© 2017 Copyright - Haijai.com
น้ำมันเมล็ดองุ่น Grapeseed Oil
น้ำมันเมล็ดองุ่นได้จากการสกัดเมล็ดหรือเปลือกองุ่น น้ำมันองุ่น 100 กรัม ให้พลังงาน 884 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว 7 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว 16 กรัม และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง 70 กรัม นอกจากนี้น้ำมันเมล็ดองุ่นยังมีวิตามินอี การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า น้ำมันเมล็ดองุ่นยังมีวิตามินอี การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า น้ำมันเมล็ดองุ่นสามารถป้องกันต่อมไร้ท่อในตับอ่อนตาย เนื่องจากจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงอาจมีผลดีต่อโรคเบาหวาน และช่วยสมานแผล ทว่ายังขาดการศึกษาถึงผลดีดังกล่าวในมนุษย์ และด้วยความที่น้ำมันเมล็ดองุ่นมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวอยู่ในปริมาณมาก จึงเหมาะแก่การนำไปใช้ปรุงอาหาร
น้ำมันเมล็ดองุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดเมล็ดหรือเปลือกองุ่น ซึ่งเป็นของเหลือจากอุตสาหกรรมการผลิตไวน์จากองุ่น สารที่ละลายน้ำได้จะถูกสกัดด้วยตัวทำละลายที่มีขั้วสูง ได้เป็นสารสกัดเมล็ดองุ่น ส่วนน้ำมันจะถูกสกัดด้วยตัวทำละลายไม่มีขั้วได้เป็นน้ำมันเมล็ดองุ่น น้ำมันเมล็ดองุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ โดยใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง หรือสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และพลังงานทดแทน (ผลิตไบโอดีเซล) นอกจากนี้น้ำมันเมล็ดองุ่น ยังเป็นน้ำมันที่กลายเป็นไอที่อุณหภูมิสูง (มากกว่า 200 องศาเซลเซียส) จึงเหมาะแก่การนำมาใช้ประกอบอาหาร สำหรับการใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยังไม่มีรายงานขนาดที่ควรใช้ หรือขนาดสูงสุดที่รับประทานได้ในแต่ละวัน
สาระสำคัญในน้ำมันเมล็ดองุ่น
น้ำมันจากองุ่นที่ต่างชนิดหรือต่างพันธุ์กัน จะมีปริมาณกรดไขมันแต่ละชนิดแตกต่างกัน โดยเฉลี่ย น้ำมันเมล็ดองุ่น 100 กรัม (ประมาณ 7 ช้อนโต๊ะครึ่ง) ให้พลังงาน 884 กิโลแคลอรี โดยเป็นพลังงานจากไขมันทั้งหมด (100 กรัม) เป็นไขมันอิ่มตัวประมาณ 7 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว 16 กรัม และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (เช่น ไขมันที่ประกอบด้วยกรดไขมันไลโนเลนิก หรือไลโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็น) 70 กรัม สารอาหารอื่นในน้ำมันเมล็ดองุ่นคือวิตามินอี (เทียบเท่าแอลฟาโทโคเฟอรอล) ประมาณ 30 มิลลิกรัม (ซึ่งเป็นปริมาณที่ตำกว่าน้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดฝ้าย หรือน้ำมันดอกคำฝอย) น้ำมันจากเมล็ดองุ่นแดงจะมีปริมาณวิตามินอีมากกว่าน้ำมันจากเมล็ดองุ่นขาว และอาจมีสารละลายในไขมันชนิดอื่นๆ เช่น สเตียรอยด์จากพืชละลายอยู่ในน้ำมันในปริมาณเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามน้ำมันเมล็ดองุ่น ไม่มีสารละลายน้ำ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในสารสกัดเมล็ดองุ่น (เช่น สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ คาเตชิน โพรไซยานินดิน และแอนโทไซยานิน สารกลุ่มกรดฟีนอล เช่น กรดแกลลิค กรดอีลาจิค และสารกลุ่มสติลบีนส์ เช่น เรสเวราทรอล) เป็นองค์ประกอบ
ผลต่อสุขภาพ
เนื่องจากน้ำมันเมล็ดองุ่นมีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในปริมาณสูงมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่น (น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันข้าวโพด) จึงช่วยลดปริมาณการบริโภคกรดไขมันอิ่มตัวลงได้ การรับประทานกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งแทนไขมันอิ่มตัว สามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจโคโรนารี นอกจากนี้การทดลองในสัตว์ทดลองยังแสดงให้เห็นว่าน้ำมันเมล็ดองุ่น สามารถป้องกันต่อมไร้ท่อในตับอ่อนจากการตาย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงอาจมีผลดีต่อโรคเบาหวาน และการทาแผลถูกตัดด้วยน้ำมันเมล็ดองุ่นในสัตว์ทดลอง ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยในมนุษย์ยืนยันประโยชน์ของน้ำมันเมล็ดองุ่นต่อโรคเบาหวาน หรือการสมานแผลแต่อย่างใด
ข้อแนะนำ
การใช้น้ำมันเมล็ดองุ่นสำหรับประกอบอาหารให้ผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีงานวิจัยสนับสนุนการรับประทานน้ำมันเมล็ดองุ่นในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยรองรับ ผู้บริโภคควรตระหนักว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด สามารถเกิดพิษหรือทำให้เกิดอาการแพ้ได้ไม่แตกต่างจากการใช้ยา
ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)