตเวชศาสตร์ เพื่อเตรียมเป็นจิตแพทย์อยู่แล้วว่าต้องวางตัวอย่างไร ที่จริงอะไรแบบนี้มิใช่เรื่องพิสดาร ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดไปตามตำรามาตรฐานอย่างเคร่งครัด เป็นปฐมก็สามารถประกันผลการผ่าตัดได้ระดับหนึ่งเสมอ แน่นอนว่าทุกเรื่องมีข้อยกเว้น แต่ข้อยกเว้นก็ไม่อาจหลุดรอดสายตาแพทย์ที่มีหลักการที่ดีไปได้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์สาขาใดก็ตาม ดังนั้น เงื่อนไขข้อแรก คือ “พบจิตแพทย์”

 

 

ประโยคถัดไป “การได้ยาที่ถูกต้องในขนาดที่สูงพอ และต้องกินยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่มีเงื่อนไข” ขึ้นกับประสบการณ์ของแพทย์ที่ดูแล เรื่องนี้เป็นธรรมดาสำหรับแพทย์ทุกสาขาอีกเช่นกัน การให้ยาผู้ป่วยเรามีวิธีกว้างๆ 2 วิธี คือ

 

 ให้ยาในขนาดน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่มยา เพราะถ้าให้ยาในขนาดสูงผู้ป่วยจะทนยาไม่ไหว

 

 

 ให้ยาที่ถูกต้องในขนาดสูงทันที เพื่อให้ผู้ป่วยดีขึ้นและหายเร็วที่สุด

 

 

แพทย์แต่ละคนบนโลกใบนี้ไม่ทำวิธีที่ 1 ก็ทำวิธีที่ 2 ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น ยาที่ให้ และประสบการณ์ที่มี

 

 

มีเรื่องเล่าเสมอเกี่ยวกับอายุรแพทย์เก่งๆ กล้าเสี่ยงที่จะให้ยาบางชนิดในขนาดสูง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยเอาไว้ให้ได้ อายุรแพทย์ที่ทำเช่นนี้ได้คือคนเก่งที่มีฝีมือมากพอ ที่จะคุมอาการข้างเคียงของยาให้อยู่หมัดได้ ศัลยแพทย์ที่เก่งๆ กล้าเสี่ยงผ่าตัดด้วยวิธีพิเศษบางอย่าง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้จงได้ แม้ว่าตนเองอาจจะถูกฟ้องร้องทีหลัง ถ้าช่วยชีวิตผู้ป่วยไม่สำเร็จ แต่ศัลยแพทย์คนนั้นมีความเป็นแพทย์สมบูรณ์แบบที่ยอมเสี่ยงชีวิตตนเอง เพื่อช่วยชีวิตคนอื่นนี่มิใช่เรื่องในหนัง แต่เป็นเรื่องจริงในประเทศไทย

 

 

โรคสองขั้วเวลามีอาการจะสร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและครอบครัวมาก การหยุดเขาให้ได้ใน 14 วัน จำเป็นต้องใช้ยาที่ถูกต้องในขนาดสูง โดยไม่กลัวผู้ป่วยจะแพ้ยาหรือมีฤทธิ์ข้างเคียง ต่อให้แพ้ยาหรือมีฤทธิ์ข้างเคียงอะไรคุณหมอจิตแพทย์นั้น ก็สามารถควบคุมและแก้ไขได้ภายหลังเสมอ

 

 

เรื่องสำคัญกว่าคือเราต้องการหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นานาชนิด ที่ผู้ป่วยกำลังนิวแซนซ์ (nuisance) ผู้คนไปทั่วอย่างเร็วที่สุด คำถาม คือ ญาติหรือพ่อแม่ผู้ป่วยเอาด้วยหรือไม่ หรือจะให้คุณหมอจิตแพทย์เพิ่มยาช้าๆ ด้วยความกล้าๆ กลัวๆ (ของญาติหรือคุณพ่อคุณแม่เอง) ความวุ้นวายไม่สิ้นสุดก็จะยืดยาวออกไป

 

 

ฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ของยาจิตเวช คือ ความง่วง และหากเราให้ยาในขนาดสูง มักจะง่วงมากเสียจนหลับต่อเนื่องยาวนาน การหลับต่อเนื่องยาวนานมีข้อดีคือ เมื่อผู้ป่วยฟื้นขึ้นมา มักหายดีหรือดีขึ้นมากอย่างไมน่าเชื่อ แต่การหลับต่อเนื่องยาวนานมีข้อเสียด้วย คือ มักทำให้ญาติหรือพ่อแม่เป็นกังวล ว่าจะหลับไม่ตื่นอีกเลย หรือกลัวผู้ป่วยจะไม่ได้กินข้าว

 

 

หลับไม่ตื่นอีกเลย ไม่เคยปรากฏและจะไม่มีวันเป็นไปได้ (เพราะบอกแล้วว่า เราให้ยาที่ถูกต้อง ย้ำคำว่า ถูกต้อง) ส่วนเรื่องห่วงลูกจะหิว ไม่ได้กินข้าวแล้วจะผอม เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ขำๆ ที่จิตแพทย์พบทุกวัน เหมือนไฟไหม้บ้าน แต่เราเป็นห่วงเปลืองค่าน้ำที่จะเอาไปดับไฟ นั่นคือเอาเรื่องเล็กมาขวางทางเรื่องใหญ่

 

 

ในความเป็นจริงผู้ป่วยตื่นมาดื่มนม หรือน้ำส้ม หรือกินข้าวเล็กๆ น้อยๆ ได้เสมอ แต่ภาพรวมคือเขาจะหลับต่อเนื่องอยู่นาน 3 วัน 3 คืน ตื่นมาก็หาอะไรรองท้อง กินยาตามคำสั่ง (อย่างเคร่งครัด) แล้วหลับต่ออีก ตื่นมาก็หาอะไรรองท้องอีก กินยาตามคำสั่ง (ครบถ้วนทุกเม็ด) แล้วหลับต่ออีกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งร่างกายชินยาและปรับตัวเข้าหายาสำเร็จ เขาก็จะตื่นเองและไม่ง่วงมากมายเหมือน 3 วันแรก แต่ที่มหัศจรรย์คือ ทุกอย่างจะดีขึ้น

 

 

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

จิตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)