
© 2017 Copyright - Haijai.com
ยาลดกรด
ยาลดกรดช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร จึงมีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการปวดแสบท้อง เนื่องจากรถในกระเพาะอาหารมีมากเกินไป ยาลดกรดมีทั้งชนิดยาเม็ดและยาน้ำ โดยทั่วไปให้รับประทานยาลดกรดหลังจากรับประทานอาหารแล้ว 1 ชั่วโมง แม้ว่ายาลดกรดจะเป็นยาที่ใช้กันแพร่หลาย แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้หลายประการที่ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้
ยาลดกรดเป็นยาที่ใช้สะเทินฤทธิ์กรดในกระเพาะอาหาร ช่วยรักษาอาการปวดแสบท้องอันเนื่องมาจากกรดมากเกินในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร รูปแบบยาส่วนใหญ่เป็นยารับประทาน
ยาลดกรดทำหน้าที่อย่างไร
ยาลดกรดออกฤทธิ์ได้เร็ว ทำหน้าที่สะเทินกรดน้ำย่อยที่หลั่งในการเพาะอาหาร ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในกระเพาะอาหารมีค่าสูงขึ้น และมีฤทธิ์กัดเยื่อบุกระเพาะอาหารน้อยลง ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคกระเพาะอาหาร เกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างปริมาณของกรดน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากเกิน และมีผลทำให้เกิดแผลบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ก็ยังทำให้เกิดแผลบนลำไส้เล็กส่วนต้นได้ด้วย เมื่อเกิดแผลไม่ว่าจะที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร จะมีอาการปวดแสบท้องเมื่ออิ่ม หรือหลังการรับประทานอาหาร ส่วนผู้ที่มีแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น จะมีอาการปวดแสบท้องเมื่อหิวหรือก่อนมื้ออาหาร
สาเหตุที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดน้ำย่อยมากกว่าปกติ
การที่กระเพาะอาหารหลั่งกรดน้ำย่อยมากขึ้น เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ได้แก่
• ความเครียด
• การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
• การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์
• การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
• การสูบบุหรี่
สาเหตุที่ทำให้เมือกบนเยื่อบุของกระเพาะอาหารมีน้อยกว่าปกติ
เมือกบนเยื่อบุของกระเพาะอาหารมีปริมาณน้อยกว่าปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
• การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
• การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์
• การใช้ยา เช่น ยาแอสไพริน ยาสเตียรอยด์ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาแก้ปวดไอบูโพรเฟน ยาแก้ปวดไดโคลฟีแนค เป็นต้น
• การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori
ประเภทของยาลดกรด
ยาลดกรดมี 2 ประเภท คือ
• ยาลดกรดประเภทที่ถูกดูดซึมได้ดี ยาจะทำปฏิกิริยากับกรดน้ำย่อยได้เร็วมาก ยาไม่ค่อยทำให้แผลหายเร็ว แต่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดีและรวดเร็ว เช่น ยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
• ยาลดกรดประเภทที่ดูดซึมได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย ยาจะออกฤทธิ์โดยการสะเทินกรดน้ำย่อย ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในกระเพาะอาหารมีค่าสูงขึ้น เช่น ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยาแมกนีเนียมคาร์บอเนต ยาแคลเซียมคาร์บอเนต ยาลดกรดประเภทนี้เป็นยาที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่
รูปแบบของยาลดกรด
ยาลดกรดมี 2 รูปแบบ คือ
• ยาน้ำแขวนตะกอน มีลักษณะเป็นยาน้ำขุ่น ยาน้ำประเภทนี้ต้องเขย่าขวดก่อนรินยา
• ยาเม็ด มักเป็นยาเม็ดขนาดใหญ่ นอกจากนี้ก็มีการนำยาลดกรดผสมกับยาขับลง เป็นยาเม็ดเดียว หรือมีการนำยาลดกรดผสมกับยาขับลมและยาลดการปวดเกร็ง
วิธีรับประทานยาลดกรด
ยาลดกรดทั้งชนิดยาน้ำแขวนตะกอนและชนิดเม็ด ต้องรับประทานหลังอาหาร 1 ชั่วโมง โดยทั่วไปรับประทานวันละ 3 ครั้ง แต่หากมีอาการในช่วงกลางคืนด้วย ก็รับประทานก่อนนอนเพิ่มอีกหนึ่งมื้อได้ โดยไม่ต้องรับประทานอาหารก่อนรับประทานยามื้อก่อนนอน
การรับประทานยาลดกรดชนิดยาน้ำแขวนตะกอน ต้องเขย่าขวดยาก่อนรินยา รินยาใส่ช้อน รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ (15-30 ซีซี) ส่วนชนิดยาเม็ดรับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด โดยเคี้ยวเม็ดยาก่อนกลืน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหารได้เลย ยาเม็ดลดกรดส่วนนใหญ่ได้รับการแต่งรสชาติ เพื่อลดรสเฝื่อนของตัวยาช่วยให้เคี้ยวยาได้ง่ายขึ้น
ข้อควรระวังในการใช้ยาลดกรด
• ยาลดกรดอาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสียก็ได้ขึ้นกับตัวยา หากได้รับยาที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม หรือแคลเซียมมากเกินไป อาจทำให้ท้องผูกได้ หากได้รับยาที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียมมากเกินไป อาจทำให้ท้องเสียได้ แต่อาการมักไม่รุนแรงและหายไป เมื่อหยุดยา
• เมื่อใช้ยาลดกรดไปนานๆ ยาลดกรดจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเป็นด่าง (alkalosis) ทำให้รู้สึกไม่สบาย แน่นท้อง ท้องอืดได้
• หากรับประทานยาลดกรดที่มีตัวยาเป็นแคลเซียม ร่วมกับนมจะทำให้เกิดอาการ มิลค์อัลคาไล ซินโดรม (Milk-alkali Syndrome) เนื่องจากนมมีแคลเซียม ตัวยาก็เป็นแคลเซียม จึงมีปริมาณแคลเซียมมากเกิน แคลเซียมไปจับกับอวัยวะต่างๆ เช่น เอ็น เนื้อเยื่อ ทำให้ร่างกายปวดข้อ หรือมีแคลเซียมในไต ทำให้เกิดนิ่วได้ นอกจากนี้ หากท่านรับประทานยาแคลเซียม เพื่อวัตถุประสงค์อื่นด้วย แล้วท่านยังรับประทานยาลดกรดที่มีตัวยาเป็นแคลเซียมอีก ท่านก็จะเกิด มิลค์อัลคาไล ซินโดรม ได้เช่นเดียวกัน ท่านจึงควรบอกแพทย์หรือเภสัชกร เมื่อไปรับการตรวจรักษา หรือรับยาให้ทราบด้วยว่า ท่านรับประทานยาแคลเซียม เพื่อวัตถุประสงค์อื่นอยู่ก่อนแล้วในปริมาณเท่าไหร่
ยาลดกรดเกิดปฏิกิริยาได้กับยาหลายชนิด เนื่องจากยาลดกรดทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในกระเพาะอาหารมีค่าสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการดูดซึมยา อาจทำให้ยาอื่นถูกดูดซึมน้อยลงและออกฤทธิ์ได้ลดลง ดังนั้น จึงควรรับประทานยาลดกรดห่างจากยาอื่นประมาณ 2 ชั่วโมง ในผู้ป่วยโรคไตหรือเป็นนิ่วในไต ไม่ควรใช้ยาลดกรด
ภญ.จิตตวดี กมลพุทธ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)