Haijai.com


Chewing time ได้เวลาฝึกเคี้ยวแล้วจ้า


 
เปิดอ่าน 9112

Chewing time ได้เวลาฝึกเคี้ยวแล้วจ้า

 

 

เมื่อพูดถึงการฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร ดูๆ ไปก็ไม่น่าจะมีอะไรยาก แต่คุณแม่รู้ไหมคะว่ากว่าที่เจ้าตัวเล็กจะสามารถเคี้ยวอาหารต่างๆ ได้คล่อง ต้องอาศัยเวลาในการฝึกพอสมควร เพราะการบดเคี้ยวและกลืนอาหารต้องอาศัยการทำงานประสานกันของอวัยวะในช่องปากหลายส่วน นอกจากนี้การฝึกให้ลูกเคี้ยวจะต้องเริ่มด้วยอาหารที่เหมาะสม และต้องเริ่มในเวลาที่ถูกต้องด้วยถึงจะช่วยให้การฝึกได้ผลดี เรามาดูกันค่ะว่าลูกน้อยของคุณมีพัฒนาการการบดเคี้ยวและการกลืนอย่างไร คุณแม่จะได้ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้อย่างถูกต้อง

 

 

อายุ

พัฒนาการ

อาหารที่เหมาะสม

แรกเกิด – 4 เดือน

ดูดนมโดยใช้ลิ้นช่วยในการดูด และใช้ขากรรไกรช่วยในการกลืนนม ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติ

น้ำนมแม่

4 – 6 เดือน

ปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติจะเริ่มหายไป เมื่อได้รับอาหารลูกจะใช้ลิ้นดุนเหมือนตอนดูดนม อาหารที่คุณป้อน ลูกจะกลืนบ้าง ดุนออกบ้าง ยังไม่เคี้ยว

นมเป็นอาหารหลัก และสามารถให้อาหารเสริมที่บดละเอียดได้ โดยเริ่มให้ทีละน้อย ถ้าลูกปฏิเสธก็ไม่ควรบังคับ ควรหยุดไปสักพักแล้วค่อยเริ่มใหม่

6 – 8 เดือน

ฟันเริ่มขึ้น ลูกเริ่มรู้จักเคี้ยวและกัดอาหารได้  สามารถค่อยคล่อง จึงไม่ควรให้อาหารแข็งในช่วงนี้เพราะจะทำให้ลูกสำลักได้

นมเป็นอาหารหลัก และสามารถให้อาหารเสริมที่บดหยาบขึ้น เช่น ตับ เนื้อไก่ และ ผักบดรวมทั้งผักผลไม้ที่หั่นเป็นแท่ง ให้ลูกถือกัดเอง

8 – 10 เดือน

เคี้ยวได้ดีขึ้นแต่ยังไม่ละเอียดนัก สามารถใช้ลิ้นกวาดอาหารที่เข้ามาได้เกือบหมด ช่วงนี้ลูกสามารถดื่มน้ำจากถ้วยหัดดื่มหรือดูดจากหลอดได้

นมเป็นอาหารหลัก แต่เพิ่มอาหารเสริมเป็น 2 มื้อต่อวัน สามารถป้อนอาหารที่ไม่ต้องบดได้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกเคี้ยวมากขึ้น แต่ควรสับเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนเพื่อให้เคี้ยวได้ง่าย

10 – 12 เดือน

ลูกสามารถบดเคี้ยวและกลืนอาหารได้อย่างคล่องแคล่ว

นมยังเป็นอาหารหลัก แต่ควรเพิ่มอาหารเสริมเป็น 2-3 มื้อต่อวัน สามารถสับอาหารให้หยาบมากขึ้น และควรเปลี่ยนเมนูให้หลากหลาย ลูกลูกจะได้ไม่เบื่อ

 

 

กลุ้มใจ ทำไมลูกไม่ยอมเคี้ยว

 

คุณแม่จำนวนมากมีปัญหาเกี่ยวกับการที่ลูกไม่ยอมเคี้ยวอาหาร ซึ่งถ้าลองทบทวนดูดีๆ ตัวคุณแม่เองก็มีส่วนที่ทำให้ลูกไม่ยอมเคี้ยวอาหารเช่นกัน  สาเหตุที่ทำให้เจ้าตัวเล็กไม่ยอมเคี้ยวอาหารมีดังนี้ค่ะ

 

 

 เริ่มเร็วเกินไป การที่คุณแม่ให้ลูกเริ่มอาหารอื่นนอกจากนมเร็วเกินไป (เริ่มก่อน 4 เดือน) จะทำให้ลูกต่อต้านได้ เพราะร่างกายของลูกยังไม่พร้อม นอกจากนี้อาจส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหารของลูก ทำให้ลูกมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เพราะอาหารไม่ย่อย เนื่องจากกระเพาะของลูกยังไม่พร้อมที่จะย่อยอาหารอื่นนอกจากนม

 

 

 เริ่มช้าเกินไป การเริ่มอาหารเสริมหลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว ถือว่าช้าเกินไป ทำให้กลไกการบดเคี้ยวอาหารไม่ได้รับการพัฒนา ลูกจึงปฏิเสธการเคี้ยว หรือเคี้ยวได้แต่ไม่ละเอียดเท่าที่ควร

 

 

 ตามใจมากเกินไป คุณแม่บางบ้านเห็นลูกไม่ยอมกินอาหารอื่นนอกจากนม ก็กลัวว่าลูกจะหิวและไม่ได้รับสารอาหาร จึงยอมให้ลูกกินนม เมื่อเป็นแบบนี้เจ้าตัวเล็กของคุณก็จะไม่ได้ฝึกการเคี้ยว และจะปฏิเสธอาหารที่ต้องเคี้ยวอย่าง  แน่นอนค่ะ

 

 

ผลเสียของการไม่เคี้ยว

 

 ขาดสารอาหาร หลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว ร่างกายของลูกต้องการสารอาหารและพลังงานมากขึ้น น้ำนมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หากลูกยังไม่ยอมเคี้ยวอาหาร หรือเคี้ยวไม่เป็น จะทำให้ลูกขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งจะส่งโดยตรงต่อพัฒนาการด้านร่างกายและสมองของลูก

 

 

 ระบบขับถ่ายไม่ปกติ การที่ลูกกินแต่อาหารเหลวตลอดเวลาทำให้ร่างกายไม่ได้รับกากใยอาหาร ซึ่งจะมีผลต่อระบบขับถ่าย ทำให้ระบบขับถ่ายผิดปกติ เกิดอาการท้องผูก ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ ก็อาจจะทำให้เป็นริดสีดวงทวารตามมาได้ นอกจากนี้เด็กที่ขาดทักษะในการเคี้ยว ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียดก่อนกลืน ทำให้กระเพาะต้องทำงานหนัก ส่งผลให้ระบบย่อยมีปัญหาตามมา

 

 

 พัฒนาการการพูดช้าลง การบดเคี้ยวอาหารจะช่วยให้ขากรรไกร ลิ้น และ กระพุ้งแก้ม ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้ในการเปล่งเสียงมีความแข็งแรง หากลูกไม่ได้ฝึกการบดเคี้ยว จะทำให้อวัยวะเหล่านั้นไม่แข็งแรง ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านการ พูดของลูก

 

 

 เบื่ออาหาร ไม่กล้าลิ้มลองอาหารใหม่ๆ เพราะไม่อยากเคี้ยว เมื่อลูกกินแต่อาหารเดิมๆ ซ้ำๆ จะทำให้ลูกเบื่ออาหาร ในที่สุดแม้แต่อาหารเหลวลูกก็ไม่ต้องการ

 

 

เห็นไหมคะว่าผลเสียของการที่ไม่ฝึกให้ลูกหัดเคี้ยวนั้นมีมากมายเลยทีเดียว ตอนนี้คุณแม่ก็รู้แล้วว่าพัฒนาการในการบดเคี้ยวและกลืนของลูกเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นอย่ามัวรีรอที่จะฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหารนะคะ เพื่อประโยชน์ของตัวลูกเองค่ะ ที่สำคัญคุณแม่ต้องมีความอดทนและใจเย็น หากฝึกครั้งแรกไม่ได้ผล ก็ให้พยายามใหม่ ลองหาวิธีที่จะช่วยโน้มน้าวใจลูกให้หันมาสนใจอาหารที่คุณจัดให้ เช่น ให้ลูกป้อนเอง และต้องใจแข็งบ้างหากลูกเรียกร้องจะกินแต่นมถ้าลูกยอมกินอาหารที่คุณป้อนและเคี้ยวได้ดี คุณแม่ก็ควรชมลูกบ้าง หรือให้รางวัลด้วยการกอดและหอมลูก จะทำให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกดีและอยากกินอาหารที่คุณแม่ป้อนอีกค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)