Haijai.com


เข้าใจผิวพรรณและการดูแลสุขภาพผิว


 
เปิดอ่าน 3301

เข้าใจผิวไม่ใช่เรื่องยาก

 

 

ด้วยอาการของประเทศไทยที่มีถึง 3 ฤดู คงทำให้สาวๆ หลายคนเอาใจผิวตัวเองยากกันสักหน่อย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและป้องกันปัญหาผิวเสียในช่วงหน้าร้อนที่จะมาถึงนี้ จึงขอเอาใจผู้รักผิว ด้วยการนำถึงปัญหารวมถึงโรคที่พบบ่อย รวมถึงวิธีดูแลผิวพรรณในช่วงหน้าร้อนมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อจะได้เตรียมรับมือกับไอแดดอันร้อนระอุ ฝุ่นละออง และมลภาวะต่างๆ แต่เราจะเข้าใจผิวและดูแลผิวของเราได้ถูกวิธีแค่ไหน

 

 

ทำความเข้าใจผิว

 

คนไทยเรามีสีผิวปะปนกันอยู่ มีตั้งแต่ผิวขาวไปจนถึงสีคล้ำ การที่สีผิวของแต่ละคนแตกต่างกัน ก็เนื่องจากการกระจายตัวของเม็ดสี เมลานินในเซลล์ของผิวหนังไม่เท่ากัน คนที่ผิวขาวเม็ดสีเมลานินมีขนาดเล็กและกระจายตัวห่างๆ กัน คนที่มีผิวดำเม็ดสีเมลานินจะมีขนาดใหญ่และกระจายอยู่ชิดกัน

 

 

โดยทั่วไปเรามีเกณฑ์การแบ่งสีผิวของเราที่เรียกว่า “Skin Type Classification” ดังนี้

 

ผิวลักษณะที่ 1 ผิวขาวซีด ผิวไหม้ง่ายมาก เวลาที่โดนแดด และไม่มีทางที่ผิวจะสีคล้ำหรือแทน มักพบในผู้ที่มีตาสีฟ้า และผมสีบรอนด์หรือแดง

 

 

ผิวลักษณะที่ 2 ผิวขาวอมชมพู เวลาโดนแดดแล้วผิวไหม้ง่าย แต่ผิวก็สีแทนได้ชั่วครั้งชั่งคราวเท่านั้น

 

 

ผิวลักษณะที่ 3 ผิวขาวปนเหลืองตากแดดแล้วบ้างครั้งผิวไหม้ และมีสีแทนหรือคล้ำได้แต่ก็ต้องใช้เวลา เช่น ลูกครึ่งเอเชีย-ยุโรป

 

 

ผิวลักษณะที่ 4 ผิวสีเหลือง ปนน้ำตาลอ่อน หรือผิวสีคาราเมล ตากแดดแล้วผิวไหม้ได้บ้างแต่น้อย และมีสีแทนหรือคล้ำได้เสมอๆ เช่น กลุ่มชนเอเชียตอนบน ญี่ปุ่น จีน เกาหลี

 

 

ผิวลักษณะที่ 5 ผิวสีน้ำตาลเข็ม สีผิวประเภทนี้จะไหม้แดดได้น้อย แต่ผิวจะคล้ำได้เร็วและง่ายมาก เช่น กลุ่มชน อเมริกาใต้ ไทย มาเลเซีย เม็กซิโก สเปน

 

 

ผิวลักษณะที่ 6 ผิวดำ เมื่อตากแดดแล้วผิวไม่ไหม้ เช่น กลุ่มชนผิวดำ แถบแอฟริกาใต้

 

 

ผิวคนไทยส่วนใหญ่พบในผิวลักษณะที่ 3-5 ส่วนลักษณะสภาพของผิวหนังแบ่งออกได้เป็น 5 แบบ คือ ผิวแห้ง ผิวธรรมดา ผิวมัน ผิวผสม และผิวแพ้ง่าย โดยสภาพของผิวขึ้นอยู่กับผิวของแต่ละคน และอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามวัย สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน หนาว

 

 

ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน

 

1.เหงื่อและกลิ่นตัว

 

อากาศร้อนชื้นอย่างเมืองไทย ทำให้เหงื่อออกมากจนบางครั้งก่อให้เกิดความรำคาญ ทั้งเจ้าตัวและอาจทำให้คนรอบข้างรังเกียจ โดยเฉพาะเมื่อมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมา ความจริงแล้วเหงื่อเป็นแค่น้ำใสๆ ที่มีเกลือผสมอยู่และไม่มีกลิ่น แต่เนื่องจากการที่แบคทีเรียและเชื้อราที่ผิวหนัง ทำปฏิกิริยากับเหงื่อ  ทำให้เกิดกลิ่นขึ้นได้ ยิ่งในบางบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ซอกขา ซอกนิ้วเท้า และอวัยวะเพศ เวลาเหงื่อออกจึงระเหยออกไปได้ยาก ทำให้เกิดการหมักหมมเป็นกลิ่นเหม็น ซึ่งอาจแก้ไขได้โดย

 

 รักษาความสะอาด อาบน้ำให้สะอาด สวมเสื้อผ้า ถุงเท้า ที่สะอาด โดยเลือกเนื้อ ผ้าที่ใช้เส้นใยจากธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายที่ระบายเหงื่อได้ เปลี่ยนหมุนเวียนรองเท้า อย่าใส่ซ้ำทุกวัน

 

 

 เลี่ยงการกินอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น สะตอ หัวหอม กระเทียม และเครื่องเทศต่างๆ เนื้อแกะ

 

 

 ใช้น้ำยาระงับกลิ่นกาย เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ลดเหงื่อ อีกทั้งน้ำยาระงับกลิ่นกาย มักจะใส่น้ำหอมเข้าไปด้วย ทำให้มีกลิ่นหอม

 

 

2.เกลื้อนและกลาก

 

เป็นโรคทางผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย นอกจากอาจก่อให้เกิดอาการคันและดูไม่สวยงาม เกลื้อนมีลักษณะเป็นผื่นแบนๆ วงกลม หรือวงแหวนมีสีน้ำตาลหรือสีขาวจางๆ อาจจะมีขุยลอกบางๆ ที่ขอบ ส่วนกลากจะมีลักษณะเป็นผื่นสีแดง วงกลมหรือวงแหวนมีขอบเขตชัดเจนอาจมีสะเก็ดลอกบางๆ ที่ขอบวงแหวนได้ด้วย พบบ่อยบริเวณที่อับชื้น ลำตัว หลัง หน้าอก ต้นแขน ซอกคอ ใบหน้า

 

 

การป้องกันและรักษา

 

1.รักษาความสะอาดของร่างกาย อย่าปล่อยให้ร่างกายอับชื้น เช่น หลังเล่นกีฬา ควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้หมักหมม

 

 

2.เนื่องจากเชื้อราสามารถติดต่อได้ทางผิวหนัง จึงควรหลีกเลี่ยงใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า ร่วมกับผู้อื่น

 

 

3.พบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยการใช้ยาฆ่าเชื้อรา อาจเป็นชนิดทาหรือรับประทานขึ้นอยู่กับการกระจายของโรคและดุลพินิจของแพทย์

 

 

หวังว่าผิวหนังของทุกท่านคงจะเป็นเขตปลอดจากกลากและเกลื้อนนะคะ

 

 

3.ผดร้อน หรือผด

 

เกิดจากการอุดตันของท่อต่อมเหงื่อ และเกิดการรั่วของเหงื่อสะสมในชั้นผิวหนังทำให้ เกิดเป็นตุ่มน้ำ มักพบเมื่ออากาศร้อนชื้น โดยมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ กระจายที่ผิวหนัง ผดร้อนพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กทารก เนื่องจากพัฒนาของต่อมเหงื่อไม่สมบูรณ์นัก

 

 

ผดร้อน เป็นภาวะไม่อันตราย และหายได้เอง เมื่อสภาพอากาศเย็นขึ้น เช่น อาบน้ำ ประคบด้วยผ้าเย็น ไม่ใส่เสื้อผ้าหลวมไม่รัดรูป สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ถ้ามีอาการคันพยายามอย่าเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย

 

 

4.ผิวไหม้จากแสงแดด

 

ถึงแม้ผิวหนังคนเอเชียจะมีเม็ดสีเมลานินที่มากกว่า สามารถช่วยป้องกันผิวจากากรไหม้แดดได้มากกว่าผิวชาวตะวันตก แต่การอยู่ท่ามกลางแสงแดดจัดเป็นเวลานานๆ เช่น การเล่นน้ำทะเล เล่นน้ำสงกรานต์ นอกจากทำให้ผิวคล้ำขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ผิวไหม้ได้เหมือนกัน ระหว่างที่เล่นอาจสนุกสนานเพลิดเพลินกว่าจะรั้วอีกที ผิวก็แดงมีอาการแสบร้อน ต่อมาผิวจะดำคล้ำขึ้น คัน แสบร้อน ผิวหนังหลุดลอกเป็นแผ่น การที่ผิวถูกทำร้ายจากแดดนานๆ จะทำให้เกิดฝ้า คอลลาเจนถูกทำลาย ผิวหนังจะเหี่ยวย่น ดูแก่กว่าวัย และยังเป็นต้นเหตุของมะเร็งผิวหนัง

 

 

การดูแลผิวหลังจากการไหม้จากแดด โดยใช้ผ้าขนหนูที่แช่เย็นหรือชุบน้ำเย็นประคบตรงบริเวณที่โดนแดดเผา จนรู้สึกว่าผิวเย็น หายร้อน หลีกเลี่ยงการถูสบู่ล้างหน้า หรือครีมล้างหน้าต่างๆ ควรใช้เพียงน้ำสะอาดล้างและซับด้วยผ้าเบาๆ งดการใช้เครื่องสำอางทุกชนิด ยกเว้นครีมที่ให้ความชุ่มชื้น และแพทย์อาจให้ใช้ยาลดการอักเสบทา เพื่อลดการอักเสบระคายเคืองกับผิวที่บอบบาง จนกว่ารอยไหม้จากแดดจะดีขึ้น อย่าเพิ่งใช้เครื่องสำอางชนิดที่ทำให้หน้าขาวใส่ ในระหว่างที่ผิวยังอยู่ในสภาพการโดนเผา เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองเป็นการยิ่งซ้ำเติมรอยแผล

 

 

เมื่อรอยไหม้จากแดดดีขึ้นและผิวกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ให้บำรุงผิวด้วยโลชั่นหรือเซรั่มที่ให้ความชุ่มชื้น และมีส่วนผสมของสารที่ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน เช่น Vitamin C ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจำพวก Whitening ก็จะช่วยลดลอยดำ ความหมองคล้ำปกป้องการเกิดฝ้าและกระให้กับผิวได้ดีขึ้น

 

 

การป้องกันไม่ให้ผิวไหม้น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า โดยเลี่ยงการออกแดดในเวลาที่แดดจัด คือ 10.00-16.00 น. หากเลี่ยงไม่ได้ การใส่เสื้อแขนยาว หมวก กางร่ม ก็ช่วยป้องกันได้ ส่วนหนึ่ง ปัจจุบันมีวัสดุที่สามารถป้องกันแสง UV จะช่วยป้องกันได้ดีขึ้น ส่วนที่ลืมไม่ได้ คือ การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดด แม้ว่าจะอยู่นอกบ้านหรือในบ้าน ผิวก็เผชิญกับรังสี UVA และ UVB อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพสามารถช่วยป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ หากไม่ได้ออกแดดมาก SPF 25 เพียงพอ แต่ถ้าต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ตีกอล์ฟ ว่ายน้ำ ควรใช้ครีมกันแดด SPF 50 ที่กันน้ำ ได้ ควรทาครีมกันแดดในปริมาณที่มากพอและควรซ้ำทุก 4-5 ชั่วโมง ถ้าต้องออกแดดนานๆ เพื่อให้ได้ผลการปกป้องเต็มที่ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยปกป้องผิวสวย และยับยั้งปัญหาผิวไหม้ ผิวคล้ำเสีย หวังว่าหน้าร้อนปีนี้ผู้อ่านทุกท่านคงมีผิวสวยนะคะ

 

 

แพทย์หญิงสุขมาส สุวรรณวลัยกร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)