Haijai.com


6 สมุนไพรใกล้ตัวต้านความดันโลหิตสูง


 
เปิดอ่าน 8152

6 สมุนไพรใกล้ตัวต้านความดันโลหิตสูง

 

 

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิต ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมในการรับประทาน ก็จะสามารถช่วยลดและบรรเทาความดันและความเสี่ยงจากภาวะความดันโลหิตสูงได้ การใช้สมุนไพรเป็นยาเพื่อลดอาการความดันโลหิต ก็นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของการบำบัดโรคด้วยวิถีธรรมชาติ

 

 

สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง

 

สมุนไพรไทยที่สามารถลดความดันโลหิตสูงได้นั้นมีหลายชนิด บางอย่างอาจหายาก แต่ก็มีไม่น้อยที่สามารถหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป อาทิตย์

 

 

1.กระเจี๊ยบแดงRoselle

 

ผักสากลช่วยคนได้ทั้งโลก เพราะความโดดเด่นที่เป็นสากลของกระเจี๊ยบคือ ไม่ว่ากระเจี๊ยบแดงจะไปงอกงาม หรือเติบโตในแคว้นถิ่นของประเทศไหน คนในประเทศนั้นๆ ก็จะมีการนำกระเจี๊ยบแดงมาใช้เหมือนๆ กัน คือ ใช้เพื่อเป็นยาลดความดันโลหิต

 

 

กระเจี๊ยบเป็นสมุนไพรที่นำมาเป็นเครื่องดื่มแล้วให้รสชาติดี สีสวยเป็นที่นิยมขอคนทุกชนชาติ นอกจากรสชาติดีแล้ว ยังช่วยบำรุงร่างกายอีกด้วย สารสีแดงในกลีเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงที่มีชื่อว่า แอนโธไซยานิน มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกำจัดสารพิษ ส่วนที่เป็นกลีบเลี้ยงนี้ จึงเป็นส่วนที่นำมาใช้ตากแห้งและนำมาต้มกับน้ำร้อน ชงดื่มเป็นชากระเจี๊ยบ มีรายงานว่า การดื่มชากระเจี๊ยบวันละ 2-3 ครั้ง สามารถลดความดันโลหิตชนิด Diastolic หรือค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวลงได้ตั้งแต่ ร้อยละ 7.2 ถึง 13 นอกจากนี้ยังพบว่าสารแอนโธไซยานิน ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดอีกด้วย

 

 

2.ขึ้นฉ่าย Celery

 

สมุนไพรใกล้ตัว เป็นพืชผักล้มลุกในตระกูลเดียวกับผักชี การรับประทานโดยมาก นิยมนำใบและก้านมารับประทานสดหรือใส่ลงไปในอาหาร หรืออาจเลือกต้นสดๆ มาคันเป็นน้ำผัก กรองเอากากออก รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะก่อนอาหาร เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตได้ ขึ้นฉ่ายเป็นสมุนไพรที่มีโพแทสเซียมสูง ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยลดความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ รักษาโรคปวดข้อ เช่น รูมาติกและโรคเกาต์ มีโซเดียมอินทรีย์ที่สามารถช่วยปรับความเป็นกรดและด่างในเลือดให้สมดุล น้ำคั้นจากขึ้นฉ่าย มีสรรพคุณเป็นยากล่อมประสาท ทำให้รู้สึกสบาย และนอนหลับได้ดี

 

 

3.พลูคาว Plu Kaow

 

ผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ และภาคอีสาน หมอยาทั่วไปทั้งหมอยาอีสาน ภาคเหนือหรือไทยใหญ่ มีความเชื่อว่ารับประทานคาวตองสดๆ กับน้ำพริก ลู่ ลาบ หรือใช้รากต้มกับปลาไหล รากตำเป็นน้ำพริก รับประทานเป็นยารักษาได้หลายโรค เช่น เบาหวาน ขับปัสสาวะ ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง ในประเทศเกาหลีก็มีการนำพลูคาวไปเป็นยาลดความดันโลหิตสูง, ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว เนื่องจากมีการสะสมของไขมัน (Atherosclerosis) และมะเร็ง

 

 

4.มะรุม Moringa

 

ครบถ้วนสารอาหาร ต้านความดันสูง มะรุมเป็นผักที่สามารถกินได้แทบทุกส่วน ตั้งแต่ ใบอ่อน ช่อดอก ฝักอ่อน อาจนำมาปรุงเป็นอาหารด้วยการนำไปลวก หรือนึ่งรับประทานคู่กับน้ำพริก หรือจะนำฝักอ่อนมาทำเป็นแกงส้ม ซึ่งมะรุมจะเริ่มมีฝักอ่อนออกมาในช่วงที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงอย่างต้นฤดูหนาว การรับประทานมะรุมช่วยแก้ท้องผูก บำรุงสายตา และบำรุงกำลัง เป็นต้น

 

 

การนำมะรุมมาใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีหลายตำรับยาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การนำรากหรือยอดมาต้มกิน การนำรากมะรุมต้มกับรากย่านาง เพื่อรับประทาน หรืออีกตำรับคือ อาจนำยอดมะรุมสด ซึ่งเป็นยอดอ่อนหรือยอดแก่ก็ได้ นำมาโขลกคั้นน้ำ (ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปพอให้เหลวข้น) ผสมกับน้ำผึ้งพอหวาน รับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ ½ แก้ว สูตรยาตัวนี้จะช่วยลดความดันและยาแต่ละสูตรต้องรับประทานต่อเนื่อง เพราะถ้าหยุดยาความดันโลหิตก็เพิ่มขึ้นมาอีกได้

 

 

5.บัวบก Gotu Kola

 

พืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการสมานแผล และรักษาอาการอักเสบของแอลได้ดีขึ้น เพราะมีกรดมาเดคาสสิก (Madecassic acid) กรดเอเชียติก (Asiatic acid) และสารเอเชียติโคไซด์ (Asiatic side) นอกจากนี้บัวบกยังเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากบัวบกทำให้การไหลเวียนของเลือดทั้งในหลอดเลือดดำ และเส้นเลือดฝอยมีการไหลเวียนดีขึ้น มีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทำให้ลดความดันโลหิตได้

 

 

6.กระเทียม Garlic

 

พืชสมุนไพรและเครื่องสำคัญ เป็นที่นิยมโดยทั่วไปในครัวเรือน ใส่ในอาหารหลากหลากชนิด เช่น อาหารไทย อาหารอินเดีย กระเทียมมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นฉุน รับประทานได้ทั้งแบบสด หรือจะนำไปดอง เป็นส่วนผสมสำคัญของอาหารหรือน้ำจิ้ม ซึ่งกระเทียมจะมีคุณสมบัติเด่น 2 ประการคือ

 

1.การทา กระเทียมมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและยับยั้งแบคทีเรีย

 

 

2.การรับประทาน กระเทียมมีสรรพคุณในเรื่องของการลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต

 

 

มีรายงานการศึกษาพบว่า กระเทียมลดความดันโลหิตตัวบนได้ 12 มิลลิเมตรปรอท และลดความดันโลหิตตัวล่างได้ 9 มิลลิเมตรปรอท โดยสารอัลลิซินในกระเทียม ช่วยเพิ่มการสร้างไนตริกออกไซด์ มีผลในการขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลง รับประทานกระเทียมเพียงวันละ 1-2 กลีบ แต่กระเทียมมีข้อควรระวังในผู้ป่วยที่ต้องทานยาละลายลิ่มเลือด เพราะจะไปเพิ่มฤทธิ์ของยาได้

 

 

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

(Some images used under license from Shutterstock.com.)