Haijai.com


เรื่องใหญ่ๆ ในโลกใบเล็ก


 
เปิดอ่าน 1681
 

Small World, Big Worry เรื่องใหญ่ๆ ในโลกใบเล็ก

 

 

ในความมืดมิด เจ้าตัวน้อยนอนลืมตาโพล่งอยู่ในห้อง แม้ว่าข้างกายจะมีคุณพ่อและคุณแม่ขนาบข้าง แต่แววตาก็ยังเต็มไปด้วยความหวาดวิตก ลมข้างนอกพัดแรง ทำเอากิ่งไม้ไหวเอนไปมา ดูราวกับว่าเป็นปีศาจร้ายที่พร้อมจะเข้ามาขยุ้มเด็กน้อยที่นอนกลัวอยู่บนเตียงได้ทุกเมื่อ เจ้าตัวน้อยค่อยๆ นำสองมือเล็กๆ ขึ้นมาปิดตา ทันใดนั้นเอง “ครื๊นนน!!”เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทำเอาเตียงสะเทือน เจ้าตัวเล็กสะดุ้งโหยง ความกลัวที่อดกลั้นไว้ ถูกขับออกมาเป็นเสียงร้องไห้ ตัวสั่นเทา “แง๊!!!” คุณแม่ตกใจตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจไม่แพ้กัน เจ้าตัวดีสะอื้นไห้ “สะ สะ เสียงปีฉาด!!” เจ้าตัวน้อยละล่ำละลักพูดไม่ชัดถ้อยชัดคำ คุณแม่กอดและลูบหัวลูกอย่างเอ็นดู ก่อนจะตอบอย่างงัวเงียว่า “ไม่ใช่เสียงปีศาจค่ะลูก คุณพ่อกรน นอนต่อได้แล้ว!!”

 

 

เช้าวันรุ่งขึ้นคุณแม่ก็อดที่จะแซวสองพ่อลูก ถึงเหตุการณ์เสียงปีศาจที่เกิดขึ้นไม่ได้ ว่าแล้วคุณแม่ก็เรียกเจ้าตัวดีมานั่งใกล้ๆ แล้วเล่าเรื่องราวความกลัว ที่เกิดขึ้นกับหนูน้อยตั้งแต่แบเบาะจนถึงวันนี้ให้ลูกได้ฟัง เพื่อให้หนูน้อยเข้าใจว่าความกลัวเหล่านี้จะหายไปได้ ในสักวันหนึ่ง

 

 

อุ๊แว๊ๆ ไม่อยากแลคนแปลกหน้า

 

“หนูรู้ไหมว่า ตอนที่หนูยังเป็นเบบี้ตัวเล็ก อายุแค่ 7 เดือน หนูไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้เลย คุณยายจะอุ้มยังไม่ได้” คุณแม่เริ่มเล่าเรื่องราว เจ้าตัวดีนั่งฟังตาแป๋วก่อนจะเอ่ยถาม “ทำไมละคร้าบบบบ”

 

 

“ก็เพราะว่าเป็นธรรมชาติของเด็กๆ วัยนี้ไงจ๊ะ ทารกวัยตั้งแต่ 7-9 เดือน จะเริ่มมีความรู้สึกกลัว เพราะว่าเด็กๆ วัยนี้สามารถจดจำสิ่งต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้เขาแยกแยะระหว่างสิ่งที่คุ้นเคย กับสิ่งที่ไม่คุ้นเคยได้ ด้วยเหตุนี้ พอมีใครที่หนูน้อยไม่เคยพบหน้ามาเยี่ยม เด็กๆ ก็จะรู้สึกหวาดกลัว แต่ที่ลูกเป็นอย่างนี้ แม่ก็ไม่ได้กลุ้มใจหรอกนะจ๊ะ เพราะแม่รู้ว่าทักษะด้านความจำของลูกได้พัฒนาขึ้นแล้วนั่นเอง”

 

 

“แล้วคุณแม่ทำอย่างไร หนูถึงหายกลัว” เจ้าตัวดีถาม “ก็ไม่ได้ทำอะไรมากหรอกจ๊ะ พอเวลาผ่านไปลูกก็หายกลัวเอง เพียงแต่แม่คอยให้ความอุ่นใจกับหนูเท่านั้นเอง และนี่คือสิ่งที่แม่ทำในช่วงเวลาที่ลูกกลัวคนแปลกหน้าจ๊ะ”

 

 

 อยู่ใกล้ๆ ลูกเมื่อมีคนอื่นๆ มากมายอยู่ใกล้ๆ

 

 ทำให้ลูกรู้ว่า คนแปลกหน้าเหล่านั้นไม่เป็นอันตราย และแม่จะอยู่ใกล้ๆ ลูกเสมอ

 

 พูดคุยกับคนแปลกหน้าของลูก (แต่อาจเป็นเพื่อนของแม่) ด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรพร้อมรอยยิ้ม จะช่วยลดความกังวลของลูกได้

 

 เมื่อพาลูกออกไปนอกบ้าน แม่จะให้เวลาลูกในการทำความคุ้นเคยกับสถานที่ และพกของเล่นสุดโปรด หรือของใช้ประจำตัวติดไปให้ลูกได้อุ่นใจอยู่เสมอ

 

 บอกให้เพื่อนๆ ญาติๆ ที่เป็นคนแปลกหน้าสำหรับลูก ค่อยๆ ทำความรู้จักกับเจ้าตัวเล็ก เช่น เริ่มจากพูดคุย จ๊ะเอ๋ โดยยังไม่แตะต้องตัวลูก เมื่อเริ่มคุ้นจึงค่อยๆ จับมือ จับแขน อาจใช้เวลาสักพักลูกถึงยอมให้อุ้ม

 

 หากลูกร้องไห้ และหวาดกลัวคนที่มาเล่นด้วย ควรหยุดและปลอบลูก ก่อนค่อยลองใหม่อีกครั้ง

 

 หากต้องฝากลูก ให้เพื่อนหรือญาติที่เด็กๆ ไม่คุ้นเคยเลี้ยง ก็อาจต้องใช้เวลาอยู่กับลูกและพี่เลี้ยงของลูกก่อน รวมทั้งบอกกับลูกว่า คนเหล่านี้จะช่วยดูแลลูก และไม่นานแม่จะกลับมารับ แล้วแม่ก็จะเล่านิทานให้ฟัง

 

 

Fear Fact

 

นักวิจัยบางกลุ่มเชื่อว่า ความกลัวของเด็กนั้น เป็นสิ่งที่ถูก “ตั้งโปรแกรม” มาแล้ว เพราะเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณการอยู่รอด ทารกแต่ละคนจะแสดงอาการกลัวออกมาแตกต่างกัน ขอให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าความกลัวเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ และคอยให้กำลังใจเจ้าตัวน้อยซึ่งจะทำให้ความกลัวของลูกหายไปได้ในที่สุด

(Some images used under license from Shutterstock.com.)