© 2017 Copyright - Haijai.com
ผ่าตัดยกเต้าย้วยให้เต่งตึง
เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก เป็นประโยคที่ใช้ตลอดมาและใช้ได้ตลอดไปเป็นแน่แท้ เพราะนอกจากจะมีปัญหาหนักอกหนักใจแล้ว ยังต้องเจอปัญหา “เหี่ยวอกเหี่ยวใจ” อีกต่างหาก อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ ปัญหาเหี่ยวอกเหี่ยวใจที่ว่าก็คือ “อาการหน้าอกหย่อนคล้อย” ในผู้หญิงเรานั่นเอง เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกขาดความมั่นใจแล้ว ยังเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการจะอวดหุ่นสวย แต่เต้านมไม่ยอมสวยด้วยนี่สิ
สาเหตุของหน้าอกหย่อนยาน
บริเวณหน้าอกของเรานั้นประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อมากมาย ซึ่งมีทั้งกล้ามเนื้อแนวตั้งและกล้ามเนื้อแนวนอนสับขวางเรียงกันหลายชั้น โดยกล้ามเนื้อเหล่านี้จะมีสมรรถภาพไปตามอายุ และปัจจัยภายนอกที่ส่งผลทำให้เกิดความเสื่อมของกล้ามเนื้อตรงบริเวณนั้นๆ โดยสาเหตุที่จะทำให้หน้าอกหย่อนมีดังนี้
• อายุมากขึ้น
เมื่ออายุมากขึ้น เส้นยึดเต้านมจะอ่อนแอและทำให้หน้าอกหย่อนยานในที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
• อาการเจ็บป่วย
ความอ่อนแอของร่างกาย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะที่ผิดปกติจากอาการป่วยต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อ หรือสมรรถภาพของหน้าอกอ่อนแอลงได้
• การลดน้ำหนัก
การลดน้ำหนักหรือการสูญเสียน้ำหนักที่รวดเร็วจนเกินไป ก็มีผลต่อขนาดและความตึงของหน้าอกที่เปลี่ยนไป เพราะไขมันบริเวณหน้าอกจะถูกดึงออกไปใช้แทน ขณะที่ร่างกายเราขาดสารอาหาร ที่สำคัญคือแม้ว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น แต่ขนาดหน้าอกก็จะเท่าเดิม ไม่มีการเติมไขมันเข้ามาใหม่อีกด้วย
• วิธีใส่ยกทรงแบบผิดๆ
การใส่ยกทรงที่มีขนาดเล็กเกินไปเป็นเวลานาน จะทำให้หน้าอกของเราถูกบีบรัดและกดทับอยู่ตลอด ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่สำหรับผู้ที่ใส่ยกทรงด้วยขนาดที่ใหญ่จนเกินไป ก็จะทำให้หน้าอกเสียรูปทรงหย่อนคล้อยและไม่กระชับ
• บุคลิกภาพ
การนั่งหรือยืนด้วยการห่อไหลและหลังงอ เป็นบุคลิกที่ทำร้ายเราโดยไม่รู้ตัว และมักจะเกิดได้ง่ายกับคนทุกวัย เพราะพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้เห็นผลในทันที แต่เป็นการสะสมปัญหาแบบระยะยาว โดยบุคลิกเหล่านั้น จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกลีบลง จนกลายเป็นหน้าอกที่เหี่ยวและไม่สวยในที่สุด
ภาวะตั้งครรภ์และให้นมบุตร
ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ในผู้หญิงเรา หน้าอกจะเริ่มขยายและต่อมไขมันจะทำหน้าที่ผลิตน้ำนม ทำให้เต้านมขยายใหญ่ขึ้น เมื่อให้น้ำนมบุตร ไขมันส่วนนี้ก็จะออกไปพร้อมกันด้วย เราจึงรู้สึกได้ว่าหน้าอกเรามีขนาดที่เล็กลง ประกอบกับเส้นยึดเต้านมที่ทำหน้าที่อย่างหนักในช่วงเวลาที่ให้นมบุตร จึงทำให้หน้าอกมีขนาดที่เล็กลงและหย่อนยานอย่างเห็นได้ชัด
ลักษณะอาการ “หย่อนยาน” ของเต้านม
โดยปกติแล้ว “หัวนม” ของผู้หญิงเราจะไม่ได้อยู่กึ่งกลางของแต่ละด้านพอดี มักจะเชิดขึ้นนิดหน่อยและค่อนไปทางด้านข้าง เมื่อมองตรงจากด้านหน้า หัวนมจะอยู่สูงกว่าราวนม ให้สังเกตดูที่หัวนมเป็นหลัก หากตำแหน่งของเต้านมตกลงต่ำกว่าราวนม แต่หัวนมอยู่สูงกว่าราวนมถือว่า “นมหย่อน” ซึ่งหมายถึงนมที่เหี่ยวแต่ไม่ยานสามารถเสริมเต้านมช่วยได้ แต่หาก “นมยาน” ให้สังเกตดูที่หัวนมจะอยู่ต่ำกว่าราวนม มีลักษณะเป็นถุงกาแฟยาวและลีบแบนลง ซึ่งอาการนมยานไม่สามารถแก้ได้ด้วยการเสริมเต้านม แต่สามารถแก้ได้ด้วยการผ่าตัดรักษา
วิธีแก้ไขหน้าอกหย่อนยาน
• ฉีดโบท็อกซ์ กรณีนี้จะใช้ได้ดีกับคนไข้ที่หน้าอกหย่อนไม่มาก โดยขั้นตอนการทำเริ่มด้วยการทาครีมยาชา เพื่อให้ผิวหนังเกิดอาการชา จากนั้นแพทย์จะทำการฉีดโบท็อกซ์โดยรอบ และข้างใต้ของเต้านม ไล่ตั้งแต่กลางทรวงอกไปจนถึงรักแร้ รวมถึงบริเวณปานนมเพื่อลดความเหี่ยวย่น ซึ่งวิธีนี้จะเริ่มเห็นผลในทันที และปรากฏผลชัดเจนในอีก 2-3 วันต่อมา แต่หากจะให้เกิดผลไวที่สุด คนไข้ควรกลับมาฉีดเพิ่มอีกครั้งภายใน 3 สัปดาห์ ซึ่งคนไข้จะมีหน้าอกที่แน่นและดูอวบอิ่มขึ้น หัวนมและปานนมดูดีขึ้น เต้านมจะยกกระชับขึ้นประมาณ 2 เซนติเมตร วิธีนี้จะไม่มีผลข้างเคียงและไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้น
• ผ่าตัด สำหรับคนที่มีขนาดหน้าอกไม่ใหญ่และไม่หย่อนมาก จะใช้วิธีการผ่าตัดเสริมเต้านมในการแก้ไข โดยเป็นการเสริมเต้าแบบทั่วไป คือ การผ่าทางรักแร้หรือผ่าตัดสอดทางใต้ทรวงอก (ทางราวนม) และบริเวณรอบปานนมก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ได้และความพอใจของคนไข้เป็นหลัก แต่ในกรณีที่หน้าอกหย่อนมากถึงขนาดหัวนมคว่ำต่ำกว่าราวนม วิธีผ่าตัดเท่านั้นถึงจะแก้ไขได้
ขั้นตอนการผ่าตัด
ศัลยแพทย์จะวิเคราะห์ดูสภาพปัญหาว่า เป็นมากหรือน้อย และจะทำแนวเส้นผ่าตัดรอบหัวนม แล้วลากแนวลงมาตามแนวตั้ง ตั้งแต่ใต้หัวนมจนสุดที่ฐานหน้าอก จากนั้นจึงเพิ่มแนวเส้นผ่าตัดตามแนวนอนตลอดความยาวของฐานหน้าอก กำหนดรอยที่จะเกิดแผลลงบนเต้านมให้น้อยที่สุด ซึ่งการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ชม. เริ่มจากการวางยาสลบคนไข้ และเริ่มทำการผ่าตัดบริเวณปานนมก่อน โดยจะเก็บส่วนนี้ไว้สำหรับเลื่อนไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้น (ขยับตามความสวยงามและความเหมาะสม) กรณีที่นมยานมากจะเกิดแผลลากยาวลงมาจรดใต้ราวนม ซึ่งผิวหนังส่วนที่เกินและเสื่อมสภาพจะถูกตัดออก ให้เหลือเฉพาะพื้นที่แผลเป็นรอบปานนมเท่านั้น หากมีผิวหนังที่เกินมาก แผลเป็นก็จะมากตามไปด้วย เมื่อเหลือสัดส่วนที่ต้องการ แพทย์จะจัดวางหัวนมให้เข้าที่และเริ่มเย็บปิดแผลโดยรอบปานนมเรื่อยลงมาเป็นแนวตั้งฐานทรวงอก หากเต้านมยานมากจะมีแผลแนวขวางที่ฐานนม (รูปสมอเรือ) เพิ่มขึ้นด้วย ทรวงอกที่ได้หลังการผ่าตัดจะถูกตกแต่งให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ทั้งนี้รอยแผลเป็นที่เกิดขึ้นอาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี เพื่อให้ริ้วรอยแผลเป็นค่อยๆ ลดเลือนลง
ระยะเวลาการพักฟื้น
โดยหลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องนอนพักรักษาตัวประมาณ 2 วัน จึงจะกลับบ้านได้ เมื่อครบหนึ่งสัปดาห์แพทย์จะนัดให้มาตัดไหม และตรวจว่ามีอาการบวมช้ำหรือแผลติดเชื้อมีเลือดออกหรือไม่ เพื่อจะได้แก้ไขพร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติรักษาที่ถูกต้องได้ทันท่วงที
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
คนไข้จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1-2 อาทิตย์จึงจะกลับไปทำงานได้ตามปกติ ต้องระมัดระวังเรื่องการนอน เช่น อย่านอนกดทับแผล ห้ามออกแรงหรือยกสิ่งของหนักๆ ในช่วง 1-2 เดือนแรก ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามสูบบุหรี่ งดอาหารทะเล ของสุกๆ ดิบๆ
คนไข้สามารถใส่ยกทรงได้ตามปกติ (แบบไม่บีบรัด) แต่ห้ามเป็นแบบที่มีโครงเหล็กดัดทรง ในช่วงเดือนแรกหลังผ่าตัดเต้านมจะเกิดอาการแห้ง ดังนั้น ควรมีการใช้ครีมทาให้ผิวหนังบริเวณเต้านมชุ่มชื้นขึ้น แต่ต้องเว้นในส่วนของแนวผ่าตัดไว้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
รู้ให้มากรู้ให้ดีก่อนตัดสินใจ
การเลือกหมอที่มีความน่าเชื่อนั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการเริ่มต้นผ่าตัด (ทุกกรณีที่ผ่าตัด) เพราะการผ่าตัดคือการตัดสินใจที่ใหญ่ และมีผลดีผลเสียที่เกิดตามมามากมาย วิธีเลือกหมอที่ดีไม่จำเป็นต้องปรึกษาแต่หมอเพียงอย่างเดียว อาจมาจากประสบการณ์ของผู้ที่เคยทำมาแล้วด้วยก็ได้ การผ่าตัดทุกอย่างจะให้ทั้งผลดีและผลเสีย ทั้งนี้นอกจากคำปรึกษาที่ดีแล้ว ควรศึกข้อมูลให้ละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนจบกระบวนการผ่าตัด เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอันตรายกับตัวเราให้น้อยที่สุด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)