Haijai.com


แม่ตั้งครรภ์ ภาวะความดันสูงขณะตั้งครรภ์


 
เปิดอ่าน 18192

แม่ตั้งครรภ์ ภาวะความดันสูงขณะตั้งครรภ์

 

 

คุณกรชนก อายุ 38 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อนการตั้งครรภ์ เมื่อสามารถควบคุมระดับความดันให้คงที่ได้ คุณอายุรแพทย์ประจำตัวจึงอณุญาตให้ตั้งครรภ์ได้ เธอได้มาปรึกษาสูติแพทย์เพื่อช่วยเหลือให้ตั้งครรภ์ได้โดยเร็ว เธอเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการคัดเชื้ออสุจิฉีดเข้าโพรงมดลูกในวันที่ไข่ตก ในครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อมีรอบเดือนมาเธอจึงเริ่มรักษาใหม่อีกครั้ง โชคดีที่ครั้งที่ 2 นี้เธอได้ตั้งครรภ์สมความปรารถนา

 

 

ระหว่างตั้งครรภ์นั้นเธอมีภาวะความดันโลหิตสูงมากขึ้นร่วมกับมีอาการบวม คุณหมอสูติจึงนัดพบเพื่อทำการตรวจอัลตราซาวนด์ถี่กว่าคนที่ตั้งครรภ์ปกติ เพื่อตรวจดูการเจริญเติบโตของทารกว่าเป็นไปตามเกณฑ์ปกติหรือไม่ คุณกรชนกพยายามที่จะพักผ่อนให้มาก และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไปตรวจตรงตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง แต่เมื่ออายุครรภ์ย่างเข้า 32 สัปดาห์ภาวะความดันโลหิตสูงเริ่มควบคุมได้ลำบาก คุณหมอบอกว่าอาจต้องผ่าตัดนำทารกออกมาก่อนกำหนด และขอให้คุณกรชนกนอนพักให้มากขึ้น แล้วนัดมาตรวจซ้ำอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น เมื่อคุณกรชนกกลับถึงบ้านในวันนั้นกลับพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด จึงได้กลับมาพบคุณหมออีกครั้ง คุณหมอได้ทำการตรวจครรภ์และวินิจฉัยว่ารกมีการลอกตัวก่อนกำหนด จึงได้ทำการผ่าตัดคลอดทันที เพื่อป้องกันภาวะที่ทารกอาจขาดออกซิเจนได้

 

 

“น้องวุ่น” ชื่อลูกสาวที่คุณพ่อตั้งให้ คลอดออกมาในวันที่ทุกคนวิ่งวุ่นกันไปหมด ทั้งคุณหมอและพยาบาล ทั้งแผนกสูติ แผนกห้องคลอด ห้องเด็ก เนื่องจากน้องวุ่นเกิดก่อนกำหนดมาก และคุณแม่ยังมีความดันสูงเรื้อรังตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ น้องวุ่นเลยยิ่งตัวเล็ก เลยหายใจเองได้ลำบาก คุณหมอเด็กต้องสอดท่อช่วยหายใจเล็กๆ เหมือนหลอดกาแฟเข้าไปในหลอดลม เพื่อต่อกับเครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยให้น้องวุ่นปรับตัวและหายใจเองได้ น้องวุ่นต้องนอนคาบท่อช่วยหายใจนี้ไว้ถึง 2 วัน เมื่อถอดท่อออกแล้วก็ยังหายใจแบบเหนื่อยๆอยู่ในระยะแรก แต่โชคดีที่น้องวุ่นมีเลือดนักสู้เหมือนคุณแม่ เลยผ่านช่วงวิกฤตมาได้ด้วยดี

 

 

น้องวุ่นต้องนอนใน ICU สำหรับทารกแรกเกิดต่อไปถึง 2 สัปดาห์เพื่อสังเกตอาการ และให้ยาให้ครบ ในระหว่างนี้น้องวุ่นต้องกินนมแม่ทางสายยางด้วย แต่ก็พยายามดูดเองได้บ้างเหมือนกัน ปัจจุบันน้องวุ่นอายุ 3 ขวบแล้ว สุขภาพแข็งแรง ตัวโตกว่าเพื่อนๆที่โรงเรียนอนุบาลบางคนซะด้วยซ้ำ เพราะตอนหลังนี่ทานเก่งมาก มีอะไรในตู้เย็นทานหมดทุกอย่าง ของหมดตู้เมื่อไหร่ถึงเลิก

 

 

โดยทั่วไปแล้วหญิงที่มีภาวะความดันโลหิตสูงนั้น เมื่อตั้งครรภ์แล้วจะมีระดับความดันลดลงเช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไปที่ตั้งครรภ์ ระดับความดันโลหิตจะเริ่มลดลงเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปในระยะไตรมาสแรก และต่ำลงไปถึงที่สุดในระยะไตรมาสที่สอง แล้วจึงค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นในระยะไตรมาสที่สาม ซึ่งระดับความดันโลหิตจะสูงขึ้นไปจนเท่ากับเมื่อก่อนการตั้งครรภ์

 

 

ไขข้อข้องใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

 

1.ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

 

 

2.น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งมักจะพบก่อนมีอาการบวมที่มือหรือหน้า

 

 

3.ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ

 

 

4.อาการปวดศีรษะ การมองเห็นไม่ชัดเจน

 

 

การรักษาภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

 

นอกจากการให้ยา และการตรวจติดตามภาวะสุขภาพของมารดาและทารกอย่างต่อเนื่องแล้ว หากภาวะความดันโลหิตสูงเริ่มควบคุมไม่ได้ การให้สิ้นสุดการตั้งครรภ์เร็วที่สุดเท่าที่ทารกจะสามารถมีชีวิตรอดในโลกภายนอกได้นั้น อาจเป็นทางออกที่ต้องเลือก เพื่อรักษาชีวิตของแม่ และเพื่อให้ลูกเกิดมาอย่างมีสุขภาพแข็งแรงมากที่สุด

 

 

สำหรับรายที่มีความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตสูงในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์อาจรับผู้ป่วยไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาล เพื่อควบคุมความดันโลหิตไม่ให้เป็นอันตรายต่อมารดาและทารก และรอไปจนกระทั่งครบกำหนดก่อนค่อยทำการคลอด แต่ในรายที่มีความรุนแรงของโรคในระดับรุนแรงนั้น การตัดสินใจว่าจะให้คลอดนั้นขึ้นกับภาวะของมารดามากกว่าทารก และต้องให้ยาป้องกันชักร่วมกับยาลดความดัน เพื่อป้องกันการชัก หรือเลือดออกในสมอง และอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ

 

 

ภายหลังการคลอดแล้วอาการทั่วไปมักดีขึ้น แต่ต้องมารับการตรวจติดตามความดันโลหิตเป็นระยะ และรับการรักษาจากอายุรแพทย์อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าแม้การฝากครรภ์ที่ดีบางครั้งยังไม่สามารถควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงให้สงบลงได้ แต่ส่วนมากแล้วจะสามารถป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงในระดับที่รุนแรงได้

 

 

หมอทองทิศ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)