
© 2017 Copyright - Haijai.com
ตาแดง สังเกตเป็น ลดอันตราย
เชื่อว่าเกือบทุกคนคงจะมีอาการตาแดงมาบ้าง ภาวะตาแดง หมายถึง บริเวณตาขาว (sclera) ที่ปกคลุมด้วยเยื่อบุตาบางๆ มีสีแดงกว่าปกติหรือแดงมากว่าตาอีกข้าง อันเกิดจากหลอดเลอืดบริเวณนั้นขยายตัว เป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์บ่อยอย่างหนึ่ง ตาแดงอาจเกิดจากสภาวะบางอย่าง หรือเป็นโรคตาบางอย่างที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ทำอะไรก็หายเองได้ หรืออาจเป็นโรคตาที่ร้ายแรง ซึ่งควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์
สำหรับบุคคลทั่วไปหากจะคาดเดาว่าตาแดงที่เป็นอยู่ร้ายแรงหรือไม่ ควรมีวิธีสังเกตดังต่อไปนี้
1.ดูขอบเขตตาขาวที่แดงว่า แดงเป็นหย่อมๆ เช่น บริเวณหัวตาอย่างเดียว ส่วนอื่นปกติ หรือแดงทั่วตาขาว หมายถึง แดงทั้งหัวตา หางตา ด้านบน (เมื่อดึงหนังตาบนขึ้น) ด้านล่าง (ถ้าดึงหนังตาล่างลง)
2.ในกรณีที่แดงเป็นหย่อมๆ ให้สังเกตว่าแดงบริเวณใด
• หนังตาบวมแดง โรคบริเวณหนังตา เช่น หนังตาอักเสบ กุ้งยิง ภาวะขนแยงตา หนังตาม้วนเข้า หรือหนังตาแบะออก
• แดงเป็นหย่อมๆ ที่เยื่อบุตาชิดตาดำทั้งหัวตาหรือหางตา ร่วมกับเนื้อเยื่อบริเวณนั้นนูนขึ้นมา มักเป็นบริเวณ 3 และ 9 นาฬิกา (หากเปรียบเทียบตาดำเหมือนหน้าปัดนาฬิกา) ต้อลม ต้อเนื้อ (ถ้ามีเนื้อแลขเข้าตาดำด้วย) ตาแดงจากมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา ซึ่งในกรณีหลังตาจะแดงมากเ เห็นเลือดเป็นปื้นๆ หย่อมๆ ตามบริเวณต่างๆ ความกว้างของบริเวณที่แดงแตกต่างกันไป อาจเล็กหรือกว้างจนเกือบทั่วตาขาว ตาแดงในภาวะนี้จะเห็นเป็นปื้นเลือดชัดเจน ไม่ใช่แดงเพราะหลอดเลือดขยายตัว
• ความแดงดูเหมือนจะลึกทะลุเยื่อบุตาลงไปถึงตาขาว ตาขาวอักเสบ (episcleritis) ตาขาวอักเสบที่มีตุ่มนูน (nodular scleritis)
3.ในกรณีที่ตาแดงกระจายทั่วเยื่อบุตาบริเวณตาขาป็นเยื่อบุตาแดงจริงๆ ควรสังเกตให้ดีว่าตาที่แดงเป็นลักษณะใดใน 2 ลักษณะนี้
Conjunctival injection เป็นตาแดงที่เกิดจากการขยายของหลอดเลือดเยื่อบุตา มักเกิดจากโรคตาที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาด้วยตนเองก่อนได้ หากอาการไม่ดีขึ้นจึงไปพบจักษุแพทย์
Ciliary injection เป็นตาแดงจากการขยายของหลอดเลือดใต้เยื่อบุตาลงไป หรือหลอดเลือดกลุ่มที่อยู่ลึกลงไปและไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ภายในลูกตา มักเกิดจากโรคตาที่รุนแรง ต้องรีบพบจักษุแพทย์
Conjunctival injection |
Ciliary injection |
ตาจะแดงมากกว่า เห็นได้ชัดกว่า เพราะเกิดจากากรขยายของหลอดเลือดส่วนผิวหรือเยื่อบุตา |
ตาจะแดงเรื่อๆ ไม่แดงมาก เพราะเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดใต้เยื่อบุตา ซึ่งอยู่ลึกลงไป |
มักจะแดงบริเวณร่องเยื่อบุตาและจางลงเมื่อใกล้ตาดำ |
แดงมากรอบๆ ตาดำ และจางลงเมื่อไปทางร่องเยื่อบุตา |
เจ็บและเคืองตาไม่มาก แต่อาจมีขี้ตามาก |
เจ็บและเคืองตามาก น้ำตาไหล มักไม่มีขี้ตาที่สำคัญ คือ ตาไม่สู้แสงร่วมกับมีอาการปวดตารุนแรงกว่า |
การมองเห็นปกติ |
มักมีอาการตามัวร่วมด้วย |
ไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย |
อาจมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น กระจกตาบวมผิวกระจกตาไม่เรียบ ม่านตาผิดปกติ |
ความแตกต่างระหว่าตาแดงแบบกระจายทั่ว
ชนิด onjunctival injection และ Ciliary injection
กล่าวโดยสรุปคือ ถ้ามีอาการตาแดงไม่มาก แต่มีน้ำตาไหล ตาไม่สู้แสงมีขี้ตาน้อย ร่วมกับมีอาการปวดตา ตาพร่ามัว น่าจะเป็นตาแดงที่อันตราย ควรรีบมาพบจักษุแพทย์
สำหรับตาแดงที่ไม่อันตรายในภาวะหรือโรคต่างๆ ได้แก่ โรคริดสีดวงเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ ที่เรียกกันว่าตาแดงระบาด เป็นเชื้อเริมที่เยื่อบุตา เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ตาแดงจากการหยอดยาบางชนิด เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ตาแห้ง เป็นต้น แต่ละโรคนอกจากอาการตาแดง ยังมีอาการอื่นๆ แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่รอยโรคจะจำกัดอยู่ที่เยื่อบุตา บางชนิดหายได้เอง บางชนิดใช้ยาแล้วหายเร็วและไม่มีผลต่อสายตา เมื่อหายแล้วเว้นแต่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
ตาแดงอันตรายที่มักพบในภาวะต่างๆ ได้แก่
• ความผิดปกติที่กระจกตา (ตาดำ) อาจเป็นเพียงมีความผิดปกติบริเวณผิว เช่น แผลถลอกเล็กๆ จากถูกแสงเชื่อมโลหะ ไปจนถึงมีการอักเสบเข้าไปถึงชั้นในของตาดำ ตลอดจนเป็นแผลเปื่อยของตาดำทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา ปรสิต ตลอดจนหลายๆ กรณีที่อาจไม่พบเชื้อโรคชัดเจน แต่ตาดำอักเสบและเปื่อยยุ่ยจนทะลุได้ แม้บางรายรักษาแผลอักเสบหายดีแล้ว แต่ตาดำมีแผลเป็นทำให้ตามัวลงได้
• โรคของตาขาว (sclera) ได้แก่ ภาวะตาขาวอักเสบ ซึ่งมักพบร่วมกับโรคทางกาย หรือผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ ม่านตาอักเสบ โณคเหล่านี้ หากไม่รับการรักษาอาจตามด้วยต้อกระจก ต้อหิน และลงเอยด้วยตาบอดในที่สุด
• ความผิดปกติส่วนในลูกตา ภายในช่องหน้าตา (anterior chamber) ได้แก่ ภาวะเลือดออกในช่อหน้าตา (hyphema) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้หลอดเลือดบริเวณมุมตาฉีกขาด เลือดไหลมาในช่องหน้าตา หากรักษาไม่ทันในรายที่มีเลือดออกมากทำให้ตาบอดได้ อีกโรคในกลุ่มนี้ที่สำคัญคือ ภาวะความดันตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีทั้งที่ไม่ทราบสาเหตุ คือ ต้อหินเฉียบพลันชนิดไม่ทราบสาเหตุที่มักพบในหญิงสูงอายุ และภาวะความดันตาสูงเฉียบพลันที่ทราบสาเหตุ เช่น ภาวะ เกิดจากต้อหินชนิดหลอดเลือดเกิดใหม่ (neovascular glaucoma) มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวานมีโรคของหลอดเลือดอุดตัน ตลอดจนต้อหินอันเป็นภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก ที่ต้อแก่เกินไป เป็นต้น ภาวะความดันตาสูง นอกจากตาแดงแล้วยังมีอาการเจ็บปวด และตาอาจบอดได้โดยไม่มีทางแก้ไข บางคนนอกจากตาบอดแล้ว ยังมีอาการปวด ตาแดง ทรมานไปอีกนาน
โดยสรุป ถ้าเป็นตาแดงที่เยื่อบุตากรายทั่วตา ควรสังเกตอาการต่างๆ ที่แยกให้ได้ว่าเป็นตาแดงไม่อันตรายหรืออันตราย หากเข้าข่ายตาแดงอันตรายควรพบจักษุแพทย์ทันที หากเป็นชนิดไม่อันตราย อาจลองใช้ยาหยอดตาฆ่าเชื้อโดยปรึกษาจากเภสัชกรตามร้านขายยาไปก่อนเบื้องต้น หากอาการไม่ดีขึ้นค่อยปรึกษาจักษุแพทย์ต่อไป ตาแดงจึงอาจเป็นได้ทั้งเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ที่ควรให้ความสนใจ
ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)