Haijai.com


รู้ทันอัลไซเมอร์ ก่อนลืมคนที่คุณรัก


 
เปิดอ่าน 1788

รู้ทันอัลไซเมอร์ ก่อนลืมคนที่คุณรัก

 

 

แน่นอนว่า เราไม่สามารถอยู่อย่างเป็นอมตะได้ ในเมื่อความชราย่างกรายเข้ามาก็เป็นธรรมดาที่โรคต่างๆ จะตามมาอย่าเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ โรคอัลไซเมอร์ โรคที่ใครๆ ต่างไม่อยากเผชิญ เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันไม่น้อย ทั้งการดำเนินชีวิต และผลที่ร้ายแรงที่สุดคือหลงลืมคนที่ตัวเองรัก แต่หากเป็นแล้วต้องทำอย่างไร หรือจะดูแลคนที่คุณรักอย่างไรให้แฮปปี้อยู่กับเราตลอดเวลา ที่สำคัญการป้องกันและดูแลตัวเองที่ถูกวิธี แม้จะบอกลาโรคนี้ไม่ได้ 100% แต่ก็มีโอกาสเกิดโรคน้อยลง

 

 

อัลไซเมอร์ โรคที่หาสาเหตุไม่ได้

 

แม้ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่สามารถทราบสาเหตุได้แน่ชัด แต่อย่างน้อยการศึกษาต่างๆ บอกเป็นไกด์ให้รู้ได้ว่า สมองเกิดการเปลี่ยนแปลงไปทางพยาธิสภาพอย่างไร หากนำสมองผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะสามารถเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน และเชื่อว่าอัลไซเมอรอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ได้ดังนี้

 

 

 พันธุกรรม มียีนส์บางชนิดที่ทำให้คนไข้มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้นหรือเป็นโรคได้เร็วขึ้น หรือมีประวัตาครอบครัวที่มีผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูง

 

 

 ผู้ที่ไม่ทำกิจกรรม ไม่ออกกำลังกาย ไม่ชอบทำกิจกรรมใดๆ หมกตัวอยู่แต่ในบ้าน ชอบการอยู่เฉยๆ

 

 

 อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป เสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์มากที่สุด และโดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวอื่นๆ ซึ่งโรคประจำตัวเหล่านั้นอาจทำให้มีปัญหาบริเวณสมองร่วมด้วย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้โรคอัลไซเมอร์แย่ลงไปอีก

 

 

 การศึกษา ผู้ที่มีการศึกษาสูงเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ได้ช้ากว่า เนื่องจากสมองได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา

 

 

 สภาพแวดล้อม ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่มีการดูแลใส่ใจ หรือไม่ได้รับการเอาใจใส่จากครอบครัว จะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าผู้ที่ใส่ใจดูแลตัวเอง

 

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นอัลไซเมอร์

 

1.มีความสามารถของสมองลดลง เช่น ความสามารถในการจำ ขี้ลืม หรือความสามารถทางกายภายลดลง เช่น ลืมว่าติดกระดุมอย่างไร ตักข้างอย่างไร ความสามารถในการคิดเลข การพูด เป็นต้น

 

 

2.มีผลต่อชีวิตประจำวัน ความสามารถที่ลดลงเป็นปัญหาและรบกวนชีวิตประจวัน อาจถึงขั้นไม่สามารถช่วยตัวเองได้

 

 

เมื่อมาพบแพทย์

 

1.สอบถามประวัติ แพทย์จะทำการซักประวัติ ทั้งประวัติครอบครัว และมีการดำเนินโรคว่าเป็นมาได้อย่างไร

 

 

2.ตรวจร่างกาย ผลการตรวจร่างกาย เพื่อดูว่าเข้ากันกับโรคอื่นๆ หรือไม่ เช่น โรคพาร์กินสัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง

 

 

3.ตรวจเพิ่มเติม แพทย์จะตรวจดูตามความเหมาะสม เช่น ตรวจเลือด เพื่อดูความผิดปกติบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์ โรคเกลือแร่ผิดปกติ โรคไตเรื้อรัง หรือตรวจเอ็กซเรย์สมอง และประเมินสมอง โดยนักจิตวิทยา เช่น ประเมินความสามารถทางภาษา ความจำ และอื่นๆ

 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิวัฒนาการต่างๆ ได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้าไปมากทั้งการตรวจด้วยการทำแบบสอบถาม การสแกนสมอง หรือการตรวจหาน้ำจากไขสันหลัง แม้จะไม่สามารถทราบสาเหตุและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การรู้ล่วงหน้าด้วยการตรวจค้นโรค ก็อาจช่วยปรับพฤติกรรมช่วยชะลอโรคได้ดี

 

 

2 วิธีรักษาอัลไซเมอร์

 

การใช้ยา จะมียากลุ่มหนึ่งที่คอยไปเพิ่มสารแอซิดิลโคลีน (Acetylcholine) ในสมองที่มีผลต่อความจำและความสามารถของมนุษย์ ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีสารเหล่านี้ลดลง นอกจากนี้ยายังช่วยยับยั้งการทำลายสารแอซิติล โคลีนในเนื้อสมอง ซึ่งส่งผลให้ระดับสารตัวนี้สูงขึ้นได้บ้าง ทำให้ยานี้มีส่วนช่วยให้การเสื่อมของสมองช้าลง

 

 

ไม่ใช้ยา ได้แก่ เรื่องทั่วๆ ไป ที่ผู้ดูแลหรือญาติต้องช่วยกัน เนื่องจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีอาการทั้งหลงลืมและความสามารถทั่วไป ลดลงจนอาจถึงขั้นช่วยตัวเองไม่ได้ ญาติและผู้ดูแลจึงต้องดูแลเป็นพิเศษ

 

 

อัลไซเมอร์ใครก็ป้องกันได้

 

1.ดูแลสุขภาพทั่วไป รับประทานอาหารหลักให้ครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม

 

 

2.พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนที่เพียงพอ จะช่วยให้สมองได้รับการพักและฟื้นฟูด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

3.ออกกำลังกาย การออกกำลังกายในที่นี้คือการออกกำลังกายอย่างจริงจัง อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน

 

 

4.ออกกำลังสมอง แอคทีฟอยู่เสมอ มีการเคลื่อนไหวเยอะ มีการเข้าสังคม หรือแม้แต่เล่นเกมส์ โดยที่ไม่ได้ปล่อยให้สมองอยู่นิ่งเฉย

 

 

5.งดเครื่องดื่มทำลายสมอง แอลกอฮอล์ทั้งหลายจะทำให้เซลล์สมองค่อยๆ เสื่องลง

 

 

6.รับประทานอาหารเสริมพลังสมอง เช่น อาหารประเภทเมติเตอร์เรเนี่ยน (Mediterranean Diet) เช่น ผัก ถั่ว ซีเรียล ปลา อาหารที่ไม่มีไขมันอิ่มตัว จะช่วยป้องกันการเสื่องของเซลล์สมอง และทำให้แข็งแรงขึ้นได้

 

 

วิตามินป้องกันอัลไซเมอร์ได้จริงหรือ?

 

ปัจจุบันหลายคนพยายามหาวิธีการหลากหลายในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะด้วยวิตามิน อาหารเสริมต่างๆ นานา เพื่อบำรุงสมอง มีการทำการศึกษาในกลุ่มวิตามินทีช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์อยู่หลากหลาย แต่ก็ยังไม่พบว่าจะมีวิตามินกลุ่มใดหรือชนิดใดได้ผลเป็นพิเศษ

 

 

การดูแลผู้ป่วย

 

ปัจจุบันปัญหาที่พบมากทุ่สดคือ ญาติส่วนใหญ่ไม่ยอารับว่า ผู้ป่วยป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จึงได้ทำการสรรหาวิธีการรักษาแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยไสยศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม ระหว่างการตามล่าหาวิธีการต่างๆ นี้ เป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยถูกละทิ้ง แต่โรคก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทำให้อาการอานหนักมากขึ้น หรืออาการอาจทรงๆ ทรุดๆ และผู้ป่วยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการความช่วยเหลือ การรับรู้และเข้าใจประกอบกับการสังเกตผู้ป่วยอยู่เสมอจะทำให้เราสามารถวางแผน และปรับเปลี่ยนการดูแลผู้ป่วยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

 

เมื่อมีโรคแทรกซ้อน

 

ต้องทำใจว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่มากับผู้สูงอายุ โรคร่วมอื่นๆ ก็หลีกไม่พ้นโรคประจำตัวของผู้สูงอายุอย่างแน่นอน และโรคที่มีผลโยตรงกับโรคอัลไซเมอร์ คือ โรคหลอดเลือดสมอง มักจะมากับผู้ป่วยที่มีความดันสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรตรวจหาโรคร่วมต่างๆ ด้วย เพื่อให้การรักษาและป้องกันไม่ให้สมองได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากโรคอื่นๆ

 

 

ทำอย่างไรเมื่อผู้ป่วยมีอาการทางจิต

 

อาการทางจิต เกิดจากสภาพจิตใจอารมณ์ เป็นระบบหนึ่งของสมองเช่นกัน เช่น การยับยั้งชั่งใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจจะลดลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป จากคนใจดีอาจกลายเป็นใจร้าย จากคนใจเย็นอาจจะใจร้อนมากขึ้น หากอาการเป็นมากจะมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอนได้ ควรสังเกตผู้ป่วยอยู่เสมอและรีบปรึกษาแพทย์ โดยที่แพทย์อาจพิจารณาใช้ยา เพื่อลดอาการทางจิต ทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 

 

สิ่งสำคัญของการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ ผู้ป่วยควรได้รับการเข้าสังคม หากอยู่แต่บ้าน เก็บตัวอยู่ในห้องอย่างเดียว จะทำให้อาการยิ่งแย่ลง การเข้าสังคมจะเป็นการกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

 

 

นายแพทย์โชติพัฒน์ ด่านชัยวิจิตร

แพทย์ศูนย์สมอง

โรงพยาบาลกรุงเทพ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)