© 2017 Copyright - Haijai.com
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีลุ้นกู้ความจำคืนได้
ผู้ที่เผชิญกับโรคอัลไซเมอร์มีความหวังขึ้นมาอีกครั้งได้ด้วยข่าวนี้ค่ะ
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์สถานบันวิจัยสมอง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) นำโดย นายแพทย์ ดร.เดวิด แกลนซ์แมน นักชีววิทยาและประสาทชีววิทยา ศึกษาพบว่า หากขัดจังหวะสมองที่กำลังสร้างความจำระยะยาว โปรตีนสำหรับสร้างช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาท (ไซแนปส์) จะไม่สังเคราะห์และหยุดการก่อตัวของความจำไปด้วย
ขณะที่ความจำหาย ไซแนปส์และตัวเชื่อมโยงของมันยังคงสร้างตัวต่อ แต่เมื่อใส่สารเซโรโทนินและสารยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนตามไปในเซลล์ประสาททันที ทำให้การสร้างไซแนปส์หยุดชะงักและลบความจำไปด้วย แต่หลังจากได้รับการกระตุ้นอีกครั้ง ความจำและไซแนปส์ที่หายไปกลับคืนมา ทำให้นักวิจัยสันนิษฐานว่า จริงๆ แล้ว ความจำอาจไม่ได้ถูกเก็บไว้ในไซแนปส์อย่างที่เคยเข้าใจกัน
แกลนซ์แมนอธิบายว่า อัลไซเมอร์ระยะแรกเกิดจากการที่ไซแนปส์ในสมองถูกทำลาย และหากความจำถูกเก็บในไซแนปส์ เมื่อไซแนปส์หายไปความจำย่อมหายไปด้วย แต่จากหลักฐานที่พวกเขาเพิ่งค้นพบนี้ ชี้ให้เห็นว่า ไซแนปส์สามารถกู้คืนมาได้ ดังนั้น ความจำระยะยาวที่หายไป จึงน่าจะฟื้นกลับมาได้เช่นเดียวกัน
แม้ว่างานวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้นต้น แต่ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญทีเดียว
(Some images used under license from Shutterstock.com.)