Haijai.com


พัฒนาการด้านร่างกายเจ้าหนูวัยเตาะแตะ 2-3 ขวบ


 
เปิดอ่าน 1728

Physical Development พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวของเจ้าหนูวัยเตาะแตะ

 

 

การพัฒนาทางด้านร่างกายที่คู่ขนานพร้อมไปกับการพัฒนาด้านจิตใจ เป็นการพัฒนาที่จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ให้เวลาจากผู้ใหญ่ พ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด สำหรับเด็กวัยเตาะแตะ พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตว่าเด็กได้ตอบสนองทุกครั้งเมื่อได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมหรือไม่ หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป

 

 

เรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว

 

เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของชีวิต หนูน้อยต้องการเวลา และการได้รับการเอาใจใส่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน ต้องการพื้นที่ใช้ในการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหว โดยมีส่วนร่วมในการเลือกกิจกรรมด้วยตนเอง และการร่วมเล่นกิจกรรมกับผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน หรือในบางครั้งเด็กเป็นผู้เริ่มต้นในกิจกรรมที่ตนเองชอบ เด็กในวัยนี้ยังคงไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือการทำงานประสานกันระหว่าง ตา มือ และเท้า ยังไม่สมบูรณ์มากนัก เด็กต้องการเวลา โอกาส และการทำซ้ำๆ โดยการช่างสังเกตของผู้ใหญ่ ที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือในบางครั้ง และในบางเรื่องที่เด็กยังไม่สามารถทำได้ หรือยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก

 

 

ผู้ช่วยตัวจิ๋ว

 

สำหรับหนูน้อยตัวจิ๋ววัย 2 ขวบแล้วหากกิจวัตรประจำวันได้ถูกจัดไว้เหมือนๆ กันทุกวัน เด็กจะสามารถคาดเดาได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความมั่นใจต่อตนเองมากยิ่งขึ้น หรือต้องการมีส่วนร่วม เช่นการช่วยเหลือตนเอง หรือช่วยหยิบของให้คุณแม่ เพราะคุณแม่จะใช้ของชิ้นนั้นทุกครั้งไป หรือของที่ตนเองต้องการอยู่ตรงไหน หากต้องเปลี่ยน หรือจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวหนูน้อยใหม่ หากคุณแม่แจ้งหรือขอความคิดเห็น จะทำให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นตัวตน และการได้รับความใส่ใจ เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเด็กเองได้มากขึ้น

 

 

 เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ดีในการได้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้ช่วยตัวจิ๋วของผู้ใหญ่ในงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เด็กรู้สึกถึงความเชื่อมั่นที่ผู้ใหญ่มีให้หากได้รับการสนับสนุนชมเชย แม้เป็นงานเล็กน้อย เด็กจะรู้สึกถึงความสำเร็จว่า “นั่นเป็นผลงานของหนู”  “หนูทำสำเร็จแล้ว”

 

 

 เด็กวัย 2- 3 ขวบสนุกกับการได้เป็นผู้ช่วยในกิจกรรมการเก็บข้าวของ ของเล่น เด็กเรียนรู้การจัดเก็บของที่เหมือนกัน การจัดเก็บของเป็นหมวดหมู่ การจัดเก็บของเข้าที่เดิม บางครั้งยังสามารถแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการจัดเก็บในรูปแบบใหม่ๆ  อีกด้วย

 

 

 เด็กวัยนี้เรียนรู้ถึงการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนวัยเดียวกัน เช่น “มาช่วยกันยกตะกร้าใบนี้ไปเก็บ เพราะมันหนักมาก” หรือ “ฉันจะหยิบจาน แม็กเธอหยิบช้อนน่ะ” เด็กๆ เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์และการพึ่งพาผู้อื่น

 

 

 นอกจากการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นแล้ว การช่วยกันจัดโต๊ะอาหาร จัดเครื่องดื่ม การจัดอาหารว่าง ยังมีประโยชน์แฝงที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ถึงการนับ สี ขนาด รูปทรง การรู้จักชื่อของอาหาร เครื่องดื่ม ขนม การช่วยจัดโต๊ะอาหารช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวการทำงานประสานกันของตา มือ การได้ยิน การฟัง การสื่อสาร ได้เป็นอย่างดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)