© 2017 Copyright - Haijai.com
หย่านมแม่แบบไหนไม่ทำร้ายจิตใจลูก
ช่วงหย่านมแม่เป็นช่วงหนึ่งที่อาจสร้างความหงุดหงิดใจให้กับเจ้าตัวเล็กไม่น้อย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะความอบอุ่นที่ลูกได้รับขณะดูดนมจากอกคุณแม่นั้นหายไป แถมเจ้าตัวเล็กยังไม่ชอบใจจุกนมยางของขวดนมที่คุณแม่หยิบยื่นให้อีก ทำให้ลูกไม่ยอมกินนมผสม ทั้งหิวทั้งถูกขัดใจแบบนี้ เป็นใครก็ต้องหงุดหงิดเป็นธรรมดาค่ะแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการหย่านมจะทำให้เจ้าตัวเล็กหงุดหงิดเสมอไป ถ้าคุณแม่มีความเข้าใจและอาศัยเทคนิคนิดหน่อย ก็จะทำให้ช่วงเวลาหย่านมเป็นไปอย่างราบรื่นได้ค่ะ
หย่านมแบบนี้สิใช่เลย
1.อย่างที่ทราบกันดีว่านมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อยที่สุด 6 เดือน แล้วจึงค่อยหย่านมแม่ ที่สำคัญการหย่านมแม่ในช่วงที่ลูกอายุยังน้อย (น้อยกว่า 6 เดือน) จะทำได้ยากกว่าเมื่อลูกอายุ 6 เดือนไปแล้ว
2.ช่วงแรกๆ ของการหย่านมแม่ คุณแม่ควรลดเวลาการให้นมแต่ละครั้งให้สั้นลง แล้วให้ลูกกินนมผสมเพิ่มจนอิ่ม วิธีนี้จะเป็นการฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการดูดนมผสมจากขวดแบบค่อยเป็นค่อยไป
3.เมื่อเห็นว่าเจ้าตัวเล็กไม่มีปัญหากับนมผสมและการดูดนมจากขวด คุณแม่ก็สามารถงดให้นมแม่ได้ โดยให้งดนมแม่เพียงมื้อเดียวก่อน แต่ไม่ควรเป็นมื้อแรกของวัน และให้งดนมแม่มื้อเดียวไปประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าเจ้าตัวเล็กไม่มีปัญหาอะไร สัปดาห์ต่อไปจึงค่อยงดเพิ่มเป็น 2 มื้อ
4.หากเจ้าตัวเล็กไม่สามารถงดนมแม่ 2 มื้อติดต่อกันได้ ให้ใช้วิธีให้นมแม่หนึ่งมื้อ สลับกับให้นมผสม หนึ่งมื้อไปก่อน
5.เวลาให้ลูกกินนมผสม คุณแม่ควรขอให้คุณพ่อหรือญาติๆ เป็นคนให้ เพื่อไม่ให้ลูกได้กลิ่นน้ำนมแม่ซึ่งอาจจะทำให้ลูกปฏิเสธการกินนมผสมได้
6.เวลาที่ลูกตื่นขึ้นมากลางดึกซึ่งปกติแล้วคุณแม่จะเป็นคนกล่อมให้ลูกหลับอีกครั้งโดยการให้ดูดนมแม่จนหลับ แต่ช่วงที่คุณกำลังให้ลูกหย่านมแม่ เวลาที่เจ้าตัวเล็กตื่นขึ้นมากลางดึกควรให้คุณพ่อเป็นคนกล่อมลูกให้นอนเพราะคุณพ่อก็เป็นคนที่ลูกคุ้นเคยเช่นกัน จึงสามารถทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยได้ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกสามารถนอนหลับต่อได้โดยไม่ร้องหานมแม่
7.สำหรับคุณแม่ที่ให้เจ้าตัวเล็กหย่านมแม่เมื่ออายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปซึ่งเป็นช่วงที่ลูกสามารถกินอาหารเสริมได้แล้ว คุณแม่สามารถให้ลูกกินอาหารเสริมทดแทนนมแม่ได้เป็นบางมื้อ ส่วนมื้อที่เหลือก็ให้ลูกกินนมผสมแทน สำหรับอาหารเสริมที่ให้แทนมื้อนมนั้น ในช่วงแรกๆ ควรเริ่มด้วยอาหารเสริมที่มีรสชาติใกล้เคียงกับนมก่อนจะช่วยให้ลูกกินได้ง่ายขึ้น เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยแล้วจึงค่อยเปลี่ยนรสชาติอาหารให้หลากหลายมากขึ้น
8.ถ้าลูกต่อต้านนมผสมหรืออาหารเสริมในช่วงแรกๆ คุณแม่ไม่ควรบังคับฝืนใจลูก เพราะจะยิ่งทำให้ลูกต่อต้านมากขึ้น ทางที่ดีควรหยุดไปสักพักแล้วค่อยเริ่มใหม่
9.ช่วงที่อยู่ระหว่างการหย่านมแม่นั้น คุณแม่ควรให้ความรักความอบอุ่นกับลูกให้มากๆ กอดลูกบ่อยๆ ทั้งตอนกินนมและไม่ได้กินนม ลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าความอบอุ่นที่ได้รับเวลาที่กินนมแม่นั้นขาดหายไป
10.สำหรับเจ้าตัวเล็กที่พูดรู้เรื่องแล้ว คุณแม่สามารถหานิทานเกี่ยวกับการดื่มนมจากแก้วมาอ่านให้ลูกฟังเพื่อจูงใจให้ลูกคล้อยตามง่ายขึ้น
11.การพาเจ้าตัวเล็กไปเดินเลือกซื้อแก้วดื่มนมเอง หรืออาจจะมีอุปกรณ์เสริมช่วย เช่น หลอดดูดนมลายการ์ตูนที่ลูกชอบ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยจูงใจให้ลูกอยากดื่มนมจากแก้วมากขึ้น
12.เมื่อลูกยอมดื่มนมจากแก้วหรือตักอาหารเสริมกินเองได้ คุณแม่ควรปรบมือให้กำลังใจและเอ่ยคำชมพร้อมทั้งกอดลูก จะทำให้เจ้าตัวเล็กมีความรู้สึกที่ดีขึ้น
การทำอะไรก็ตามที่อาจจะกระทบกระเทือนความรู้สึกของเจ้าตัวเล็ก คุณแม่ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเด็กเล็กๆ ต้องการความรักความอบอุ่นและความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่มากที่สุด หากคุณทำให้ลูกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยก็จะส่งผลให้สภาพจิตใจของลูกดีตามไปด้วย การหย่านมแม่มีผลต่อความรู้สึกของลูกมาก หากลองหย่านมครั้งแรกแล้วไม่สำเร็จก็ขอให้คุณแม่ใจเย็นๆ ใช้ความรักความเข้าใจเป็นที่ตั้ง แล้วคุณก็จะสามารถหย่านมแม่ได้ในไม่ช้าค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)