Haijai.com


เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องทำก่อนที่จะไปทำงาน


 
เปิดอ่าน 2039

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องทำก่อนที่จะไปทำงาน

 

 

Breastfeeding Mom Must Do Before Go to Work

 

ก่อนออกไปทำงานทุกๆ วันนอกจากคุณปูจะต้องปั๊มนมเก็บไว้ให้น้องพิมมี่แล้ว ก็ยังต้องเตรียมอุ่นน้ำนมที่เก็บไว้ออกมาอุ่นให้น้องด้วยค่ะ

 

 

 เริ่มจากนำขวดนมที่ล้างสะอาดแล้วใส่ตู้อบขวดนม เพื่อฆ่าเชื้อโรค

 

 หยิบน้ำนมแช่แข็งที่นำลงมาแช่ไว้ในช่องธรรมดาตั้งแต่เมื่อคืนออกมาแช่ในน้ำอุ่นเพื่อให้นมละลาย จนเหลวพอที่จะเทใส่ขวดได้ (หากเป็นน้ำนมที่แช่ในช่องธรรมดาอยู่แล้วควรนำออกมาวางที่อุณหภูมิห้องสักพัก)

 

 เทใส่ขวด เปิดเครื่องอุ่นนม เมื่อน้ำร้อนในเครื่องอุ่นนม อุ่นได้ระดับหนึ่งจึงนำขวดนมที่ใส่นมแม่ไว้ใส่ลงไปอุ่น

 

 เชคอุณหภูมิน้ำนมดูสิว่า อุ่นได้ที่พอให้เจ้าตัวดีดูดหรือยัง ด้วยการหยดน้ำนมลงบนหลังมือ

 

 เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย ส่งมอบขวดนมให้คุณพี่เลี้ยงไว้ป้อนลูกน้อยได้เลย!!

 

 

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรและไม่ควร Breastfeeding Dos & Don’ts

 

Dos Don’ts
เขียนวันเวลาที่บรรจุน้ำนมแม่ใส่ในถุงเก็บน้ำนม เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรใช้ถุงไหนก่อนหลัง ไม่ควรอุ่นนมแม่ในเตาไมโครเวฟ หรือใช้การต้ม เพราะจะเป็นการทำลายสารอาหารในนมแม่
แช่น้ำนมที่ปั๊มออกมาและจะใช้ภายในวันนั้นเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้ โดยไม่ต้องแช่แข็ง ไม่ควรแช่น้ำนมแม่บนฝาตู้เย็น เพราะอุณหภูมิไม่คงที่

 

 

 

ให้นมแม่ไม่เห็นยาก หากมีผู้ช่วย

 

สมัยนี้การให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้วค่ะ เพราะว่ามีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย คุณแม่ตั้งครรภ์ที่คิดว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องยากเกินกว่าจะทำได้ น่าจะแวะอ่านหน้านี้ เพื่ออัพเดตผู้ช่วยสมัยใหม่ที่ทำให้การให้นมแม่เป็นเรื่องง่ายขึ้นสักนิดแล้วค่ะ

 

 

ถุงเก็บน้ำนมแม่

 

ถุงเก็บน้ำนมจำเป็นสำหรับคุณแม่ที่น้ำนมเริ่มมาเยอะค่ะ สามารถปั๊มได้ครั้งละ 2-3 ออนซ์ ขึ้นไป เพราะช่วยให้ไม่เปลืองเนื้อที่ในการเก็บ  ปัจจุบันมีทั้งแบบที่ผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ คุณภาพไม่แตกต่างกัน  ประโยชน์อีกประการของการใช้ถุงเก็บน้ำนมคือ ใส่น้ำลงไปแล้วแช่แข็ง ใช้แทนน้ำแข็งหรือ ice pack แช่น้ำนมในกระติกได้ เพราะหากน้ำละลายก็แช่แข็งแล้วใช้อีกได้ ไม่ต้องซื้อน้ำแข็งเติมบ่อยๆ เหมาะมากๆ สำหรับคุณแม่ทำงานที่ต้องปั๊มนมที่ทำงานแล้วนำน้ำนมกลับมาบ้านค่ะ

 

 

เครื่องปั๊มนม

 

มีทั้งแบบปั๊มด้วยมือ และแบบอิเลคทริค คุณแม่มือใหม่อาจจะสับสนว่าจะเลือกอย่างไร หลักการก็ง่ายๆ ค่ะ หากคุณเป็นคุณแม่ทำงานเต็มเวลา อาจจะเลือกแบบไฟฟ้าที่ประหยัดเวลาในการปั๊มมากกว่า ส่วนเรื่องปริมาณที่ได้นั้นไม่ค่อยต่างกัน นอกจากนี้ หากจะเลือกเครื่องปั๊มนมไฟฟ้า ควรเลือกเครื่องปั๊มนมที่มีแรงดูด (Suction Strength) อย่างน้อย 200 มม.ปรอท จังหวะในการดูดอย่างน้อย 40-60 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นจังหวะที่ใกล้เคียงกับการดูดของทารก แต่ถ้าจำเป็นต้องปั๊มนมนานกว่า 4 เดือนขึ้นไป ควรเลือกซื้อเครื่องปั๊มนม ที่มีจังหวะในการดูดมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เพราะหากมีจังหวะในการดูดต่ำกว่านั้นจะดูดน้ำนมไม่ออก

 

 

เสื้อให้นมแม่

 

สำหรับคุณแม่ที่กะเตงลูกออกไปนอกบ้าน ไม่ต้องกลัวไม่สวย และไม่ต้องกังวลว่าจะโป๊หากจะต้องให้นมลูกค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ใช่มีแค่เสื้อในสำหรับให้นมเท่านั้น ยังมีเสื้อตัวนอกสวยๆ ทันสมัย ที่ออกแบบมาสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกโดยเฉพาะอีกด้วย โดยตัดเย็บให้คุณแม่สามารถเปิดบริเวณหน้าอกเพื่อให้นมลูกได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องอายใครค่ะ

 

 

คัดตึงเต้านม กะหล่ำปลีช่วยได้!

 

งานวิจัยหน้าทึ่งชิ้นนี้จัดทำโดยกลุ่มพยาบาลในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ค่ะ ซึ่งการวิจัยโดยใช้วิธีนำกะหล่ำมาประคบเต้านมนั้น จะต้องตัดขั้วผลออกก่อน ล้างให้สะอาด ลอกกลีบหัวกะหล่ำออกเป็นใบๆ จนหมด และเลือกใบที่มีขนาดใกล้เคียงกับเต้านมของมารดา จากนั้นนำกลีบใบกะหล่ำมาประคบที่เต้านมข้างละใบ แล้วใช้ผ้าพันทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที โดยไม่ต้องนวดคลึง พบว่าอาการปวดบวมคัดตึงในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคุณแม่มือใหม่หายไปค่ะ

 

 

น้ำนมนี้เก็บได้นานแค่ไหน

 

น้ำนมที่ปั๊มออกมาแล้ว เก็บไว้ในภาชนะที่สะอาดแช่ตู้เย็นในอุณหภูมิต่างกัน ระยะเวลาการเก็บไว้ได้ก็จะต่างกันด้วย

 

 

 

วิธีการเก็บ ระยะเวลาที่เก็บได้
เก็บที่อุณหภูมิมากกว่า 25 องศาเซลเซียส 1 ชั่วโมง
เก็บที่อุณหภูมิน้อยกว่า 25 องศาเซลเซียส 4 ชั่วโมง
เก็บในกระติกน้ำแข็ง 1 วัน
ในตู้เย็นช่องธรรมดา 2-3 วัน
ในตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูเดียว 2 สัปดาห์
ในตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูแยก 3 เดือน

 

(Some images used under license from Shutterstock.com.)