
© 2017 Copyright - Haijai.com
แคปซูลยา
สารพัดยาที่อยู่รอบตัวเรานั้น แน่นอนว่ายาที่เป็นของแข็งคงมีเปอร์เซ็นต์ที่สูง เมื่อเจาะลึกเข้าไปอีก ยาที่เป็นของแข็งที่เราคุ้นเคยนอกจากยาเม็ดแล้ว ก็ยังมีแคปซูลหลากสี ทั้งเม็ดเดียวสีเดียว เม็ดเดียวสองสีที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเรา ดังสถิติจากสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า ยาที่เป็นของแข็งในท้องตลาดเป็นยาเม็ดร้อยละ 75 อีกร้อยละ 23 เป็นแคปซูลเปลือกแข็ง และส่วนที่เหลือเป็นแคปซูลเปลือกนิ่ม
จุดเด่นที่เห็นได้ชัดของแคปซูลได้แก่การที่แคปซูลกลืนง่าย เนื่องจากแคปซูลส่วนมากมีรูปร่างยาว ช่วยให้ลิ้นเคลื่อนเปลือกแคปซูลลงคอได้ง่าย นอกจากนี้เปลือกแคปซูลยังสามารถปกปิดรสชาติของผงยาที่อยู่ข้างในได้ จึงทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการใช้ยามากขึ้น เมื่อพิจารณาในแง่ของการดูดซึมยา เปลือกแคปซูลโดยทั่วไป จะละลายเมื่ออยู่ในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว ทำให้การปลดปล่อยตัวยาออกจากแคปซูลรวดเร็วตามไปด้วย เนื่องจากผงยาในแคปซูลไม่ได้ถูกตออกอัดเหมือนอย่างยาเม็ด ผงยาจึงสามารถละลายในของเหลวที่ระบบทางเดินอาหารได้ทันที การดูดซึมยา จึงเร็วขึ้นและสามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว มีความเข้มข้นของตัวยาออกฤทธิ์ในกระแสเลือดสูง
แคปซูลมีด้วยกันหลายรูปแบบ สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ แคปซูลเปลือกแข็งและแคปซูลเปลือกนิ่ม โดยแคปซูลเปลือกแข็งมักจะมีลักษณะเป็นทรงยาว หัวมน ส่วนใหญ่ใช้รับประทาน สิ่งที่บรรจุภายในมีทั้งของแข็ง กึ่งของแข็ง และของเหลว โดยอุณหภูมิสูงสุดของยาที่สามารถบรรจุได้ โดยไม่ทำให้เปลือกแคปซูลเสียสภาพอยู่ที่ 70 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำในเปลือกแคปซูลประมาณร้อยละ 10-16 และเนื่องจากสารสร้างความยืดหยุ่น (plasticizer) ของแคปซูลเจลาตินชนิดเปลือกแข็งเป็นน้ำ ทำให้เมื่ออยู่ในที่แห้งเปลือกแคปซูลจะเปราะง่าย
ในขณะที่แคปซูลเปลือกนิ่มมักมีลักษณะเป็นทรงกลมและทรงรี หรือเป็นรูปหลอดกรณีบรรจุยาสำหรับใช้ทางผิวหนัง ส่วนใหญ่ใช้รับประทาน พบการบรรจุยาสำหรับใช้ในทางอื่นได้มากกว่าแคปซูลเปลือกแข็ง เช่น บรรจุยาสำหรับทาผิวหนัง ยาเหน็บทวารและช่องคลอด เป็นต้น
สิ่งที่บรรจุภายในเป็นของเหลวและกึ่งของแข็ง อุณหภูมิสูงสุดของยาที่เติมลงไปในเปลือกแคปซูล โดยไม่ทำให้เปลือกเสียสภาพคือ 35 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำในเปลือกแคปซูลอยู๋ที่ประมาณร้อยละ 20-30 โดยน้ำหนัก จึงไม่เหมาะกับยาที่สลายตัวเมื่อถูกความชื้น นอกจากน้ำยังมีการเสริมสารสร้างความยืดหยุ่นชนิดอื่นเข้าไปด้วย เปลือกแคปซูลจึงมีความยืดหยุ่นมากกว่า
ส่วนประกอบของเปลือกแคปซูล
• เจลาติน เป็นส่วนประกอบสำคัญของเปลือกแคปซูล เกิดจากการนำคอลลาเจนจากกระดูกหรือหนังสัตว์ มาผ่านการสลายตัวด้วยน้ำ ความชื้นมีผลต่อความคงสภาพของเจลาติน ดังจะเห็นได้จากการที่แคปซูลเปลือกแข็ง ถ้าอยู่ในที่มีความชื้นต่ำจะเปราะง่าย ในปัจจุบันมีการพัฒนาสารอื่นมาใช้แทนเจลาติน เช่น ไฮดร็อกซี่พรอพิลเมทิลเซลลูโลส ในกรณีแคปซูลเปลือกแข็ง ซึ่งมีข้อดีคือความชื้นไม่มีผลต่อสภาพของมันมากเท่ากับเจลาติน แต่โครงสร้างของมันมีรูพรุนมากกว่าเจลาติน แต่โครงสร้างของมันมีรูพรุนมากกว่าเจลาติน ทำให้อากาศผ่านเข้าไปภายในแคปซูลได้มากกว่า ส่วนในกรณีแคปซูลเปลือกนิ่ม มีการวิจัยส่วนผสมของสารจากพชและสารสังเคราะห์ต่างๆ เช่น แป้ง คาราจีแนนโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ เป็นต้น เพื่อใช้แทนเจลาติน
• สารสร้างความยืดหยุ่น ในกรณีของแคปซูลเปลือกแข็ง น้ำที่มีอยู๋ในเจลาตินจะมีบทบาทเป็นสารสร้างความยืดหยุ่น ในแคปซูลเปลือกนิ่มจะมีการใส่สารสร้างความยืนหยุ่นตัวอื่น เช่น กลีเซอรอล เป็นต้น ในสัดส่วนที่สูงถึงประมาณร้อยละ 30 โดยน้ำหนัก เพื่อให้เปลือกแคปซูลมีความยืดหยุ่นที่ดี
• สารกันเสีย เนื่องจากเชื้อราและแบคทีเรีย สามารถเจริญเติบโตบนเจลาตินได้ จึงต้องมีการใส่กันเสียลงไป เพื่อความคงสภาพของเปลือกแคปซูล สารกันเสียที่ใช้ได้แก่ โปแตสเซียมซอร์เบต เมทิลไฮดร็อกซี่เบนโซเอต เป็นต้น
• สารแต่งสี และ/หรือ สารทึบแสง ใช้เพื่อเพิ่มความสวยงามของแคปซูล ตลอดจนกันแสงไม่ให้เข้าไปทำให้ยาในแคปซูลเสื่อมสภาพเร็ว
ปัจจุบันมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านเภสัชกรรม เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของแคปซูลยาให้เป็นไปตามที่ต้องการและง่ายต่อการเก็บรักษามากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการเคลือบและผนึกแคปซูลเปลือกแข็ง ในกรณีที่บรรจุของเหลว เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยารั่วซึมออกมา หรือเทคโนโลยี Licaps ที่มีการบรรจุก๊าซไนโตรเจนเข้าไป เพื่อแก้ปัญหายาเสื่อมสภาพจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน และการปรับคุณสมบัติของเปลือกแคปซูล ให้มีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันความชื้นและอากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับยาในแคปซูล
แคปซูลจึงนับเป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์หนึ่ง ที่มีความหลากหลาย และเป็นคำตอบของการผลิตยาในปัจจุบันและอนาคตต่อไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)