
© 2017 Copyright - Haijai.com
อย่าคาดหวังกับการทำลูกแฝด
วันนี้ขอคุยเรื่องลูกแฝดเนื่องจากว่าการแพทย์สมัยนี้สามารถช่วยรักษาคุณๆ ที่มีลูกยากให้สามารถมีลูกได้ง่ายขึ้นด้วยการทำหลอดแก้ว ซึ่งๆ คุณๆ ผู้ป่วยเองก็ทราบดีว่าแพทย์สามารถทำให้เกิดลูกแฝดได้ ด้วยการใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่มดลูกในปริมาณที่มากพอจะทำให้เกิดลูกแฝดได้ โดยปกติแพทย์จะใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่มดลูกในปริมาณอย่างมากไม่เกิน 4 ตัว อย่างน้อยที่สุดก็ 2 ตัว แต่ถ้ามีไข่น้อยคือมีเพียงไข่ใบเดียว มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องใส่เพียงแค่ตัวเดียว การที่แพทย์ใส่คืนตัวอ่อนไปในปริมาณที่มากกว่าหนึ่ง หรือมากถึง 4 ตัว ก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์ ขึ้นมาสักแค่ทารกหนึ่งคน แต่เป็นเพราะความโชคดีบนความโชคร้ายทำให้บางครั้งใส่ตัวอ่อนเข้าไป 4 ตัวหรือเพียงแค่ 2 ตัว แล้วกลับติดทั้งหมดที่ใส่เกิดครรภ์แฝดขึ้นมาเพราะการทำของแพทย์จึงเกิดขึ้น
โดยธรรมชาติครรภ์แฝด จัดเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติและอาจจะเป็นปัญหาแทรกซ้อนตามมาระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สูติแพทย์ทั้งหลายไม่ต้องการให้มีอาการแทรกซ้อนขึ้นมา เพราะบางครั้ง บางคราวอุตส่าห์อุ้มท้องมาตั้ง 6 – 7 เดือน และเป็นครรภ์แฝด 3 เสียด้วย แต่มาเกิดปวดท้องคลอดน้ำเดินเสียก่อน ก่อนที่เด็กจะมีชีวิตอยู่ภายนอกมดลูกได้ สุดท้ายก็แท้งเสียหมด
ด้วยเหตุที่ว่าครรภ์แฝดอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ง่าย ธรรมชาติก็รู้ดี จึงพยายามไม่ให้เกิดครรภ์แฝดขึ้นมา โดยอัตราการเกิดครรภ์แฝดตามธรรมชาติแล้ว มีดังนี้ครับ ถ้าเป็นแฝดสองจะมีโอกาสเกิดขึ้นเพียงหนึ่งในแปดสิบเก้าเท่านั้น หมายความว่าตั้งครรภ์ 89 ครั้ง โอกาสเป็นครรภ์แฝดเพียงแค่หนึ่งครั้งเท่านั้น และถ้ามีแฝดสามจะมีโอกาสเกิดเท่ากับหนึ่งในแปดสิบเก้ายกกำลังสองและหากเป็นแฝดสี่ก็มีโอกาสหนึ่งในแปดสิบเก้ายกกำลังสาม ก็ลองใช้เครื่องคิดเลขคิดดูก็แล้วกันว่าโอกาสนั้นมีไม่มากเลย แต่เมื่อมีวิทยาการทางการแพทย์สามารถทำเด็กหลอดแก้วได้แน่นอนโอกาสได้ครรภ์แฝดสอง แฝดสามหรือแฝดสี่จึงมีเพิ่มขึ้นหลายเท่า จึงเป็นเรื่อธรรมดาที่เจอได้บ่อยๆ จนกระทั่งทางการแพทย์ไม่อยากให้เกิดขึ้นมาแม้ฝ่ายคุณๆ ผู้ป่วยมีความต้องการอย่างนั้นก็ตาม
ทางการแพทย์จึงมีมาตราการป้องกันการตั้งครรภ์แฝดขึ้นมาเมื่อสามารถเลี้ยงตัวอ่อนได้จนถึงระยะ BLASTOCYST ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะที่ตัวอ่อนจะฝังตัวในโพรงมดลูกแล้วทางการแพทย์จึงจะใส่ตัวอ่อนระยะ BLASTOCYST เข้าสู่โพรงมดลูกแล้วทางแพทย์จึงจะใส่ตัวอ่อนครั้งละตัวหรือสองตัวเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการเกิดลูกแฝด แต่ก็เอาล่ะหากใส่ครั้งละสองตัว แล้วเกิดรอดเป็นแฝดทั้งสองตัว ก็ไม้เป็นไร พอยอมรับได้เพราะโอกาสรอดนั้นก็มีสูง แต่ถ้าหากต้องการแฝดสาม แฝดสี่ดังกล่าวแล้ว การตั้งครรภ์แฝดใช่ว่าจะเป็นสิ่งต้องการของแพทย์ ไม่เหมือนคุณๆ คนไข้ ที่อยากจะได้ลูกแฝดด้วยเหตุผลว่า “ไหนๆ ก็ตั้งครรภ์แล้ว แถมตั้งครรภ์ก็ยาก อย่ากระนั้นเลย ขอคุณหมอทำลูกให้เป็นแฝดเลยดูจะคุ้มกว่า” แต่เมื่อตั้งครรภ์แฝดขึ้นมาแล้วจริงๆ เหตุการณ์มันไม่ได้เสียหายอย่างที่คิด เพราะเมื่อตั้งครรภ์ได้เพียงสองสามเดือน อาการไม่พึงประสงค์ก็เริ่มเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออก แล้วสุดท้ายก็แท้งออกไปอย่างน่าเสียดาย หรือบางคนอุตส่าห์อุ้มครรภ์มาได้ถึงเจ็ดแปดเดือน จู่ๆ ก็มีน้ำเดิน แล้วก็ต้องคลอดออกมาก่อนกำหนด เด็กทารกก็ไม่แข็งแรง แถมต้องอยู่ในตู้อบแทนมดลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเสียเงินมากมาย เพื่อการอยู่รอดของลูกแฝดทั้งสองหรือสาม แต่ก็เอาล่ะ อาจจะมีครั้งหนึ่งที่รอดพ้นปากเหยี่ยว ปากกามาได้จนกระทั่งมีอายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งนับว่าเก่งมากๆ และสามารถคลอดออกมาดดยที่เด็กมีขนาดอยู่ในเกณฑ์ดีและปลอดภัยแต่เรื่องก็ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะการเลี้ยงดูเด็กทีเดียวถึงสองคนหือสามคน ก็ใช่ว่าจะสะดวกสบาย เหมือนการเลี้ยงเด็กเพียงคนเดียวหรือครั้งละคน เอาคุณภาพเป็นหลัก ส่วนปริมาณนั้นเป็นรอง
ทุกวันนี้ยังมีคุณๆ หลายคนยังคงคะยั้นคะยอขอให้หมอทำเด็กหลอดแก้วแล้วขอให้เป็นลูกแฝดเสียทีเดียวเลย ผมขอกระชับเตือนว่า อย่าได้โลภมาก เพราะโลภมาก ลาภหาย มักจะเป็นของคู่กัน หากจะทำเด็กหลอดแก้วก็ขอแค่ทีละคนก็พอแล้ว และดีที่สุดแล้ว เพราะการตั้งครรภ์โดยมีเด็กเพียงคนเดียวคุณจะมีโอกาส ถึงฝั่งโดยสวัสดิภาพ ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก
ผมเชื่อว่าในปัจจุบันนี้ น่าจะมีแพทย์น้อยมากที่ตั้งใจจะทำเด็กหลอดแก้วให้เกิดเป็นครรภ์แฝดขึ้นมาเพราะแพทย์คงจะรู้ดีว่าถ้าหากเกิดเป็นครรภ์แฝดขึ้นมาจริงๆ แล้วอาจจะมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนตามมา ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
ฉะนั้นอยากจะมีลูกจริงๆ แล้ว ขอตั้งครรภ์ทีละคน โดยยึดถือคุณภาพมากกว่าปริมาณ ผมเชื่อว่าโอกาสสมหวังของคุณจะมีมากเลยทีเดียว
อย่าได้ไปคาดหวังกับการทำลูกแฝดเลยนะครับ
คุยเรื่องท้องกับหมอพนิตย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)