© 2017 Copyright - Haijai.com
คลอโรฟิลล์
คลอโรฟิลล์เป็นชื่อกลุ่มรงควัตถุ (เม็ดสี) สีเขียวซึ่งประกอบไปด้วยสารหลายชนิด เช่น คลอโรฟิลล์ เอ คลอโรฟิลล์ บี เกลือทองแดงของคลอโรฟิลลิน (Chlorophyllin) สารอื่นๆ ในกลุ่มพอไฟรินส์ (Porphyrins) และคลอรินส์ (Chlorins) เป็นต้น คลอโรฟิลล์พบได้ในสิ่งมีชีวิตที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ โดยทำหน้าที่จับพลังงานแสงเพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำเป็นน้ำตาลและออกซิเจน อาหารที่เป็นแหล่งสำคัญของคลอโรฟิลล์ คือ ผักใบเขียวและสาหร่าย
ผักใบเขียวที่มีคลอโรฟิลล์มาก ได้แก่ คะน้า ผักขม บรอกโคลี อย่างไรก็ตามปริมาณคลอโรฟิลล์ในพืชขึ้นอยู่กับสารอาหารในดิน คลอโรฟิลล์เป็นสารที่ไม่ทนต่อความร้อนและความเป็นกรดด่าง ความร้อนและความเปรี้ยวจากการปรุงอาหารสามารถเปลี่ยนคลอโรฟิลล์เป็นสารอนุพันธ์อื่นๆ อีกหลายชนิดซึ่งไม่ทราบฤทธิ์ทางชีวภาพที่แน่ชัด
เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาถึงประโยชน์ทางโภชนาการของคลอโรฟิลล์ จึงไม่มีหน่วยงานใดรายงานถึงปริมาณคลอโรฟิลล์สูงสุดที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน (Recommended Dietary Allowances RDAs) คลอโรฟิลล์มีจำหน่ายเฉพาะในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเกลือทองแดงของคลอโรฟิลลินมีจำหน่ายในรูปแบบของสารแต่งสีจากธรรมชาติ
ผลของคลอโรฟิลล์ต่อร่างกาย
คลอโรฟิลล์เป็นสารที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพช่องปา (เช่น หมากฝรั่ง ยาสีฟัน) เนื่องจาก “คาดว่า” มีฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด เช่น ฤทธิ์สมานแผล ต้านการอักเสบ ลดกลิ่นกาย ฤทธิ์ป้องกันโรคหัวใจโคโรนารี (Coronary Heart Disease) ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง มะเร็งบางชนิดและต้อกระจก อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษายืนยันฤทธิ์ต่างๆ ที่กล่าวตามข้างต้น
คลอโรฟิลล์เป็นสารเคมีที่รับอิเล็กตรอนจากปฏิกิริยาสังเคราะห์ด้วยแสงและยังสามารถจับกับโลหะหนักได้ จึงมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี จึงมีแนวคิดว่าคลอโรฟิลล์สามารถใช้เป็นสารต้านมะเร็งได้ แม้ว่างานวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองหลายฉบับรายงานฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของคลอโรฟิลล์ แต่ไม่พบการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งในมนุษย์ จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าคลอโรฟิลล์มีฤทธิ์รักษามะเร็งหรือไม่
คลอโรฟิลล์เป็นสารเคมีจากพืชที่ร่างกายได้รับในปริมาณมากที่สุด การรับประทานคลอโรฟิลล์จากอาหารไม่ก่ออันตรายแก่ร่างกาย ในปัจจุบันไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของคลอโรฟิลล์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ปฏิกิริยาระหว่างยา
ไม่มีการศึกษาถึงปฏิกิริยาระหว่างยาและคลอโรฟิลล์ อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคลอโรฟิลล์พร้อมยา สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคลอโรฟิลล์ เนื่องจากไม่มีข้อมูลความปลอดภัย และประโยชน์ที่อาจจะได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อทารก
คลอโรฟิลล์เป็นสารเคมีที่พืชใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสง และไม่มีข้อมูลทางโภชนาการที่ระบุถึงประโยชน์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานคลอโรฟิลล์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การรับประทานผักสดทำให้ร่างกายได้รับคลอโรฟิลล์ อย่างไรก็ตามควรล้างผักให้สะอาดเพื่อให้ผักปราศจากสารตกค้างและพยาธิ
ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)