Haijai.com


“ปฏิสนธิ” ปฏิบัติการมหัศจรรย์ของชีวิต


 
เปิดอ่าน 5011

“ปฏิสนธิ” ปฏิบัติการมหัศจรรย์ของชีวิต

 

 

ในโลกใบนี้มีสิ่งที่ถือว่ามหัศจรรย์เกิดขึ้นมากมาย การเกิดการปฏิสนธิขึ้นภายในครรภ์ก็ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์เช่นกัน กว่าที่อสุจิหนึ่งตัวจะแหวกว่ายไปหาไข่และเจาะเข้าไปได้สำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่คู่สามีภรรยาต่างก็มีความปลาบปลื้มเมื่อรู้ว่ามีอีกหนึ่งชีวิตเกิดขึ้นแล้วในครรภ์ เรามาดูกันค่ะว่ากว่าที่เจ้าตัวน้อยจะคลอดออกมานั้น มีอะไรเกิดขึ้นในครรภ์บ้าง

 

 

การเดินทางของอสุจิ

 

หลังจากที่ฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิซึ่งมีอสุจิจำนวนมากมายหลายร้อยล้านตัวเข้าสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงแล้ว อสุจิจะแหวกว่ายผ่านมูกบริเวณช่องคลอดไปสู่ปากมดลูกซึ่งมีความบางและยืดหยุ่นได้ดีในช่วงที่ไข่ตก แล้วว่ายต่อไปยังโพรงมดลูก ผ่านท่อนำไข่ไปยังปีกมดลูก โดยทั่วไปอสุจิจะแหวกว่ายด้วยความเร็ว 2 – 3 มิลลิเมตรต่อนาที แต่จะว่ายช้าลงในช่วงที่ผ่านช่องคลอดที่มีสภาพเป็นกรด และจะว่ายเร็วขึ้นเมื่อผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกที่มีสภาพเป็นด่าง ซึ่งกว่าอสุจิจะเดินทางไปถึงปีกมดลูก จำนวนอสุจิก็จะลดลงเป็นจำนวนมาก ทำให้เหลืออสุจิจำนวนไม่มากที่มีโอกาสจะว่ายเข้าไปถึงไข่ และจะมีอสุจิเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถเจาะเข้าไปในฟองไข่ได้สำเร็จ หลังจากเจาะเข้าไปได้แล้ว  อสุจิจะสลัดหางทิ้งไปและย่อยส่วนหัวเพื่อปล่อยโครโมโซมทั้ง 23 แท่งที่บรรจุอยู่ภายในให้เข้าไปสู่ไข่  เพื่อจับคู่กับโครโมโซมอีก 23 แท่งในฟองไข่  และรวมตัวกันกลายเป็นเซลล์1 เซลล์ ก็เป็นอันว่าเกิดการปฏิสนธิขึ้นแล้ว

 

 

พัฒนาการของเซลล์และการเดินทางของไข่

 

หลังจากมีการปฏิสนธิขึ้นจนเกิดเป็นเซลล์แล้ว เซลล์จะมีการแบ่งตัวแบบทวีคุณอย่างรวดเร็ว จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ไปเรื่อยๆ  จนมีหลายร้อยเซลล์ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ไข่ที่ได้รับการผสมและกลายเป็นตัวอ่อนนี้จะค่อยๆ เคลื่อนไปฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการเดินทางประมาณหนึ่งสัปดาห์  เมื่อตัวอ่อนสามารถฝังตัวลงในเยื่อบุโพรงมดลูกได้อย่างมั่นคงดีแล้วจึงจะถือว่าการปฏิสนธิครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์  หลังจากนั้นตัวอ่อนจะค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน หรือ 40 สัปดาห์  ก็จะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และพร้อมที่จะคลอดออกมาสู่โลกภายนอก

 

 

4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

 

เมื่อเกิดการปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัวจนกระทั่งประจำเดือนขาดหายไป ซึ่งเมื่อไปตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเองถึงได้รู้ว่าคุณกำลังจะได้เป็นคุณแม่แล้ว ในช่วงนี้ตัวอ่อนจะมีขนาดประมาณ 0.36 – 1 มิลลิเมตร เมื่อวัดจากส่วนบนสุดของศีรษะไปถึงส่วนก้น  ศีรษะของตัวอ่อนจะมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับลำตัว  เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สี่จะเริ่มมีถุงน้ำคร่ำมาห่อหุ้มตัวอ่อนเอาไว้เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน  ข้างๆ ตัวอ่อนจะมีถุงไข่แดงซึ่งประกอบไปด้วยเส้นเลือดเล็ก ๆ มากมาย ทำหน้าที่ให้อาหารกับตัวอ่อนในขณะที่ยังไม่สามารถดูดซึมอาหารเองได้ จนกระทั่งตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้นก็จะเปลี่ยนมาใช้รกในการดูดซึมอาหารจากแม่มาเลี้ยงร่างกายแทน  ในส่วนของตัวอ่อนเองจะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น  เนื้อเยื่อชั้นในจะพัฒนาเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น ตับ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ และ ต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น เนื้อเยื่อชั้นกลางจะพัฒนาเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกอ่อน หลอดเลือด และ ไต ส่วนเนื้อเยื่อชั้นนอกจะพัฒนาเป็นสมอง ระบบประสาท ผิวหนัง และ เส้นผม

 

 

ความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

 

ในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์คุณแม่จะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านรูปร่าง แต่จะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นซึ่งจะมีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของคุณแม่ เช่น  มีอาการเจ็บคัดเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีอาการท้องผูก อารมณ์แปรปรวนง่าย  และ เบื่ออาหาร เป็นต้น

 

 

ในช่วงนี้คุณแม่ต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและเพื่อการเสริมสร้างร่างกายของลูกน้อยในครรภ์  อย่าออกกำลังกายหักโหมหรือทำงานหนักโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการแท้งได้

 

 

แม้การตั้งครรภ์จะนำพาความชื่นใจมาให้คุณและครอบครัว แต่อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดได้ แต่อย่าเพิ่งกลุ้มใจนะคะ เพราะอาการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ ขอให้คุณแม่ทำใจให้สบาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ แล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี ฉบับหน้าเรามาติดตามการเจริญเติบของทารกน้อยในครรภ์กันต่อนะคะ

 

 

ไขข้อข้องใจ

 

 สาเหตุที่ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นทั้งตอนกลางวันและกลางคืนเนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์จะส่งผลทำให้มีเลือดมาคั่งบริเวณเชิงกรานมากขึ้นเพื่อไปหล่อเลี้ยงตัวอ่อน ดังนั้นระบบปัสสาวะที่ต่อเนื่องถึงกันจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย กระเพาะปัสสาวะจะเกิดการระคายเคืองและบีบตัวบ่อยขึ้น จึงทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อย

 

 

 หากคุณแม่สงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ 2 วิธี  วิธีแรกคือการตรวจน้ำปัสสาวะซึ่งคุณแม่สามารถตรวจด้วยตนเองก็ได้ โดยใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์สำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ชุดทดสอบนี้ประกอบด้วยสารละลายเคมี  เมื่อนำมาผสมกับน้ำปัสสาวะ 2-3 หยด (น้ำปัสสาวะวันแรกที่ประจำเดือนเริ่มขาด) จะเกิดปฏิกิริยาที่สามารถบอกให้ทราบได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งหากทำตามขั้นตอนอย่างถูกวิธี ผลที่แสดงว่าคุณกำลังตั้งครรภ์นั้นค่อนข้างน่าเชื่อถือ  ส่วนผลที่บอกว่าคุณไม่ตั้งครรภ์มักเชื่อถือได้น้อยกว่า ฉะนั้นควรรออีก 1 สัปดาห์แล้วจึงทำการทดสอบอีกครั้ง  หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจอีกครั้งหนึ่ง วิธีที่ 2 คือ การตรวจภายในโดยแพทย์  หากคุณตั้งครรภ์ ช่องคลอดและปากมดลูกจะมีสีม่วงคล้ำ เนื่องจากมีเลือดมาหล่อเลี้ยงจำนวนมาก และมดลูกจะโตจนสามารถlคลำได้ชัดเจน การตรวจภายในยังช่วยสำรวจความผิดปกติว่ามีก้อนเนื้องอกที่มดลูกหรือรังไข่ได้อีกด้วย

 

 

หมอทองทิศ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)