
© 2017 Copyright - Haijai.com
เทคนิคการบริหารสมองลูก
“สมองมนุษย์ใช้เวลา 6 – 8 ปี จะเจริญเติบโตเต็มที่ 30% ของสมองพัฒนาแล้วก่อนคลอด อีก 70% จะมีการพัฒนาในช่วงปฐมวัย กำไรแห่งเวลาของความเป็นเด็ก จึงเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ก่อนที่เด็กจะก้าวสู่โลกกว้าง ด้วยเทคนิคการบริหารสมองลูกในช่วงวัยเด็ก”
สมองของเด็กเมื่อแรกเกิด แต่ละคนจะมีเซลล์สมองประมาณหนึ่งล้านเซลล์ครบถ้วนพอกับสมองของผู้ใหญ่ แต่จะมีน้ำหนักเพียงหนึ่งในสี่ของสมองผู้ใหญ่ เซลล์สมองจะไม่มีการเพิ่มจำนวน มีแต่การเพิ่มขนาดและเพิ่มจำนวนของ Dendrites การเปลี่ยนแปลงรูปร่างและความยาวพร้อมกับมีการพัฒนาคุณภาพของแต่ละเซลล์ จึงทำให้สมองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สมองส่วนหนึ่งประมาณ 30% จะพัฒนาแล้วก่อนคลอด และส่วนที่เหลืออีก 70% จะพัฒนาต่อหลังคลอดในช่วงปฐมวัย สมองมนุษย์จะใช้เวลาประมาณ 6-8 ปี จะเจริญเติบโตเต็มที่ ดังนั้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ขวบปีแรกของลูก จึงเป็นช่วงเวลากำไรแห่งชีวิต เป็นช่วงเวลาโอกาสแห่งการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ก่อนที่เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และก้าวสู่โลกกว้างได้อย่างสมบูรณ์
สมองที่ว่องไว ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเซลล์สมองประสบการณ์จากการเล่น การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ การสัมผัส การประสานกันของตาและมือ การพูดคุยบ่อยๆ และภาษา เป็นวิธีการที่จะช่วยบริหารสมองของเด็ก เพื่อให้เด็กมีสมองที่ว่องไวการส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กต้องเป็นไปในลักษณะบูรณาการทางพัฒนาการ ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ กิจกรรมต่างๆ จะทำให้สมองเด็กได้รับการบริหาร และถูกกระตุ้นได้อย่างสมบูรณ์ หลายคนอาจจะสงสัยแล้วว่าการบริหารสมอง Brain Gym คืออะไร ? และที่สำคัญมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
การบริหารสมองเด็ก Brain Gym
คือ การบริหารร่างกายเด็กในส่วนที่สมองควบคุมอยู่ สมองเด็กมีอยู่ 2 ซีก ซีกซ้าย และซีกขวา ดังนั้น การบริหารสมองของเด็กสามารถทำได้โดยใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหว ที่ช่วยกระตุ้นให้สมองทั้งสองซีกได้ทำงานไปพร้อมกัน การใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหว จะช่วยให้สมองเด็กแข็งแรง และทำงานได้อย่างสมดุล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งยังช่วยให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย ช่วยให้เด็กสามารถควบคุม และใช้อารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
เริ่มต้นการบริหารสมองลูก
• เริ่มจากให้ลูกได้ฝึกกำหนดลมหายใจ
การให้เด็กได้ฝึกกำหนดรู้ลมหายใจ เป็นวิธีการบริหารสมองด้วย การทำสมาธิ การกำหนดลมหายใจจะช่วยทำให้ สมองผ่อนคลาย เนื่องด้วยสมองได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น ในขณะที่เด็กไม่มีการเคลื่อนไหว คลื่นสมองก็จะมีความยาวช่วงคลื่นต่ำลง เป็นความยาวช่วงคลื่นที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เด็กจะรู้สึกผ่อนคลายไม่เครียดทั้งทางร่างกาย และจิตใจ การให้เด็กฝึกกำหนดลมหายใจสามารถฝึกได้ตลอดเวลา ฝึกได้ในทุกอิริยาบถ เพียงคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจ และ ช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ปฏิบัติ เช่นตอนที่นั่งคุยกับลูก ก่อนทานข้าว หรือก่อนเข้านอน
การให้เด็กฝึกกำหนดรู้ลมหายใจ สามารถทำได้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อย่างเป็นทางการเช่น การให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติด้วยการนั่ง หรือนอนมีคุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณครู เป็นผู้บอกกำกับว่าเด็กจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง
• การใช้เสียงเพลงประกอบการฝึกกำหนดลมหายใจ ก็จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคลื่นสมองของเด็ก เสียงเพลงที่มีเสียงประกอบของธรรมชาติ เสียงดนตรีบรรเลงเพื่อความผ่อนคลาย สามารถนำมาใช้ประกอบกับการฝึกลมหายใจได้ จะทำให้การฝึกลมหายใจของเด็กได้ผลดียิ่งขึ้น
• การฝึกลมหายใจอย่างไม่เป็นทางการ คุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครู อาจใช้วิธีการเล่านิทาน ประกอบกับการปฏิบัติเพื่อให้เด็กได้มีการสูดลมหายใจเข้า-ออก เช่น อาจจะเล่าเรื่องผีเสื้อบินไปเกาะดอกไม้ แล้วก็ดูดน้ำหวาน โดยสมมุติให้เด็กเป็นผีเสื้อ พอเจอน้ำหวานก็ให้เด็กทำปากจู๋ๆ แล้วทำท่าดูดน้ำหวาน หรืออาจใช้คำถามเด็กว่า ถ้าเด็กเจอดอกไม้หอมๆ เด็กจะทำอย่างไร “ดม” ให้เด็กๆ ทำท่าดมน้ำหอม โดยการสูดลมหายใจเข้าแรงๆ เพียงเท่านี้เด็กๆ ก็จะได้ฝึกลมหายใจด้วยความสนุกสนาน โดยที่เด็กเองก็ไม่รู้ตัว
• คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ควรตระหนัก และเห็นความสำคัญของการพัฒนาสมองของลูกในช่วงวัยเด็ก ซึ่งหลายคนยังขาดความรู้และไม่เข้าใจ เพราะถ้าลูกมีการฝึกเพื่อพัฒนาสมองในช่วงเด็ก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมลูกก็จะสามารถเรียนรู้ทฤษฎีและเรียนรู้ด้านวิชาการ ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น การเริ่มในการบริหารสมองของลูกให้เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการให้ลูกรู้จักการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า – ออก ครับ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)