© 2017 Copyright - Haijai.com
ภาวะแฝงที่ควรต้องรู้ หากคิดทำศัลยกรรมความงาม
ข่าวคราวการทำศํลยกรรมแล้วเสียชีวิตของบุคคลที่ต้องใช้รูปร่างหน้าตาเป็นใบเบิกทางในการดำรงชีวิต ดังที่เห็นในข่าวล่าสุด ที่นักร้องสาวชาวจีนรายหนึ่งทำศัลยกรรมใบหน้าแล้วเสียชีวิต จากกรณีดังกล่าวคงทำให้ใครหลายคน นึกกลัวการทำศัลยกรรมความงาม เพราะไม่อยากเอาชีวิตไปเสี่ยงบนเตียงผ่าตัด แต่ถ้าหากได้ลองพิจารณาจากเรื่องราวต่อไปนี้แล้ว รับรองว่าใครหลายคนอาจมีทัศนคติเรื่องการทำศัลยกรรมในด้านบวมมากขึ้น เพราะความจริงแล้วโอกาสที่คนๆ หนึ่งทำศัลยกรรมแล้วเสียชีวิตนั้น ถือว่ามีโอกาสเป็นได้น้อยมาก เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมของภาวะแฝงที่ชื่อว่า “Malignant Hyperthermia”
ภาวะ Malignant Hyperthermia หรือ MH เป็นภาวะเกี่ยวข้องกับการชะงักลมหายใจ จากการวางยาสลบในขั้นตอนศัลยกรรมปฏิกิริยาสนองของร่างกายต่อโรคนี้ก็คือ การที่กล้ามเนื้อเกิดการหดรัดแน่น ที่มาจากเซลล์กล้ามเนื้อเกร็ง มีไข้สูง และกล้ามเนื้อหยุดทำงาน แม้ว่าจะเป็นภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สามารถทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ ในอีกทางหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าต้องขึ้นอยู่กับความโชคร้ายของแต่ละบุคคล เพราะการที่กลไกในร่างกายหยุดทำงานนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ดังเช่นในรายงานเมื่อปี 1960 และ 1970 ที่มีประชากรร้อยละ 80 เสียชีวิตเพราะภาวะ MH แต่ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 10 เนื่องจากมีการแพทย์พัฒนารุดหน้าไปมาก จึงสามารถรับมือกับความเสี่ยงของภาวะ MH ที่อาจเกิดขึ้น
ภาวะ Malignant Hyperthermia คืออะไร
Malignant Hyperthermia (MH) หรือการแพ้ยาสลบ เป็นภาวะที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองผิดปกติกับยาสลบ ส่งผลต่อกลไกต่างๆ ในร่างกาย เช่น ร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนสูงจัด กล้ามเนื้อเกร็งทั่วทั้งร่างกาย หรือมีภาวะเลือดเป็นกรดเป็นต้น ซึ่งผลจากความผิดปกติเหล่านี้ สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ภาวะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงหากพบว่าคนในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันกับคนไข้มีประวัติการเกิดภาวะ MH มาก่อน
สำหรับกลุ่มยาระงับความรู้สึกที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะ MH คือ ยาในกลุ่ม Sevoflurane, Desflurane, Isoflurane, Halothane, Enflurane และ Methoxyflurane กลุ่มยาระงับความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่มีประสาทสัมผัสไว เพราะฤทธิ์ของยาจะตรงเข้าชะงักการทำงานของกล้ามเนื้อ ดังนั้น หากคนไข้มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะเกิดภาวะ MH ก็ควรใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ฉีดยาชาบล็อกหลัง หรือใช้ยาชนิดหยดเข้าเส้นเลือด TIVA (Total Intravenous Anesthesia)
กระบวนการของภาวะ MH ที่นำไปสู่การเสียชีวิต
ตามกระบวนการภายในร่างกายที่มีปฏิกิริยาภาวะ MH ถือว่าเป็นภาวะที่ร่างกายไวต่อการตอบสนองของการสร้างโปรตีนในเซลล์กล้ามเนื้อ เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายแคลเซียมที่ก่อให้เกิดการชะงัก การสร้างโปรตีนร่างกายต้องดึงแคลเซียมออกมาใช้ทดแทนโปรตีนที่สูญเสียไป มีการเร่งสูบฉีดเลือดเพื่อกระตุ้นระดับโปแตสเซียมและโปรตีนให้ร่างกายนำไปสร้างเป็นพลังงาน ปฏิกิริยาเร่งแบบนี้มีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อ และการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่หัวใจ ดึงไปหล่อเลี้ยงสมองไม่ทัน เนื่องจากมีเลือดคั่งที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งอย่างรุนแรง เมื่อระบบไหลเวียนโลหิตที่มีปัญหา ย่อมส่งผลให้อวัยวะไตหยุดทำงานระบบต่างๆ ในร่างกายก็ชะงักลง ส่งผลให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
อัตราเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้ศัลยกรรม
ในทฤษฎีทางการแพทย์ก็มีรายงานระบุว่าความผิดปกติทางพันธุกรรมที่นำไปสู่ภาวะ MH มีอย่างน้อย 80 รายการ แต่กลับมีเพียงผลเดียวที่จะนำมาเป็นข้อสรุปได้คือ มันมีอัตราเสี่ยงต่ำในการเกิดขึ้นกับคนไข้อีกทั้งไม่มีรูปแบบตายตัวแน่นอน และไม่มีรายงานที่บ่งชี้ถึงรูปแบบการตรวจหาภาวะ จากผลการวิจัยล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนปี 2008 ตีพิมพ์ลงในวารสาร Anesthesiology ของสหรัฐฯเผยว่า ภาวะ MH เกิดขึ้นจากการที่เซลล์กล้ามเนื้อหยุดทำงาน
แนวทางการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น
การวินิจฉัยความเสี่ยงภาวะ Malignant Hyperthermia สามารถทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ต้องเป็นชิ้นเนื้อตรงบริเวณกระดูกต้นขา เพราะกลไกลกล้ามเนื้อบริเวณนี้สามารถตอบสนองการหยุดชะงักได้ จึงทำให้รู้ถึงความเสี่ยงได้ทันทีว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนไข้หรือไม่ สำหรับขั้นตอนการวินิจฉัยภาวะ MH ในสถานพยาบาลของต่างประเทศ ถือเป็นบริการเสริมที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 6,000 เหรียญทีเดียว แม้ว่าจะเป็นการวินิจฉัยของคลินิกแพทย์แห่งเล็กๆ เท่านั้น ทำให้สถานพยาบาลส่วนใหญ่มีการวินิจฉัยเบื้องต้น แค่ตรวจเลือดเท่านั้น
สัญญาณเตือนที่ไม่ควรละเลย
ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายอันดับแรก คือ ค่าเฉลี่ยระดับก๊าซ CO2 ในร่างกายสูงผิดปกติระหว่างทำการผ่าตัดต้องเครื่องช่วยหายใจ อวัยวะส่วนกรามใบหน้าเปิดกว้าง ไม่สามารถปิดสนิทได้ เพราะมีเซลล์กล้ามเนื้อบางส่วนไม่ทำงาน มีภาวะหดเกร็ง มีสีของปัสสาวะเป็นสีดำคล้ายสีโคล่า อัตราเต้นของหัวใจไม่เป็นปกติ อุณหภูมิร่างกายสู.จัดถึง 110 องศา เซลเซียส ร่างกายขับของเหลวออกมามากผิดปกติ หากร่างกายคนไข้มีปฏิกิริยาตอบสนองคล้ายคลึงกับลักษณะดังกล่าว ศัลยแพทย์ควรเช็คกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อแขน-ขา กล้ามเนื้อท้อง และกล้ามเนื้อหน้าอก
แต่ถ้าขณะทำการผ่าตัดไม่เกิดปฏิกิริยาตอบสนองดังกล่าว ควรรอดูอาการประมาณ 4-6 ชั่วโมง ก่อนทำการรักษาขั้นต่อไป ซึ่งหลังการผ่าตัดแล้ว คนไข้เองก็สามารถสังเกตอาการด้วยตัวเองได้ ดังนี้คือ เหงื่อออกขณะนอนหลับตอนกลางคืน เป็นตะคริว อ่อนเพลีย รู้สึกคลื่นไส้ มีอาการวิงเวียนศีรษะ ผิวหนังปรากฏเป็นจ้ำเลือด รู้สึกกระหายน้ำมาก มีอาการวดศีรษะ มีไข้ต่ำ รู้สึกร้อนตลอดเวลา (Heat intolerance) ความดันเลือดสูงผิดปกติ รู้สึกเครียด หรือรู้สึกกังวล เป็นต้น
แนวโน้มการรักษาเมื่อเกิดภาวะ MH
หากคนไข้มีอาการเข้าข่ายภาวะ MH ศัลยแพทย์สามารถทำการรักษาอาการเบื้องต้นได้ โดยการกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อด้วยยา Dantrolene ที่มีคุณสมบัติทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว โดยการยับยั้งการปล่อย calcium จาก sarcoplasmic reticulum เป็นผลให้ลดความสามารถในการหดตัวของกล้ามเนื้อ และเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวิสัญญีแพทย์ในประเทศไทย ทำให้ขาดบุคลากรที่มีความรู้ในเรื่องการจัดหาและนำเข้าตัวยา Dantrolene อีกทั้งบางครั้งตัวยา Dantrolene ที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้ก็ขาดแคลน เนื่องจากยามีอายุเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ก็เป็นผลมาจาก การที่วงการแพทย์ในประเทศไทยมองว่าภาวะ MH เป็นภาวะที่มีโอกาสต่ำมากที่จะเกิดขั้นกับคนไข้ในรายหนึ่งๆ นั่นเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)