
© 2017 Copyright - Haijai.com
น้ำมันมะพร้าว น้ำมันพืชเพื่อผิวหนัง
แม้ว่าในแง่มุมน้ำมันสำหรับทำอาหาร น้ำมันมะพร้าวจะไม่เหมาะสมเนื่องจากเต็มไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัว แต่เมื่อพูดถึงการเป็นยาใช้ภายนอกแล้ว น้ำมันมะพร้าวนับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผิวหนัง ตำรายาไทยใช้ทาแก้กลากทาแผลที่เกิดจากความเย็นจัดหรือร้อนจัด ใช้ผสมกับยาอื่นทาแก้โรคผิวหนังต่างๆ หรือใช้ทาตัวแก้ผิวหนังแห้งแตกเป็นขุย น้ำมันมะพร้าวมีสองชนิดคือ แบบสกัดโดยใช้ความร้อน นำหัวกระทิมาเคี่ยวด้วยไฟอ่อนเพื่อสกัดแยกน้ำมัน และแบบหีบเย็นหรือสกัดเย็น (virgin coconut oil) เป็นการแยกน้ำมันจากกะทิโดยไม่ใช้ความร้อน
การศึกษาในหนูทดลองพบว่าน้ำมันมะพร้าวหีบเย็น สามารถช่วยให้การสมานแผลที่เกิดจากการถูกตัดชิ้นเนื้อ และจากความร้อนเร็วขึ้น ส่วนการศึกษาในมนุษย์นั้น นักวิจัยชาวฟิลิปปินส์ได้เปรียบเทียบผลของการทาน้ำมันมะพร้าวหีบเย็นและน้ำมันแร่ (mineral oil) ในเด็กที่ป่วยเป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ผลการศึกษาพบว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยให้อาการผื่นดีขึ้น ทำให้ผิวหนังรักษาความชุ่มชื้นได้ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการวิจัย และประสิทธิภาพของน้ำมันมะพร้าวยังมีมากกว่าน้ำมันแร่ ส่วนในประเทศไทยสมคิด วิระเทพสุภรณ์ ได้นำน้ำมันมะพร้าวมารักษาผู้ป่วยแผลไหม้ระดับ 2 (มีการทำลายลามไปถึงชั้นหนังแท้บางส่วน) จำนวน 10 ราย และพบว่าการใช้น้ำมันมะพร้าวสามารถลดความเจ็บปวดและลดจำนวนครั้งของการล้างแผล ตลอดจนทำให้แผลหายได้ในเวลาใกล้เคียงกับการใช้ครีมซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน 1% ซึ่งเป็นยามาตรฐานสำหรับการรักษาแผลไหม้
สำหรับผู้ที่สนใจจะลองทำน้ำมันมะพร้าวแบบหีบเย็นหรือสกัดเย็น สามารถทำได้โดยการเลือกเนื้อมะพร้าวสดขูด 1 กิโลกรัม จากมะพร้าวแก่จัดคาต้น ผสมน้ำอุ่น (ไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส) ปริมาณ 1 ลิตร แล้วคั้นกะทิออกมา นำกะทิที่ได้ใส่ในขวดโหลแก้ว ให้ระดับกะทิอยู่ห่างจากปากขวดโหลอย่างน้อย 2 นิ้ว ปิดปากขวดโหลด้วยผ้าพลาสติก แล้วใช้เชือกมัดให้แน่น ทิ้งไว้ 36-48 ชั่วโมง น้ำมันจะแยกตัวออกมาอยู่ชั้นบน ใช้กระบวยตักใส่ขวดโหลอีกใบ ตั้งทิ้ง 2-3 วัน ให้ตกตะกอน กรองด้วยผ้าขาวบางจนได้น้ำมันใสๆ จึงบรรจุขวดสีชา ปิดฝาให้สนิท
(Some images used under license from Shutterstock.com.)