
© 2017 Copyright - Haijai.com
มะขาม
มะขามมีชื่อท้องถิ่นว่า หมากแดง (แม่ฮ่องสอน) อำเปียล (เขมร) มะขามไทย ม่วงโคก้านมากมาย มีผลเป็นฝักสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเทา รูปฝักเมื่อยังอ่อนจะแบนยาว เมื่อฝักแก่ขึ้นจะกลมยาว เนื้อแข็งเป็นสีขาวนวลอมเขียว และเปลือกจะติดแน่นเนื้อ ฝักเมื่อแก่จัดมากๆ เนื้อในฝักจะฝ่อลงไปติดกับเปลือก เนื้อจะนิ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเรียกว่ามะขามเปียก มีทั้งรสหวานและเปรี้ยว ช่วงนี้เปลือกฝักจะเปราะและแตกง่าย
นิยมนำยอดอ่อนและมะขามเปียกมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม แกงคั่ว แกงเลียง และต้มกะทิ เป็นต้น ส่วนมะขามหวานนิยมนำผลสุกมารับประทานได้เลย สำหรับส่วนที่นำมาเป็นยา ได้แก่ เมล็ด ดอก ใบ เนื้อในฝัก ราก และเปลือก โดยมีสารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ คือ เนื้อในฝักที่แก่จัด มีกรดอินทรีย์ คือ กรดทาร์ทาริก กรดมาลิก และกรดซิตริก
สรรพคุณทางยาและวิธีใช้
1.ถ่ายพยาธิ
วิธีใช้ เอาเมล็ดแก่มาคั่วแล้วกระเทาะเปลือก เอาเฉพาะเนื้อในเมล็ดไปแช่น้ำเกลือจนนุ่ม รับประทานครั้งละ 20-30 เมล็ด
2.ลดความดัน
วิธีใช้ นำดอกสด ไม่จำกัด ใช้แกงส้ม หรือต้มกับปลาสลิดรับประทาน
3.ท้องผูก
วิธีใช้ ใช้เนื้อมะขามเปรี้ยวในฝักที่แก่จัด 10-20 ฝัก (70-80 กรัม) จิ้มเกลือรับประทาน หรือดื่มน้ำตามมากๆ หรือ คั้นน้ำใส่เกลือเล็กน้อยดื่มเป็นน้ำมะขาม
4.แก้หวัด
วิธีใช้ ต้มน้ำให้เดือดพลั่ก ทุกหัวหอมสัก 7-8 หัว ใบมะขามอ่อนและแก่ ลงไปพอควันขึ้นก็เอาผ้าขนหนูผืนใหญ่คลุมทั้งหัวและหม้อหัวหอม ใบมะขาม สูดเข้าสูดออกสัก 5 นาที ระวังอย่าสูดไอร้อนๆ อย่างเดียวตลอด พอร้อนทนไม่ไหวก็เอาผ้าคลุมออก เอาผ้าคลุมสูดใหม่ จนพอใจ เติมน้ำเย็นลงไปในหม้อกลายเป็นน้ำอุ่นๆ เอาหัวหอมกับใบมะขามโกรกหัวหลายๆ ครั้ง
5.ท้องเดิน
วิธีใช้ รากะขาม 1 กำมือต้มกับน้ำพอประมาณ จนเดือดแล้วดื่ม 1 ถ้วยกาแฟ ก็จะบรรเทาอาการ
6.เริมและงูสลัด
วิธีใช้ เอาเปลือกมาฝนฝาละมีหม้อดินกับน้ำทาแผล
7.ไอและมีเสมหะ
วิธีใช้ ใช้เนื้อในฝักแก่ หรือมะขามเปียกจิ้มเกลือรับประทานพอสมควร
ข้อควรระวังในการใช้ รับประทานมากไปอาจทำให้ท้องเสียได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)