
© 2017 Copyright - Haijai.com
เด็กจมน้ำ ป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท
ข่าวการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กๆ มีออกมาให้ได้ยินเป็นระยะ หากลองคิดดูดีๆ จะพบว่าความประมาทของคุณพ่อคุณแม่และคนเลี้ยงดูนั่นเองที่เป็นสาเหตุสำคัญ เพราะฉะนั้นเรามาหาวิธีป้องกันไม่ให้เจ้าตัวเล็กจมน้ำกันดีกว่าค่ะ ปลอดภัยไว้ก่อน
การจมน้ำนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่สระน้ำหรือทะเลเท่านั้น อ่างอาบน้ำที่บ้านก็สามารถทำให้เจ้า ตัวเล็กจมน้ำได้ค่ะ เพราะฉะนั้นเด็กเล็กๆ เวลาที่คุณแม่จะอาบน้ำให้ คุณแม่ต้องเตรียมอุปกรณ์การอาบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใกล้ๆ มือ เพราะเพียงแค่ช่วงที่คุณลุกไปหยิบสบู่หรือแชมพู เจ้าตัวเล็กก็อาจหงายหลังสำลักน้ำหรือจมน้ำในอ่างอาบน้ำได้
• การหาอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุอย่างฟองน้ำกันลื่นมารองไว้ที่พื้นอ่างอาบน้ำ จะช่วยให้ลูกปลอดภัยจากการหกล้ม ศีรษะฟาดพื้นจนหมดสติและจมน้ำได้ แต่อย่างไรก็ตามคุณควรจะอยู่ใกล้ๆ อย่าให้คลาดสายตา อย่าปล่อยลูกไว้ตามลำพังแล้ววิ่งไปรับโทรศัพท์ เพราะอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
• อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือถังน้ำ คุณแม่ต้องปิดฝาเอาไว้เสมอ เพราะเจ้าตัวน้อยอาจจะเดินต้วมเตี้ยมไปปีนป่ายถัง แล้วศีรษะทิ่มลงไปในถังและสำลักน้ำได้เช่นกัน
• บ้านไหนที่มีสระว่ายน้ำส่วนตัวยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะด็กวัยเตาะแตะ เพราะเจ้าจอมซนอาจจะออกไปวิ่งเล่นและตกน้ำได้ทุกเมื่อ ถ้าคุณอยู่บ้านตามลำพังกับลูก ควรจะล็อคประตูบ้านอย่าให้ลูกออกไปวิ่งเล่นคนเดียว และเวลาที่ลูกออกมาวิ่งเล่นที่สนาม อย่าให้ลูกไปวิ่งเล่นรอบๆ สระน้ำและควรจะมีคนดูแลอย่างใกล้ชิดอย่าให้คลาดสายตา การล้อมรั้วรอบสระว่ายน้ำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้
• ควรจัดหาอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือเมื่อคนตกน้ำเอาไว้บริเวณใกล้ๆ สระน้ำ เช่น เชือกและห่วงยาง
• การพาลูกเล็กไปเที่ยวทะเลก็เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยลูกไว้ตามลำพังแม้เพียงช่วงสั้นๆ และแม้ว่าคุณจะมั่นใจว่าตัวเองว่ายน้ำเก่ง แต่เมื่อคิดจะพาลูกลงไปเล่นน้ำทะเลควรให้ลูกสวมเสื้อชูชีพเพื่อความปลอดภัย
• การพาลูกไปเรียนว่ายน้ำเป็นวิธีที่จะช่วยให้ลูกปลอดภัยจากการจมน้ำได้มากขึ้น
เตรียมพร้อมรับมือ
แม้จะมีการป้องกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่ความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ในกรณีที่ลูกจมน้ำ ก่อนที่จะถึงมือคุณหมอ คุณสามารถช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ดังนี้ค่ะ
1.รีบพาลูกขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด แล้ววางลูกนอนหงายบนพื้น ให้มือข้างหนึ่งกดหน้าผากลง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งช้อนปลายคางขึ้นเพื่อ ให้ศีรษะหงายไปด้านหลัง แล้วใช้หูฟังเสียงลมหายใจจากปากและจมูกของลูก
2.หากลูกหยุดหายใจให้รีบทำการผายปอดทันที สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้คุณใช้ปากประกบกับปากและจมูกของลูกแล้วเป่าลมสองครั้ง แต่ละครั้งนานประมาณหนึ่งวินาทีครึ่ง ดูการกระเพื่อมขึ้นลงของหน้าอก กรณีเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ให้คุณใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกของลูกเอาไว้ แล้วใช้ปากประกบกับปากของลูก เป่าลมสองครั้ง ครั้งละประมาณหนึ่งวินาทีครึ่งถึงสองวินาที ดูการขยับขึ้นลงของหน้าอก
3.กรณีที่หน้าอกมีการขยับขึ้นลง ให้ตรวจการเต้นของชีพจร สำหรับเด็กเล็กให้ใช้มือสัมผัสบริเวณท้องแขนด้านใน ส่วนเด็กโตให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางแตะบริเวณลูกกระเดือกแล้วรอประมาณ 5 วินาที ถ้าชีพจรเต้น ให้เป่าปาก 1 ครั้ง ทุกๆ 3 วินาที แล้วตรวจชีพจรทุก 1 นาที ทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกจะสามารถหายใจได้เอง
4.กรณีที่คลำชีพจรไม่เจอ ให้ทำการผายปอดด้วยมือทันที สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ให้ใช้สองนิ้ววางลงตรงกลางหน้าอก ต่ำกว่าราวนมลงมาประมาณ 1 ความกว้างของนิ้ว แล้วกดให้หน้าอกยุบลงประมาณ 1.5 นิ้ว โดยกด 5 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 1 ครั้ง สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 1 ปี ให้ทำโดยวางมือข้างหนึ่งลงบนกระดูกหน้าอกเหนือจุดปลายล่างของกระดูกหน้าอกประมาณ 1 ความกว้างของนิ้วมือ แล้ววางมืออีกข้างหนึ่งซ้อน จากนั้นกดให้หน้าอกยุบลงประมาณ 1.5 นิ้ว โดยกดลง 5 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ทำไปเรื่อยๆ และต้องตรวจการหายใจและการเต้นของชีพจรทุกๆ 1 นาทีจนกว่าผู้ป่วยจะถึงมือแพทย์
หมายเหตุ เมื่อมีคนจมน้ำ ให้โทรขอความช่วยเหลือที่หน่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669
(Some images used under license from Shutterstock.com.)