
© 2017 Copyright - Haijai.com
4 ขวบ ป้องกัน 4 โรค
เมื่อพูดถึงการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กๆ อาจไม่เป็นที่ต้องการของเด็กๆ สักเท่าไหร่ เพราะกลัวเจ็บกัน แต่สำหรับ พ่อแม่การที่ลูกได้รับการฉีดวัคซีน คือ การได้รับภูมิคุ้มกันป้องกันการเกิดโรค เด็กตั้งแต่แรกเกิดควรที่จะได้รับวัคซีน ซึ่งในสมุดประจำตัวลูกจะบอกรายละเอียดไว้ว่า เมื่อลูกอายุเท่าไหร่ควรได้รับวัคซีนอะไรบ้าง
เมื่อลูกอายุ 4 ขวบ นอกจากลูกจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแล้ว ในช่วงอายุนี้ลูกยังควรได้รับการป้องกันอีก 4 โรค คือ โรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใสเป็นครั้งที่สอง โดยน้องๆ จะเคยได้รับวัคซีนทั้ง 4 โรคนี้ไปแล้วเมื่ออายุประมาณหนึ่งขวบ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีวัคซีนรวม 4 โรคนี้ไว้ในเข็มเดียว ทำให้ลูกไม่ต้องเจ็บตัวถึง 2 ครั้ง มาดูกันว่าทั้ง 4 โรคนี้ที่เด็กๆ ควรป้องกันนั้นมีความสำคัญอย่างไร
โรคหัด
เป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อได้ง่าย มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและมีอันตรายสูงในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ปัจจุบันพบโรคหัดบ้างในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 9 เดือน ซึ่งยังไม่ถึงวัยที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน แต่อาจพบในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่อาจไม่เคยฉีดวัคซีนหัด หรือฉีดวัคซีนหัดเพียงครั้งเดียวได้
โรคคางทูม
ติดต่อโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของทางเดินหายใจ อาการทั่วไปของเด็กที่เป็นคางทูม ส่วนใหญ่มักมีอาการบวมและกดเจ็บบริเวณต่อมน้ำลาย แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ
โรคหัดเยอรมัน
เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการไข้และผื่นทั่วตัวในเด็กส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรง แต่เป็นโรคที่มความสำคัญเพราะถ้าสตรีมีครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เชื้อไวรัสจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการทางหู ตา หัวใจ สมอง และทำให้ทารกตายในครรภ์ได้
โรคอีสุกอีใส
เป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายมาก อาการของโรคอีสุกอีใส เริ่มด้วยมีไข้ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ผื่นระยะแรกเป็นตุ่มแดง ต่อมาตุ่มจะกลายเป็นเม็ดพองใส และกลายเป็นตุ่มหนอง ตุ่มจะแห้งและตกสะเก็ดในเวลาต่อมา เด็กอาการมักจะไม่รุนแรง แต่มักจะต้องหยุดโรงเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อลดการกระจายเชื้อสู่ผู้อื่น การติดเชื้อในเด็กทารกแรกเกิด ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หรือสมองอักเสบ หลังจากเป็นอีสุกอีใส เชื้อไวรัสจะยังคงอยู่ในร่างกาย โดยจะซ่อนตัวอยู่ในปมประสาท และทำให้เกิดเป็นงูสวัดเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)