© 2017 Copyright - Haijai.com
อุปนิสัยของพี่น้องท้องเดียวกัน มีข้อมูลความแตกต่าง ดังนี้
ลูกคนโต เนื่องจากเขาเองเป็นลูกคนโต พ่อแม่จึงมักคาดหวังที่จะให้เขาทำอะไรเป็นมากกว่าลูกคนอื่น เพื่อจะได้มีบทบาทของความเป็นพี่ ลูกคนโตจึงมักเป็นคนที่ทำอะไรได้มากกว่าน้องๆ แต่มักเป็นคนที่มีความเครียด ทั้งจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ยังเลี้ยงลูกไม่เป็น และจากความคาดหวังสูงของพ่อแม่ ที่ต้องการให้ลูกคนโตเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นลูกคนโตจึงมักเติบโตมาเป็นผู้ที่ทำงานทำการได้ดี แต่ความสุขใจอาจมีไม่มาก แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าลูกคนโตทุกคนจะเป็นเช่นนี้
ลูกคนเล็ก พ่อแม่มักตามใจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นลูกคนเล็ก พอมีอะไรก็มักไม่ค่อยเอาเรื่องกับคนเล็กนัก และมักเลี้ยงลูกคนเล็กแบบลูกคนเล็กไปเรื่อยๆ ดังนั้นลูกคนเล็กจึงมักได้รับความรักความอบอุ่นมาก แต่มักไม่ค่อยพัฒนาในแง่ของการช่วยเหลือตัวเอง มักพัฒนาทางอารมณ์และการปรับตัวได้ช้า แต่ถ้าพ่อแม่มีลูกมาก ก็มีบ้างเหมือนกันที่ลูกคนเล็กถูกปล่อยปละละเลยไม่ค่อยดูแล และตกเป็นหน้าที่ของพี่คนโตในการดูแลน้องคนเล็กก็มี ตัวแปรของครอบครัวและปัจจัยอื่นๆ ทำให้เอาข้อมูลตายตัวไม่ได้
ลูกคนกลาง ถ้าลูกคนกลางยังไม่โตดี แล้วมีคนเล็ก คนกลางก็มักถูกละเลย โดยเฉพาะถ้าคนกลางเป็นเพศเดียวกับพี่คนโต หรือเป็นเพศเดียวกับน้องคนเล็ก หรือเป็นเพศเดียวกันทั้งหมด พ่อแม่เห่อลูกคนโตไปแล้ว ก็จะเห่อลูกน้อยลง ทำให้เหมือนกับว่าคนกลางเป็นคนที่ได้รับความสนใจน้อย หรือตัวเขาเองมีแนวโน้มรู้สึกเหมือนว่าตัวเองมีความสำคัญน้อยกว่าพี่น้องคนอื่นๆ อาจด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของพ่อแม่ก็ตาม เช่น บางครอบครัว ลูกคนกลางได้รับของเล่นหรือของใช้จากพี่มา พอเขาใช้อีกมันก็เก่าแล้ว มาถึงน้องคนเล็กจึงได้ของใช้ใหม่ ตรงนี้เหมือนกับว่าพ่อแม่รักคนโตแล้วมารักคนเล็ก อาจทำให้ลูกคนกลางรู้สึกว่าเขาถูกลืม ไม่เห็นความสำคัญของเขา หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งบางทีพ่อแม่ก็ลืมไปว่าลูกคนกลางจะคิดอย่างไร โอกาสที่ลูกคนกลางจะคิดว่าพ่อแม่รักไม่เท่าพี่เท่าน้องจึงมีได้สูง การที่คนเราจะไม่มีความสุขก็อยู่ตรงนี้ แล้วพอเรารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร เมื่อใจมันไม่สบายก็จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม เช่น อาจจะเป็นคนไม่มั่นใจ อาจจะหงอยเหงา อาจจะกลัว หรือแสดงออกมาในทางตรงกันข้ามคือ อาจจะดื้อก้าวร้าว ฯลฯ
พอเด็กแสดงออกอย่างนี้ ผู้ใหญ่จะมองว่าเด็กมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจหลายๆ แบบ ซึ่งผู้ใหญ่เองก็ไม่เข้าใจว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไรกันแน่ ถ้ายิ่งไปดุ ลงโทษ หรือยิ่งไปเปรียบเทียบกับน้องว่าทำตัวไม่ดี กับพี่เขาก็ไม่เคยทำตัวแบบนี้ เด็กยิ่งรู้สึกใจเสียเข้าไปใหญ่ อาจทำให้ลูกคนกลางไม่รู้จักโต เพราะเขาจะทำอะไรเหมือนน้อง ที่พ่อแม่มักเปรียบเทียบตัวเขากับน้อง ว่าน้องทำตัวดีกว่า
ถ้าพ่อแม่เข้าใจถึงพฤติกรรม และรู้วิธีการแก้ไขปัญหา เพราะครอบครัวที่มีลูกมากก็มีมากมาย ที่ลูกทุกคนเติบโตมาปกติ โดยไม่รู้สึกว่าลูกคนใดจะมีปัญหา แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ตระหนักถึงท่าทีในการเลี้ยงดู อาจทำให้เด็กรู้สึกขึ้นเอง โดยเฉพาะกับลูกคนกลาง ซึ่งมีจากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า
1.ปากคนพูด คนเราจะรู้สึกหรือคิดอย่างไรอยู่ที่ปากของคนพูดถึง การที่มีคนพูดถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับลูกคนกลางมาก พอได้ยินบ่อยๆ เข้า เด็กก็จะนำมาคิด ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหา เพราะวาจามากระทบ
2.การเลี้ยงดู แม้นิสัยดั้งเดิมของเด็กมีอยู่ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่มีอิทธิพลอย่างมากที่ทำให้เด็กคิดและรู้สึกอย่างไร และมีนิสัยต่อไปอย่างไรในอนาคต
2.1.การตั้งเป้าไว้ก่อนแล้ว ว่าลูกคนกลางอาจต้องมีปัญหา ทำให้พ่อแม่หรือคนโดยทั่วไปคิดว่านี่คือปัญหา มองเป็นอย่างนั้นไว้เสียก่อนแล้ว
2.2.ความกังวลของพ่อแม่ กลัวหรือห่วงว่าลูกคนกลางจะมีปัญหา จึงมักจัดการด้วยวิธี
2.2.1.พยายามทำไม่ให้เกิดปัญหากับลูกคนกลาง โดยการระวังที่จะไม่ให้เกิดความไม่ยุติธรรม หรือไม่ให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำต่ำสูง ซึ่งความจริงปัญหานี้มันมีได้กับลูกทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไร สุดแต่ว่าปัญหานั้นมันจะเป็นอะไร หรือลูกคนนั้นจะเป็นคนอย่างไร เช่น ธรรมชาติของเด็กทุกคนซนอยู่แล้ว แต่สมัยนี้มีเรื่องของการซนผิดปกติที่เรียกว่า Hyperactive จนถึงสมาธิสั้น ซึ่งอาจเกิดกับลูกคนที่เท่าไรก็ได้ การที่เด็กจะมีปัญหากันเองบ้าง ทะเลาะกันบ้าง อิจฉากันเล็กๆ น้อยๆ ลูกทุกคนมีปัญหานี้ได้หมด อย่าถือเอามาเป็นเรื่องใหญ่
2.2.2.การปฏิบัติกับลูกคนกลางแบบไม่ใช่ธรรมดาเหมือนกับลูกคนโตและลูกคนเล็ก ไม่ว่าจะเอาใจเป็นพิเศษ หรือทำอะไรให้เป็นพิเศษ ล้วนแต่แสดงความแตกต่างออกมาอีกทางหนึ่ง อาจทำให้เด็กรู้สึกเหมือนมีอะไรไม่ปกติ จนอาจรู้สึกเหมือนเขามีปัญหา บางครอบครัวอาจเพราะพ่อแม่เคยเป็นลูกคนกลางแล้วรู้สึกอย่างไรมา พอมีลูกคนกลางจึงทุ่มเทความรักให้มาก
จากสาเหตุดังกล่าวเท่ากับไปบอกเด็กว่าเขาต้องเป็นอย่างนี้ เขาเลยเกิดความรู้สึกว่า เขาต้องเป็นอย่างนี้ และก็เลยกลายเป็นจริง ทั้งที่มันมีตัวแปรอื่นๆ อีกมาก ที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นลูกคนกลาง ลูกคนโต หรือลูกคนเล็ก เช่น
1.ตัวของเด็กเอง เด็กทุกคนไม่ได้ออกมาเหมือนกัน หรือเป็นพิมพ์เดียวกัน แต่เขามีความคิด มีความรู้สึก และมีพฤติกรรมเป็นตัวของเขาเอง สมมติผู้ใหญ่พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เด็กอาจแปลความหมายของคำพูดไปเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าเขาจะรับไปอย่างไร
2.สิ่งแวดล้อม เป็นตัวแปรที่นอกจากพ่อแม่แล้ว อาจยังมี ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้อง พี่เลี้ยง ต่อไปข้างหน้าก็มีเพื่อนฝูง ครู ถึงแม้เด็กบางคนอาจไม่มีความสุข แต่ได้รับความอบอุ่นจากครู จากการยอมรับของเพื่อนฝูง เขาก็จะปรับตัวของเขาไปได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)