© 2017 Copyright - Haijai.com
แอสไพริน ยาเพื่อหัวใจ ?
ท่านผู้อ่านหลายท่านที่ไปหาหมอ อาจจะสงสัยว่าทำไมหมอต้องจ่ายยาแอสไพรินในขนาดต่ำๆ (เช่น aspirin 81 มก.) มาพร้อมกับยาอื่นๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเป็นไข้หรือมีอาการปวด และขนาดยาแอสไพรินที่ใช้สำหรับแก้ปวดในผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 325 ถึง 650 มก. ทุกสี่ชั่วโมง ที่สำคัญ สมัยนี้การใช้แอสไพรินเพื่อแก้ปวดก็น้อยลง เนื่องจากมีตัวเลือกใหม่ๆ ที่ออกฤทธิ์นานขึ้น หรือไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหารมากเท่ากับแอสไพริน การที่ผู้อ่านได้รับแอสไพรินในขนาดต่ำนั้น เป็นเพราะแพทย์สั่งจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ บทความนี้ผู้อ่านรู้จักกับแอสไพริน ทั้งในแง่เส้นทางประวัติศาสตร์จากยาแก้ปวดสู่ยาหัวใจ การออกฤทธิ์ และผลการวิจัย ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจยาเม็ดจิ๋วตัวนี้เพิ่มขึ้น
เส้นทางประวัติศาสตร์
มนุษย์รู้จักใช้ต้นหลิว (willow) เป็นยาแก้ปวดตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งเมื่อประมาณสองร้อยปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งเมื่อประมาณสองร้อยปีก่อน นักวิทยาศาสตร์พบว่ากรดซาลิไซลิคเป็นสารออกฤทธิ์ของต้นหลิว และได้มีการปรับโครงสร้างสารดังกล่าวจนได้เป็นสารใหม่ที่ชื่อว่า acetylsalicylic acid ซึ่งวางจำหน่ายเป็นยาแก้ปวดในชื่อการค้าว่า aspirin จุดเริ่มต้นของการใช้แอสไพรินในระบบหลอดเลือดหัวใจเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 จากงานวิจัยการใช้แอสไพรินในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (myocardial infarction) โดยเอลวูด และคณะถึงแม้ว่างานวิจัยนี้จะไม่พบการลดลงของอัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของแอสไพรินในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจก็มีมาเรื่อยๆ จนแอสไพรินเป็นยาชนิดหนึ่งที่แพทย์สั่งจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติในระบบหลอดเลือดหัวใจ
แอสไพรินไปทำอะไรกับระบบหลอดเลือดหัวใจ
ก่อนที่จะเข้าเรื่องการออกฤทธิ์ของแอสไพริน ต้องทราบถึงเรื่องการแข็งตัวของเลือด และการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดในคนปกติและผู้ป่วยโรคระบบหลอดเลือดหัวในเสียก่อน โดยทั่วไปเกล็ดเลือดจะไม่มีปฏิกิริยาใดๆกับผนังหลอดเลือด อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีการฉีกขาดของแผ่นคราบหลอดเลือดแดงแข็ง หรือมีการบาดเจ็บของหลอดเลือด เกล็กเลือดจะถูกกระตุ้นและรวมตัวเป็นชั้นเดียวบริเวณผนังหลอดเลือดดังภาพ และเกิดกระบวนการสร้างสารกระตุ้นให้เกล็ดเลือดมาเกาะกลุ่มกันมากขึ้นจนเป็นลิ่มเลือด กระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว และเกิดการตีบแข็งมากขึ้น จนเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ แอสไพรินจะไปยับยั้งการสร้างสารดังกล่าวอย่างถาวร ทำให้กระบวนการดังกล่าวถูกยับยั้งลงไปในที่สุด
“การใช้แอสไพรินเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่ไม่ได้ป่วย เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผลดีน้อยกว่าการใช้ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยพบว่าการใช้แอสไพรินในผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย เหตุขาดเลือดที่ไม่เป็นอันตรายถึงตาย (nonfatal mycocardial ความผิดปกติในหลอดเลือดหรือจากสาเหตุอื่นๆ”
แอสไพรินกับการป้องกันความผิดปกติในระบบหลอดเลือดหัวใจ
ผลจากงานวิจัยต่างๆ พบว่าการใช้แอสไพรินในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเคยมีอาการ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ตลอดจนการตายด้วยความผิดปกติในหลอดเลือด การใช้แอสไพรินในกรณีดังกล่าวจึงถือว่าสมเหตุสมผล ในขณะที่การใช้แอสไพรินเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผลดีน้อยกว่าการใช้ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยพบว่าการใช้แอสไพรินในผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดที่ไม่เป็นอันตรายถึงตาย (nonfatal mycocardial infarction) แต่ไม่สามารถวิจัยโดย Okada และคณะ ซึ่งได้ศึกษาผลของการใช้แอสไพรินในขนาด 81 หรือ 100 มิลลิกรัมในผู้ป่วยเบาหวานชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้ป่วยโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติในระบบหลอดเลือดหัวใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วเปรียบเทียบอุบัติการณ์ของความผิดปกติดังกล่าวกับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ใช้แอสไพริน พบว่าแอสไพรินไม่สามารถลดอุบัติการณ์ของความผิดปกติในระบบหลอดเลือดหัวใจได้ ดังนั้น หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่สนับสนุนการใช้แอสไพริน เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคดังกล่าว ปัจจุบันสมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้ผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจใช้แอสไพริน เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ 10% ขึ้นไปเท่านั้น
ปัจจัยที่ทำให้การใช้แอสไพรินล้มเหลว
บางครั้งการใช้แอสไพรินไม่สามารถให้ผลดีอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่
• ไม่รับประทานแอสไพรินตามที่แพทย์สั่ง
• ขนาดยาไม่เพียงพอ
• การใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์บางชนิด (เช่น ibuprofen และ indomethacin) คู่กับการใช้แอสไพริน
• การสูบบุหรี่
• กลไกการกระตุ้นเกล็ดเลือดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับ COX-1
จะเห็นได้ว่าปัจจัยบางประการก็สามารถถูกหลีกเลี่ยงได้ โดยการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ซึ่งลดการออกฤทธิ์ของแอสไพริน หรือการใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) บางชนิด เช่น ibuprofen และ indomethacine ซึ่งจะไปแย่งจับกับพื้นที่ออกฤทธิ์ของแอสไพริน ทำให้แอสไพรินออกฤทธิ์ได้น้อยลง
แอสไพรินนับเป็นยาสำหรับโรคระบบหลอดเลือดหัวใจที่มีการใช้มานาน ต้นทุนไม่สูง อย่างไรก็ตามเนื่องจากยาสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง โดยเฉพาะการเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร ก่อนใช้ยานี้ ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการตรวจร่างกาย และพิจารณาถึงความเหมาะสมโดยแพทย์ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจลดผลการรักษา หรือกระตุ้นอาการข้างเคียงจากการใช้ยาดังกล่าว
(Some images used under license from Shutterstock.com.)