Haijai.com


How to Be a Pretty Child เป็นเด็กน่ารักไม่ยากสักนิด


 
เปิดอ่าน 2543

How to Be a Pretty Child เป็นเด็กน่ารักไม่ยากสักนิด

 

 

“เด็กคนนั้นลูกใคร น่ารักจังเลย”  คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ยินใครชมลูกของเราแบบนี้คงอดที่จะปลื้มใจไม่ได้ จริงไหมคะ  พ่อแม่ทุกคนแหละค่ะหวังอยากให้ลูกของตัวเองเป็นเด็กน่ารักในสายตาของใครๆ  แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนนี่ค่ะที่จะโดนชมว่าน่ารัก ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าจะต้องมีอะไรซักอย่างที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กคนนั้นดูน่ารักแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ว่าแต่ว่าบางอย่างที่ว่านั้นคืออะไรน้า

 

 

เด็กๆ น่ารัก จากข้างใน

 

พ่อแม่หลายคนเข้าใจผิดค่ะ คิดว่าเด็กน่ารักจะต้องคือเด็กที่หน้าตาจิ้มลิ้ม ปากนิดจมูกหน่อย แก้มป่อง ตาโต  แน่นอนค่ะว่าสิ่งเหล่านั้นคือองค์ประกอบที่จะทำให้เด็กๆ ดูน่ารักน่ามอง  แต่เคยเห็นไหมค่ะเด็กตัวเล็กๆ ประเภทที่ว่ารูปร่างหน้าตาน่ารักแต่กิริยามารยาทไม่ชวนมองเอาเสียเลย เด็กแก่แดด เด็กก้าวร้าว หรือเด็กเอาแต่ใจ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมค่ะว่าเด็กเหล่านี้ถึงจะมีหน้าตาน่ารักสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่มีใครอยากเข้าใกล้หรืออยากคุยด้วยเลย ผิดกับเด็กบางคนที่ดูธรรมดาหน้าตาไม่น่ารักโดดเด่น แต่เวลาพูดจาแล้วน่ารัก ช่างพูดช่างจา  ช่างถาม และมีน้ำใจ ผู้ใหญ่ถามอะไรก็ตอบได้อย่างสุภาพน่ารัก  เคยสังเกตไหมค่ะว่าเด็กที่ช่างพูดช่างจา ผู้ใหญ่จะเอ็นดูเป็นพิเศษ แต่ถ้าช่างพูดช่างจาแก่กล้าเกินวัยเด็ก ผู้ใหญ่เขาก็จะบอกค่ะว่า เป็นเด็กแก่แดด  อีกอย่างค่ะความเชื่อและค่านิยมคือสิ่งที่มากำหนดว่าคนคนหนึ่งจะมีบุคลิกและนิสัยอย่างไร พ่อแม่ที่ฉลาดและอยากหล่อหลอมนิสัยและความประพฤติที่รักติดตัวลูกไปจนเป็นผู้ใหญ่จะรู้ว่า ควรเริ่มสอนเมื่อไหร่ดี การอธิบายถึงเหตุผลที่มา ที่ไป ต้นเหตุปัญหาต่างๆ ด้วยภาษาที่เด็กๆ จะเข้าใจได้ง่ายๆ จะช่วยสร้างค่านิยมและความเชื่อรวมทั้งฝึกการเป็นคนมีเหตุมีผล เข้าใจในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตามสภาพความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน จะทำให้เด็กๆ เข้าถึงจิตใจของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

 

 

6 คุณสมบัติของเด็กน่ารัก

 

 .เด็ก อดทน

 

ความอดทน อดกลั้นคือความสามารถอย่างหนึ่งในการควบคุมและจัดการกับตัวเองได้  ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของการเป็นมนุษย์ด้วย ความอดทนนี้ฝึกกันได้ไม่ยากค่ะ เด็กบางคนที่หวีดร้อง ขึ้นมาเมื่อโดนขัดใจ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเป็นเด็กที่ไม่ฝึกความอดทน และเด็กแบบนี้เห็นที่ไหนยังไงก็ดูไม่น่ารักจริงไหมคะ

 

 

 รับผิดและรับชอบ

 

คนที่รับผิดชอบจะยอมรับในความผิดพลาดนั้นก่อนว่ามาจากตัวเขาเอง แล้วจึงค่อยอธิบายทีหลังว่าที่มาความความผิดนั้นเป็นอย่างไรค่ะ ตรงกันข้ามคนประเภทขาดความรับผิดชอบนั้นจะมุ่งที่การหาขออ้าง หาคนรับผิด.. หรือคำพูดต่างๆ นานา มาแบ่งเบาความผิดพลาดในครั้งนี้  เด็กๆ ก็เช่นกันถ้าคนสอนให้เขายอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาแม้ว่าจะจากการมีส่วนร่วมเพียงน้อยนิดก็ตาม… ไม่มีเด็กหรือผู้ใหญ่คนไหนดูดีหรือน่ารักในสายตาคนอื่นเวลาที่เขาเอาแต่แก้ตัวและโยนความผิด

 

 

 มีอิสระบนกติกาของสังคม

 

อิสระไม่ใช่การทำอะไรตามใจที่อยากทำโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอื่น อิสรภาพหมายถึงการทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นและสังคม  เด็กๆ บางทีก็อาจจะยังไม่รู้ว่าสิ่งไหนทำได้และทำไม่ได้ภายใต้การอยู่ร่วมกันกับคนในสังคม  การสอนลูกเรื่องกฎกติกาถือเป็นเรื่องสำคัญ…เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้เขาเข้าใจการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคม แต่ในกฎหรือกติกาพ่อแม่ควรจะมีความยืดหยุ่นและประนีประนอม เว้นช่องไว้ให้ความคิดเห็นของลูกและความคิดสร้างสรรค์  เด็กๆ ที่ทำอะไรตามที่คิดบนกติกาของสังคม  จะไม่มีทางสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นได้ค่ะ

 

 

 รู้เหตุและรู้ผล

 

เหตุและผลพูดง่ายๆ ก็คือที่มาและที่ไปนั่นเอง  การปลูกฝังให้เด็กๆ เป็นคนรู้เหตุและผลนั้นจะพัฒนาต่อไปให้เด็กๆ กลายเป็นคนที่มีเหตุผล  เด็กๆ ที่ไม่รู้จักเหตุและผลจะไม่รู้ว่าควรทำตามคำสั่งที่หรือคำแนะนำที่พ่อแม่และผู้ใหญ่บอกมาซึ่งบางที่แสดงออกมาในพฤติกรรมของการเป็นเด็กดื้อหรืออีกแบบคือเป็นเด็กหัวอ่อนไม่เข้าใจและวิเคราะห์ไม่ได้ว่าอันไหนควรทำไม่ควรทำ ใครให้ทำอะไรก็ทำหมด ดูๆ แล้วอาจจะน่ารักนะคะในสายตาผู้ใหญ่แต่จะน่ารักกว่าค่ะถ้าเด็กคนนั้นช่างซักช่างถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ก่อนแล้วถึงค่อยลงมือทำ

 

 

 ซื่อสัตย์

 

เป็นคุณสมบัติที่คลาสสิกมากค่ะ แต่ก็ทำยากที่สุดเช่นกัน ซื่อสัตย์ในที่นี้ให้ยึดถือตามหลักพุทธค่ะที่ว่า ซื่อสัตย์ทั้ง กาย วาจา และใจ   คิดในเรื่องซื่อสัตย์  ไม่พูดปด และไม่ทำอะไรที่ไม่ซื่อสัตย์ เช่น หยิบฉวย ลักขโมย  ซึ่งถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กซื่อสัตย์อย่างแท้จริง ก็ต้องปลูกฝังกันจากข้างในค่ะ เหมือนกับคำพูดที่ว่า ระวังความคิดเอาไว้เพราะมันจะกลายเป็นคำพูด และระวังคำพูดของตัวเองเอาไว้ มันจะกลายเป็นการกระทำในที่สุด

 

 

 กล้าอย่างถูกเวลาและสถานที่

 

ในยุคสมัยที่กระแสวัฒนธรรมต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาอย่างหลากหลาย ดีบ้างและร้ายบ้างในบางครั้ง แต่ส่วนหนึ่งที่ดีคือเด็กๆ ในสมัยนี้มีความกล้ามากกว่าในอดีต  กล้าคิดกล้าทำและกล้าที่จะแสดงออก  แต่ความกล้าบางทีก็จำเป็นที่จะต้องมีขอบเขตกันบ้าง โดยเฉพาะต้องกล้าอย่างรู้เวลาและสถานที่หรือกาลเทศะนั่นเอง  เด็กๆ ที่กล้าอย่างไม่รู้เวลาและสถานที่มักจะโดนตำหนิว่า ก้าวร้าว  ไม่รู้จักเด็กหรือผู้ใหญ่  ซึ่งการโดนต่อว่าในลักษณะนี้จะทำให้เด็กๆ ที่มีความคิดและมุมมองต่อเรื่องต่างๆ เลือกที่จะเงียบไว้เพราะไม่มั่นใจว่าสิ่งที่แสดงออกมานั้นจะได้รับการยอมรับหรือไม่    สังคมไทยทุกวันนี้แม้จะเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นได้มากกว่าเมื่อในอดีต  แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยค่ะว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเปิดอย่างเต็มที่

(Some images used under license from Shutterstock.com.)