© 2017 Copyright - Haijai.com
10 คำถาม กับข้อสงสัยเรื่อง “คลอด”
จตุพร : สวัสดีค่ะคุณหมอ ในวันนี้ต้องขอขอบคุณมากนะคะที่ให้โอกาสเรามาพูดคุยด้วย เราเริ่มต้นคำถามกันเลยดีกว่านะคะ ไหน ๆ ก็ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท แล้วคงต้องเรียนถามว่าที่นี่ให้การดูแลในเรื่องของสูติกรรมอะไรบ้าง
พญ.เยาวลักษณ์ : สำหรับศูนย์สุขภาพสตรี ของโรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท เราให้การดูแลสตรีตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ อบรมการเตรียมตัวก่อนคลอด โดยฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายก่อนคลอด สอนวิธีบริหารร่างกาย และวิธีการที่สามีจะช่วยภรรยาขณะเจ็บคลอด วิธีการที่จะช่วยคลายความเจ็บโดยไม่ต้องใช้ยา นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือดูแลขณะตั้งครรภ์ เช่น เครื่องอัลตร้าซาวน์ 4 มิติ ซึ่งจะช่วยยืนยันความแข็งแรงสมบูรณ์ของลูกน้อยในครรภ์ได้เป็นอย่างดี และถ้ามีความจำเป็นก็ยังสามารถให้บริการเจาะน้ำคร่ำ เจาะเลือดดูโครโมโซมได้ด้วย เรียกว่าถ้ามาฝากครรภ์กับเราที่นี่เราก็พร้อมที่จะบริการคุณแม่ตั้งครรภ์ในทุก ๆ เรื่องค่ะ
จตุพร : อยากเรียนถามคุณหมอว่าปัจจุบันการคลอดมีกี่วิธีคะ
พญ.เยาวลักษณ์ : สำหรับการคลอดที่โรงพยาบาลสมิติเวชสาขาสุขุมวิทมีให้บริการคลอด 4 วิธี ค่ะ คือ คลอดธรรมชาติแบบไม่ใช้ยาแก้ปวด คลอดแบบไม่ผ่าตัดแต่ใช้ยาแก้ปวดหรือบล๊อคหลัง ผ่าตัดคลอด และคลอดในน้ำ ค่ะ
จตุพร : แล้วทั้ง 4 วิธีที่คุณหมอบอกมานี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ที่กำลังจะคลอดสามารถเลือกคลอดได้เองหรือต้องให้คุณหมอแนะนำคะ
พญ.เยาวลักษณ์ : ทางโรงพยาบาลของเราเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยแต่ละคนค่ะแพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูล ส่วนผู้ป่วยจะตัดสินใจอย่างไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเอง ยกเว้นเสียแต่ว่าการคลอดนั้นมีความผิดปกติเกิดขึ้นซึ่งแพทย์มีหน้าที่ต้องใช้วิธีที่จะให้ทั้งแม่และลูกปลอดภัยซึ่งผู้ป่วยเองก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของแพทย์เช่นกันค่ะ
จตุพร : คนไข้ส่วนใหญ่เลือกที่คลอดเองตามธรรมชาติหรือผ่าคลอด หรือคลอดในน้ำคะ
พญ.เยาวลักษณ์ : ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกคลอดเองตามธรรมชาติ คลอดธรรมชาติ มีข้อดีคือ ทารกในครรภ์ไม่ได้รับยาแก้ปวด หรือยาเร่งคลอดใดๆ ไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงของยา มีรายงานวายาแก้ปวดบางชนิดทำให้ทารกในครรภ์มีแนวโน้มติดสารเสพติดได้ง่ายเมื่อโตขึ้น ยาบางชนิดมีฤทธิ์กดการหายใจต่อทารก ในครรภ์ ทำให้หายใจเองไม่ได้เมื่อคลอดออกมา อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือทารกอาจง่วงซึมไม่ดูดนม ไม่ได้รับอาหารที่ควรจะได้ อย่างไรก็ตามถ้าคิดว่าทาารกคลอดเองตามธรรมชาติอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดา หรือทารก เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ สายสะดือรัดคอทารกจนเกิดภาวะขาดอ๊อกซิเจน มารดามีภาวะครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง ทารกในครรภ์อยู่ในท่าขวาง หรือไม่เอาศรีษะลงไปในเชิงกรานของแม่หรือเอาศรีษะลง แต่แหงนหน้ายกคอขึ้น ถึงให้คลอดเอง ถ้าไม่เสียชีวิตก็อาจพิการได้หรือสมองเสียหายได้ ซึ่งแพทย์จะให้คลอดโดยวิธีผ่าตัดหน้าท้อง
จตุพร : มีหลายคนบอกว่าผ่าตัดคลอดช่วยลดอัตราตายของแม่และลูกจริงหรือเปล่าคะ
พญ.เยาวลักษณ์ : การผ่าตัดคลอดช่วยลดอัตราตายของทารกในกรณีที่มีความผิดปกติต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น แต่ไม่ลดอัตราการเสียชีวิตในมารดาค่ะ
จตุพร : ถ้าอย่างนั้นการคลอดแต่ละชนิดมีผลดีผลเสียต่างกันอย่างไร
พญ.เยาวลักษณ์ : การคลอดเองถ้าแพทย์ที่มีความรู้ชำนาญพอ จะรู้ดีว่าผู้ป่วยรายนี้สมควรให้คลอดเองได้หรือไม่ ถ้าคิดว่าการคลอดนี้อาจยาวนานก่อให้เกิดความบอบช้ำต่อมารดาและทารก ก็ไม่ควรดันทุรังให้คลอดเองตามธรรมชาติ ควรตัดสินใจทำการผ่าคลอดเองและบอกผู้ป่วยกับสามีว่าถ้าดันทุรังต่อไปจะมีอันตรายต่อผู้ป่วยเปล่าๆ ผู้ป่วยและสามีเองก็ต้องยอมรับนับถือในการตัดสินใจของแพทย์ เพราะถ้าดื้อดึงต่อไป จนเกิดอันตรายต่อมารดาหรือทารก อาจถึงขั้นเสียชีวิต แล้วแพทย์คือผู้เสียชีวิตแต่เพียงผู้เดียวค่ะ แม้แต่สามีผู้ยืนกรานไม่ยอมให้สามีผ่าตัด ก็ไม่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบครั้งนี้ค่ะ
จตุพร : ความแตกต่างกันภายหลังจากการคลอดเองของแม่และการผ่าคลอดจะเป็นอย่างไรบ้างล่ะคะ
พญ.เยาวลักษณ์ : จริง ๆ แล้วแผลจากทารกคลอดเองและผ่าตัดคลอดจะอยู่คนละที่นะคะ แผลจากการผ่าตัดจะอยู่บนหน้าท้องใต้ขอบกางเกงชั้นใน ส่วนแผลจากการคลอดเองจะอยู่ที่ฝีเย็บระหว่างช่องคลอดและทวารหนัก แต่เนื่องจากกการผ่าตัดคลอดทารกในครรภ์ไม่ได้ผ่านช่องคลอดออกมา ก็ไม่มีการยืดขยายของช่องคลอดเพราะฉะนั้นคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติจะต้องบริหารช่องคลอดหลังคลอดแล้วโดยการขมิบทุกวันเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบๆ ช่องคลอดกลับมากระชับเหมือนเดิม แต่แผลฝีเย็บจะเกิดรอยแผลเป็นน้อยกว่าแผลบนหน้าท้องค่ะ(การผ่าตามแนวตั้ง)
จตุพร : ทราบมาว่าที่โรงพยาบาลสมิติเวชมีการให้บริการการคลอดในน้ำด้วย แบบนี้แม่ที่ต้องการคลอดในน้ำต้องเตรียมตัวอย่างไรคะ
พญ.เยาวลักษณ์ : โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิทมีบริการคลอดในน้ำมานานกว่า 10 ปี คือ ค.ศ.1994 ซึ่งผู้ป่วยคนแรกนั้นเป็นชาวต่างชาติ ปัจจุบันมีอัตราการคลอดในน้ำร้อยละ 6 ของทารกที่คลอดทั้งหมด ทางโรงพยาบาลไม่มีการอบรมการคลอดในน้ำ แต่อาจจะเข้าอบรมการเตรียมตัวการคลอดร่วมกับคู่สามีภรรยาที่ตั้งใจอยากคลอดธรรมชาติได้ เพราะใช้หลักการบริหารร่างกาย การผ่อนคลายความเจ็บปวดเหมือนๆ กัน แต่จะต้องทราบไว้ข้อหนึ่งว่าผู้ที่จะคลอดในน้ำต้องลงไปในอ่างน้ำและนั่งคลอดเท่านั้น และต้องไม่มีการใช้ยาแก้ปวดหรือบล๊อคหลังเพื่อผู้ป่วยจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถนั่งทรงตัวในน้ำได้ ขณะเบ่งคลอด มิฉะนั้นก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อลูก เช่น สำลักน้ำเข้าไปในปอดได้ ดังนั้นทารกที่คลอดใต้น้ำต้องถูกนำออกมาภายใน 60 วินาที
จตุพร : อยากทราบว่าผลดี ของการคลอดในน้ำนี้มีอะไรบ้างคะ และทุกคนสามารถคลอดในน้ำได้หรือเปล่าคะ
พญ.เยาวลักษณ์ : สำหรับข้อดีของทารกคลอดในน้ำคือ น้ำอุ่นจะช่วยลดความเจ็บปวด คลายเครียด สูยเสียพลังงานในการคลอดน้อยลง ปากช่องคลอดยืดหยุ่นได้ดี มีการฉีกขาดของฝีเย็บน้อยกว่าคลอดบนบก แต่อย่างที่ทราบว่าทารกที่คลอดใต้น้ำ จะมีเวลาในการปรับตัวไม่เกิน 60 วินาที ที่ต้องนำทารกขึ้นบนผิวน้ำ ฉะนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนจะคลอดในน้ำได้ค่ะ และเราก็มีข้อห้ามในการคลอดในน้ำไว้ว่า คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์แฝด ทารกไม่เอาศรีษะลงมา ทารกมีภาวะขาดอ๊อกซิเจน ถุงน้ำคร่ำแตกเกิน 24 ชั่วโมง คลอดก่อนกำหนด เลือดออกมากผิดปกติ มารดามีภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มารดาเป็นโรคติดต่อ เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอดส์ จะไม่สามารถเลือกวิธีการคลอดในน้ำได้ค่ะ
จตุพร : มาถึงคำถามสุดท้ายที่หลายคนฝากถามมาว่า ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่มักจะเลือกคลอดตามฤกษ์ยาม ไม่ทราบว่าเป็นผลดีหรือไม่กับลูกในท้องที่กำลังจะคลอดออกมาหรือเปล่าคะ
พญ.เยาวลักษณ์ : อันที่จริงข้อมูลปัจจุบันพบว่าการผ่าตัดคลอดตามฤกษ์ลดลง ส่วนจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเชื้อของคนเราย่อมแตกต่างกัน แต่พ่อแม่เกือบทุกคน ย่อมรักลูก ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค่ะ
ค่ะวันนี้เราก็คงจะหายสงสัยกันไปแล้วนะคะเพราะทุกคำถามเกี่ยวกับการคลอดลูกนั้นคุณหมอก็ตอบอย่างตรงประเด็นทีเดียว ค่ะ ขอขอบคุณ พญ.เยาวลักษณ์ รพีพัฒนา เป็นอย่างมากที่มาร่วม ให้ความรู้กับเราในวันนี้ค่ะ
พญ.เยาวลักษณ์ รพีพัฒนา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)