Haijai.com


รากฟันเทียม


 
เปิดอ่าน 3035

รากฟันเทียม

 

 

ณ คลินิกทันตกรรม กับนักศึกษาฝึกงานวันแรก

 

นักศึกษา : คุณหมอคะ หนูสงสัยว่าทำไมค่าทำฟันมันถึงได้แพงจังเลยคะ (แค่คำถามแรกก็โดนซะแล้ว)

 

หมอจุ้มจิ้ม : หมอคิดว่าคงเป็นเพราะเครื่องมือและวัสดุบางอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศค่ะ แต่อันที่จริงการรักษาบางอย่างก็ไม่ได้แพงนะคะ ขูดหินปูนที่คลินิกก็ราวๆ 500-1000 บาท ราคานี้เสียกันปีละ 2 ครั้งเอง จะว่าไปค่ารักษาฟันบ้านเราถือว่าถูกมากๆ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ มีคนไข้ชาวต่างชาติตั้งใจเดินทางมาเพื่อทำฟันโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก เอาเป็นว่ารวมตั๋วเครื่องบินแล้วยังถูกกว่าทำในประเทศของเขาเยอะเลย

 

 

นักศึกษา : ที่เขาว่ากันว่าทำทีซี่ละเป็นแสนๆ ใช้ไหมคะคุณหมอ

 

หมอจุ้มจิ้ม : ความจริงราคาไม่ได้สูงแบบนั้นทุกคนหรอกค่ะ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุและความยากง่ายในการทำ บางกรณีแค่หมื่นต้นๆ ก็ทำได้แล้วค่ะ การทำรากฟันเทียม ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ เมื่อถอนรากฟันจริงไปแล้ว เราเลยหาอย่างอื่นมาแทนด้วยการฝังวัสดุที่มีรูปร่างคล้ายรากฟันลงบนกระดูกขากรรไกร เพื่อใช้ทดแทนส่วนที่เป็นรากฟันของฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยรากฟันเทียมนี้จะดูเหมือนและให้ความรู้สึกใกล้เคียงฟันธรรมชาติที่สุด เพื่อช่วยให้ยึดติดฟันปลอมภายในช่องปากได้ และที่ราคาสูงก็เนื่องมาจากวัสดุที่ใช้ทำรากเทียมเป็นโลหะไททาเนียมชนิดที่ใช้ในทางการแพทย์เหมือนพวกข้อเข่าเทียม ข้อสะโพกเทียม ซึ่งมีผลการวิจัยรับรองว่าวัสดุนี้ไม่มีอันตรายและเข้ากันได้ดีต่อเนื้อเยื่อมนุษย์ ขณะเดียวกันก็มีความแข็งแรงคงทนรับแรงบดเคี้ยวและคงรูปได้ดี ในปัจจุบันได้รับความเชื่อถือทางการแพทย์ว่ามีความปลอดภัยสูงสุด

 

 

นักศึกษา : ฟังดูดีจังค่ะ เหมือนเราถอนฟันไปก็ทำฟันใหม่ขึ้นมาแทนที่อันเดิม ใช้งานได้เลย มหัศจรรย์จริงๆ ไม่ต้องใส่ฟันปลอมถอดเข้าถอดออกให้ดูเป็นคนแก่อีก

 

หมอจุ้มจิ้ม : ใช่จ้ะ ข้อดีของมันก็เป็นเช่นนั้นล่ะค่ะ คนไข้จะรู้สึกสบายเป็นธรรมบาติไม่เหมือนใส่ฟันปลอมเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ถอนฟันปุ๊บก็ทำให้มันโผล่ปั๊บนะคะ

 

นักศึกษา : อ้าว... หรอคะคุณหมอ แล้วต้องใช้เวลานานแค่ไหนละคะ

 

หมอจุ้มจิ้ม : ขั้นตอนในการทำรากเทียม แบ่งคร่าวๆ เป็น 3 ช่วงค่ะ ได้แก่

 

ช่วยแรก ทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์ เพื่อประเมินความหนาของกระดูกขากรรไกร ที่อยู่บนสันเหงือกก่อนว่ามีพอหรือเปล่า ถ้ามีไม่พอ จำเป็นต้องปลูกกระดูกก่อน ก็ต้องเพิ่มระยะเวลาช่วงนี้ไปประมาณ 2-3 เดือน จากนั้น จึงผ่าตัดเพื่อฝังรากเทียมลงไปในกระดูก และให้เวลาการหายของแผล เพื่อให้ฝังรากเทียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรได้ดี ประมาณ 3-4 เดือน

 

 

ช่วงที่สอง หลังจากที่รากฟันเทียมมีความมั่นคงบนกระดูกรองรับฟันแล้ว ทันตแพทย์จะทำการต่อส่วนที่จะไปติดกับตัวฟันปลอมอีกที เพื่อใช้เป็นที่รองรับครอบฟัน และจะทำการพิมพ์ปากเพื่อส่งให้ห้องปฏิบัติการณ์ทำครอบฟัน

 

 

ช่วงที่สาม หลังจากนั้นประมาณ 1-4 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดใส่ครอบฟันให้ โดยครอบฟันนั้นทำมาจากวัสดุเซรามิค (porcelain) ซึ่งจะมีรูปร่างลักษณะและสีสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ จากนั้นทันตแพทย์จะนัดเช็คอีกเมื่อครบ 1 เดือน 2 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับจ้ะ

 

 

นักศึกษา : โห...คุณหมอคะ กว่าจะได้ใส่รากฟันนี่ใช้เวลานานขนาดนี้เลยหรือคะ ถ้าอย่างนั้นหนูขอเอาข้อมูลไปบอกคุณพ่อก่อนนะคะ ท่านสนใจอยากทำรากฟันเทียมมากเลยค่ะ ถ้ายังไงหนูจะพาคุณพ่อมาหาคุณหมอนะคะ

 

หมอจุ้มจิ้ม : ดีมากเลยค่ะ การมาปรึกษาและมาตรวจก่อนตัดสินใจทำการรักษาเป็นเรื่องที่ถูกต้องค่ะ เพราะการวินิจฉัยเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากบางคนอาจจะทำได้แต่บางคนก็ทำไม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า จะได้เข้าใจว่าเพราะอะไรค่าใช้จ่ายจึงได้สูง

 

 

ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร ทันตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)