![Haijai.com](https://www.haijai.com/my/logo/20150326_logo.png?t=2017-02-22)
© 2017 Copyright - Haijai.com
พฤติกรรมเด็กวัย 3-6 ขวบ นักทำลายล้าง
คุณพ่อคุณแม่คงเคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ต่อหน้าต่อตากันมาบ้างแล้ว อย่างเวลาที่ลูกไม่พอใจ ไม่ชอบอะไร หรือจะเอาอะไร ถ้าไม่ได้ก็จะ ขว้างของ พังโต๊ะ ตีคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ร้องกรีด ทำหน้าบึ้ง หน้างอ โมโหร้าย จนบางครั้งคุณก็เกือบจะลงโทษลูกแบบแรงๆ แต่ก็ได้สติว่าถึงจะลงโทษแรงๆ ขั้นเด็ดขาด ลูกก็คงไม่ยอมทำตามที่คุณบอกคุณสอน ว่าพฤติกรรมแบบนี้ นิสัยแบบนี้มันไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวลูกเลยแม้แต่น้อย แล้วทีนี้จะต้องทำอย่างไรถึงจะดีทั้งต่อตัวลูก แล้วก็คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงคนรอบข้างรอบตัวลูก อย่างเพื่อนๆ คุณครู ที่โรงเรียนด้วยละค่ะเนี่ย ปัญหาชวนปวดหัวแบบนี้ถ้าตั้งสติให้ดี ย่อมพบทางแก้ไขได้เสมอค่ะ
สาเหตุที่เด็กเล่นแล้วรุนแรงเลยเถิดจนกลายเป็นการทำลายของ
1.ขาดการฝึกสอนที่เหมาะสม ปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียวนานจนถึงจุดที่เด็กเล่นต่อไปไม่ได้ ขาดคนชี้แนะ ขาดคนจะไปเล่นด้วย หรือเป็นแบบอย่างที่ดี ขาดการช่วยเด็กให้ยับยั้งตนเอง
2.พฤติกรรมที่เลียนแบบมาจากผู้ใหญ่
3.ฝึกสอนไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวฝึก เดี๋ยวไม่ฝึก
4.มีความบกพร่องในระบบประสาท ที่ทำให้การยับยั้งตนเองลดลง เช่น โรคสมาธิสั้น
5.สภาพแวดล้อมยุ่งเหยิง ไม่มีระเบียบ ขาดกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติตาม
6.เอาแต่ใจตัวเอง ใจร้อน ไม่อดทน หงุดหงิดง่าย
วิธีการช่วยเหลือ
1.ลงไปเล่นกับเด็กเพิ่มมากขึ้น เพื่อฝึกทักษะให้เด็กเล่นได้เก่ง และเล่นได้นานขึ้น การเล่นของเล่นไม่ควรเอาของเล่นหลายๆ อย่างมาให้เด็กเล่นในครั้งเดียวกัน เพราะจะไปทำให้เด็กเล่นของเล่นแต่ละชิ้นได้ไม่นานพอ การที่มีผู้ใหญ่เล่นด้วย นอกจากจะทำให้สนุก เพลิดเพลินกว่าการเล่นคนเดียวแล้ว ยังสามารถเลียบแบบวิธีการเล่นของผู้ใหญ่ ทำให้เด็กเล่นได้เก่งขึ้น นานขึ้นกว่าเก่า และเมื่อถึงจุดที่จะเลยเถิดไม่เหมาะสม จำเป็นต้องเบี่ยงเบนและหยุดยั้งพฤติกรรมที่ทำลายของทันที
2.ขณะที่เด็กอาละวาดทำลายของ ให้เก็บของเล่น หรือสิ่งของรอบตัว หรือพาเด็กไปสงบสติอารมณ์ในห้องที่ไม่พลุกพล่าน ถ้าเด็กไม่ยอมไป ยังทำลายของอยู่ ให้เข้าไปทางด้านหลังของเด็กแล้วจับตัว มือ หรือนั่งลงพร้อมเด็ก โดยใช้ขาหนีบขาเด็ก ในกรณีที่เด็กหันกลับมาท้ำร้ายผู้อื่นไม่ต้องใช้เสียงดัง แสดงท่าทีจริงจัง เชื่อมั่น บอกง่ายๆ ตรงไปตรงมาว่า เราไม่ยอมให้เด็กโกรธแล้วทำลายสิ่งของ หรือทำร้ายตัวเอง หรือคนอื่น แต่เด็กโกรธ หรือไม่พอใจ เราเข้าใจ ด้วยท่าทีของผู้ใหญ่ที่สงบ จริงจัง มั่นคง ไม่ข่มขู่ หรือปลอบโยน หรือกลับมาตามใจเด็ก จะช่วยทำให้เด็กสงบลงเร็ว และเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น ทำแบบนี้ทุกครั้งที่เด็กอาละวาด
3.ทำงานชดใช้ในสิ่งของที่ถูกทำลาย การฝึกสอนให้เด็กรับผิดชอบผลของการกระทำเป็นเรื่องสำคัญ และต้องฝึกฝนมาตั้งแต่เล็ก เมื่อลูกทำน้ำหกก็ต้องเอาผ้ามาเช็ด ถ้าทำของหายก็ต้องซื้อมาใช้คืน หรือถูกปรับโทษ ถ้าทำห้องน้ำเลอะเทอะก็ต้องหัดล้างห้องน้ำ ถ้าทำลายของจนพังก็ต้องทำงานชดใช้ ถ้าเป็นของเล่นของตัวเองพังก็ไม่ต้องซื้อให้ใหม่ แต่ถ้าเป็นของเล่นของน้องก็ต้องชดใช้ โดยต้องเอาของๆ ตัวเองไปใช้หนี้ ถ้าเป็นของๆ พ่อก็อาจโดนล้างจานเพื่อชดใช้ความผิด ทำอย่างนี้ทุกครั้งและไม่ควรปล่อยเรื่องให้ผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
4.ปรับสภาพแวดล้อมให้มีระเบียบ มีต้นแบบที่ดีสม่ำเสมอ อดทน กฎเกณฑ์ชัดเจน นุ่มนวล เข้าใจเด็ก แต่เอาจริง และไม่ยอมเมื่อเด็กออกนอกกฎที่วางไว้
5.ลดการซื้อของเล่นพร่ำเพรื่อ ของเล่นที่ได้มาง่ายๆ มักจะไม่มีคุณค่าในสายตาของเด็ก และถ้าเรียนรู้ว่าถึงจะเสีย หรือทำพังเสียหาย จะร้องเอาเมื่อไรก็ได้ เด็กกจะไม่ทะนุถนอมข้าวของ สุดท้ายก็เท่ากับฝึกให้ลูกรักสบาย ไม่มีระเบียบ ไม่รักษาข้าวของ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่อันตราย
6.ให้โอกาสเด็กช่วยตัวเอง ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยทำงานบ้าน โดยชมและให้กำลังใจเป็นระยะ จะทำให้เด็กเคยชินกับการเป็นคนดี และฝึกให้เด็กมาช่วยซ่อมแซมสิ่งต่างๆ เพื่อฝึกให้รู้จักรักษาข้าวของที่มีอยู่
7.ลดการตามใจเด็กในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันฝึกให้เด็กหัดทำสิ่งต่างๆ โดยมีผู้ใหญ่คอยให้กำลังใจ ให้โอกาสทำซ้ำ จนเกิดความชำนาญ เนื่องจากการหัดทำสิ่งใหม่ๆ เช่น รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารปลา ถือแก้วน้ำมาให้คุณพ่อ ฯลฯ จำเป็นต้องอาศัยความอดทนทำ สุดท้ายจะทำให้เด็กมีความอดทน ใจเย็นลง และมีความสามารถทำอะไรได้เพิ่มขึ้น
8.ในกรณีที่ซนมาก ทำลายข้าวของจนเกิดความเดือนร้อน หรือทำแล้วไม่ได้ผล อย่าลืมพาเด็กไปตรวจกับกุมารแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความบกพร่องในการทำงานระบบประสาท
พ.ญ. วินัดดา ปิยะศิลป์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)