Haijai.com


วิธีป้องกันและการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง


 
เปิดอ่าน 1182
 

วิธีป้องกันและการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง

 

 

1.อย่าลืมลูกคนกลาง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้เขาอยู่ในตำแหน่งพิเศษ ควรทำให้ลูกรู้สึกเหมือนกันหมดทุกคน การที่ลูกคนกลางได้ความสนใจเป็นพิเศษ อาจทำให้ความพิเศษกลายเป็นปัญหา เป็นต้นว่า อาจทำให้เกิดการถือพวกกันระหว่างพี่น้อง เพราะลูกคนพี่ก็จะไม่ชอบ ลูกคนน้องก็จะไม่ชอบ พี่คนโตถือพวกกับน้องเล็ก คนกลางจะรู้สึกโดดเดี่ยว (หรือถ้าลูกคนกลางไม่ได้รับความสนใจก็อาจเกิดปัญหานี้ได้) เวลาที่มีเรื่องทะเลาะกัน อาจทำให้เป็นลูกคนกลางอยู่เรื่อยที่มีปัญหา สิ่งเหล่านี้พ่อแม่พึงระวัง

 

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ควรมีหน้าที่ทำให้ลูกๆ มีความสามัคคีกัน เด็กๆ อาจมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าเด็กอายุมากกว่า 4 ขวบขึ้นไปแล้ว ก็ควรให้เขาได้ตัดสินปัญหา หรือหาข้อยุติของปัญหาเอาเองบ้าง โดยเราอาจแค่เข้าไปถามว่า “ไหน..ลูกๆ ได้ตกลงกันอย่างไร” “ลูกๆ จะช่วยเหลือกันอย่างไร” พี่มีเมตตากับน้องอย่างไร น้องมีความเคารพพี่อย่างไร แต่ถ้าเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ พ่อแม่ควรเข้าไปช่วยจัดการปัญหาก่อน

 

 

2.เลี้ยงลูกตามวัย การเลี้ยงลูกตามวัยจะทำให้เราไม่คิดว่าเขาเป็นลูกคนโต คนกลางหรือคนเล็ก แต่จะคิดว่าเขาอยู่ในช่วงอายุหรือวัยใด เราเคยเลี้ยงลูกที่อายุขวบหนึ่งอย่างไร สองขวบอย่างไร สามขวบอย่างไร ก็เลี้ยงดูไปตามอายุนั้น ให้ชื่นชมกับคนที่โตขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น สามารถทำอะไรๆ ได้แล้ว ขณะเดียวกันถ้าคนเล็กยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยังต้องมีผู้ใหญ่ควบคุมก็ต้องช่วยกันดูแล วิธีนี้จะตัดปัญหาทุกอย่างได้ทั้งหมด ซึ่งพ่อแม่ต้องมีเวลาให้กับลูกทุกคน ให้เขารู้สึกว่า เขาได้รับความสนใจด้วยวิธีสลับอายุกันไป

 

 

3.มีกิจกรรมให้ลูกๆ ทำ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นถ้าพ่อแม่รู้จักลูกอย่างแท้จริง ซึ่งเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อพ่อแม่มีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูกๆ ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน การมีงานบ้านให้ลูกทำ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองก็ทำอะไรได้ เป็นการเลี้ยงลูกตามวัยอย่างหนึ่ง ที่ส่งเสริมและให้โอกาสเขาได้ทำอะไรได้ด้วยตัวเองไปทีละน้อย ด้วยการที่พ่อแม่มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ โดยเริ่มตั้งแต่ลูกอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป ควรเป็นงานบ้านที่ต้องรับผิดชอบช่วยเหลือกัน โดยอย่าแยกจากการมองว่า ให้ลูกคนโตทำ ลูกคนเล็กยังไม่ต้องทำ เพราะยังเล็กอยู่ ลูกคนโตก็จะรู้สึกว่าทำงานบ้านอยู่คนเดียว คนเล็กไม่เคยได้ทำซักที เพราะพอคนเล็กโตขึ้นมาเท่าคนโตซึ่งเคยทำงานบ้าน พ่อแม่ก็ไม่ได้ให้ทำงาน พี่คนโตก็จะไม่ชอบใจ ส่วนคนเล็กก็จะเคยตัว อย่างนี้แม้มีลูกสองคน คนโตกับคนเล็กก็เกิดปัญหาได้ เพราะไม่ได้เลี้ยงลูกตามวัย การเลี้ยงลูกตามวัยจึงสำคัญ ถึงวัยที่เคยให้ลูกวัยนี้ทำอะไร ก็ควรให้ลูกที่มาถึงวัยนั้นทำแบบเดียวกัน กฎระเบียบในบ้านเรื่องของการกิน อยู่ หลับ นอน การเรียน การเล่น เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีให้เป็นเวลา

 

 

ศ.เกียรติคุณ พญ.วันเพ็ญ กล่าวทิ้งท้ายว่า เด็กแต่ละคนจะมีความสามารถและความชอบที่ไม่เหมือนกัน พ่อแม่จะรู้ว่าลูกคนนี้มีนิสัยใจร้อนใจเร็ว ต้องคอยเตือนให้ชะลอๆ ไว้บ้าง ส่วนลูกคนนี้อาจช้าหน่อย ต้องช่วยเหลือนิดหน่อย แล้วเขาจะทำของเขาได้ การยอมรับและเข้าใจของพ่อแม่ จะทำให้ลูกๆ ทุกคนรู้สึกว่าเขามีความสำคัญ ไม่ถูกลืม รู้จักรักตัวบุคคล พ่อแม่ชื่นชมกัน พี่น้องก็จะรักกัน สำคัญที่การเลี้ยงดูลูกให้เหมือนกันทุกคน อย่างมีหลักการพัฒนาที่เหมาะสม ถูกต้องตามวัย ก็จะไม่มีปัญหาค่ะ

 

 

จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในครอบครัวของ เจี่ย บาน ฮก ที่ใช้เวลากว่า 10 ปี แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้พ่อแม่หาวิธีการเลี้ยงดูหรือวิธีปฏิบัติต่อเด็กแต่ละคน ที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติพื้นฐาน เพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องทางด้านบุคลิกลักษณะ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตในภายภาคหน้า แต่การกำหนดอุปนิสัยนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีนิสัยใจคอเป็นพิมพ์เดียวกัน 100% เพราะเด็กหรือลูกแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปตามเพศ ระดับการศึกษา วัฒนธรรม ตลอดจนประสบการณ์ที่เด็กพบเจอ เพียงแต่การศึกษา อาจช่วยให้คุณเข้าใจลูกแต่ละคนของคุณมากขึ้น

 

 

ลูกคนที่ 1 หนักแน่นมั่นคง

 

อุปนิสัย มั่นใจในตัวเอง ยึดมั่นในหลักการ ไม่เปลี่ยนแปลงความคิดง่ายๆ แม้บางครั้งจะรู้สึกสับสนและไม่แน่ใจในความคิดของตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็ยังพยายามทำตามความคิดของตัวเขาเองอย่างเต็มที่

 

 

ข้อควรดูแล เย่อหยิ่ง ไม่รู้จักพลิกแพลง ขี้ระแวง ไม่เชื่อใจใครง่ายๆ

 

 

การเลี้ยงดู ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน และปฏิบัติต่อเขาเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่ง คุณควรถามและรับฟังความคิดเห็นของเขา

 

 

ลูกคนที่ 2 รอบรู้ ช่างเอาใจ

 

อุปนิสัย สุภาพ อ่อนโยน มนุษยสัมพันธ์ดี มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดมั่นในความเห็นของตัวเอง ไม่โกรธใครนาน

 

 

ข้อควรดูแล เอาแต่ใจตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่ชอบตัดสินใจเอง แต่ก็ไม่ใช่จะเห็นด้วยกับคนอื่น จึงชอบกล่าวโทษคนอื่น ค่อนข้างขี้โม้ คุยโวโอ้อวด ชอบแสดงเด่นเพื่อกลบปมด้อย

 

 

การเลี้ยงดู พ่อแม่มักมีแนวโน้มให้ความรัก ความเอ็นดูลูกคนที่สองมากกว่าลูกคนอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเอาแต่ใจตนเอง คุณต้องพยายามให้เขามีมานะ มุทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ ไม่ตามใจมากนัก

 

 

ลูกคนที่ 3 เล่ห์เหลี่ยม หลายบุคลิก

 

อุปนิสัย จิตใจอ่อนไหว ความรู้สึกไว เมตตากรุณา สนใจความรู้สึกของคนอื่น

 

 

ข้อควรดูแล เป็นคนสับสน เดาใจยาก เจ้าอารมณ์ ตัดสินใจช้า เจ้าคิดเจ้าแค้น มักแสดงออกมาในหลายบุคลิก เช่น บางครั้งขี้กังวล ขณะเดียวกันก็สามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้ดี

 

 

การเลี้ยงดู เนื่องจากเป็นคนคิดมาก คุณจึงต้องเข้าใจจิตใจเขาว่าต้องการความห่วงใย ด้วยการพูดคุยหรืออธิบายเหตุผลกับเขาให้มาก

 

 

อ้างอิง : หนังสือคุณเป็นใคร โดย เจี่ย บาน ฮก สนพ.จีนสยาม, ศูนย์หนังสือจุฬาฯ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)