© 2017 Copyright - Haijai.com
คลอดในน้ำให้ลูกรักสัมผัสธรรมชาติตั้งแต่แรกคลอด
คุณแม่จำนวนมากคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการคลอดในน้ำกันมาบ้างแล้ว บางคนก็เคยมีประสบการณ์คลอดในน้ำด้วยตัวเองซึ่งเราเชื่อว่าคงเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจช่วงหนึ่งเลยทีเดียว สำหรับว่าที่คุณแม่ที่กำลังวางแผนว่าจะคลอดแบบไหนดีก็คงอยากจะทราบว่าการคลอดในน้ำนั้น เขาทำกันอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร และ มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง เพื่อจะได้นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ
การคลอดในน้ำเป็นหนึ่งในการคลอดวิธีธรรมชาติซึ่งมีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่เพิ่งเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ โดย นายแพทย์ธนิต หัพพานนท์ สูติแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ (Active Birth) และผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการคลอด และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แห่งประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มการคลอดในน้ำในประเทศไทย ในปี ค.ศ.1994 ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากคุณแม่จำนวนมาก จนถึงวันนี้จำนวนคุณแม่ที่มาใช้บริการคลอดในน้ำกับทางโรงพยาบาล มีจำนวนหลายร้อยคน สาเหตุที่ทำให้บรรดาคุณแม่หันมาสนใจการคลอดในน้ำเพิ่มขึ้นเพราะ
• การคลอดในน้ำเป็นหนึ่งในการคลอดวิธีธรรมชาติ ซึ่งการคลอดธรรมชาติถือเป็นทางเลือกที่ดี
• น้ำที่ใช้จะเป็นน้ำอุ่น (อุณหภูมิประมาณ 37 องศาเซลเซียส) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดในการคลอดได้
• น้ำอุ่นจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย จึงทำให้ร่างกายหลั่ง “เอนโดรฟิน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขออกมามาก คุณแม่จึงสามารถต่อสู้กับความเจ็บปวดได้ดีโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาช่วย
• น้ำช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Oxytocin ซึ่งเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ช่วยให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้น จึงช่วยร่นระยะเวลาตั้งแต่เจ็บท้องคลอดไปจนถึงคลอดให้สั้นลง
• การคลอดในน้ำจะมีแรงต้านทานคอยช่วย ทำให้การฉีกขาดของช่องคลอดน้อยกว่าการคลอดธรรมชาติโดยทั่วไป
• คุณแม่สามารถขยับตัวเพื่อให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุดขณะคลอด ไม่จำเป็นต้องคลอดด้วยท่านอนหงายเท่านั้น
ไม่เพียงแต่คุณแม่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการคลอดในน้ำ เจ้าตัวน้อยก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกันค่ะ ทารกที่คลอดในน้ำจะสามารถปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากที่คลอดออกมาจากท้องคุณแม่ เพราะตอนที่อยู่ในท้อง ทารกก็อยู่ในถุงน้ำคร่ำ ฉะนั้นช่วงที่คลอดออกมาใหม่ๆ การได้อยู่ในน้ำสักระยะหนึ่ง จะช่วยให้ทารกสามารถปรับตัวได้ดี ไม่ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงแบบปัจจุบันทันด่วนเหมือนการคลอดแบบอื่น ส่วนคุณแม่คนไหนที่กังวลว่าลูกจะสำลักน้ำหรือเปล่าก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะทารกจะหายใจโดยอัตโนมัติเมื่อคุณหมออุ้มขึ้นจากน้ำและสัมผัสกับอากาศแล้ว
ได้รู้แบบนี้แล้ว ว่าที่คุณแม่หลายๆ คนอาจจะเริ่มสนใจการคลอดในน้ำขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ แต่การคลอดในน้ำนี้มีข้อจำกัดสำหรับคุณแม่และทารกที่มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง และไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงเท่านั้น เรามาดูกันค่ะว่าคุณแม่กลุ่มไหนที่ไม่สามารถคลอดในน้ำได้
1.อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์
2.ตั้งครรภ์แฝด
3.มีอาการของโรคความดันโลหิตสูง
4.ป่วยด้วยโรคติดต่อต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี
5.ทารกในครรภ์มีอาการหัวใจเต้นช้าก่าปกติเนื่องจากขาดออกซิเจน
6.ทารกในครรภ์อยู่ในท่าก้นนำ
7.ถุงน้ำคร่ำแตกเกิน 24 ชั่วโมง
8.เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
9.มีเลือดออกมากผิดปกติ
10.มีการใช้ยาเร่งคลอด หรือ รับประทานยาแก้ปวดขณะรอคลอด
หากคุณแม่ไม่เข้าข่ายทั้ง 10 ข้อที่กล่าวมานี้ ก็มีโอกาสที่จะสามารถคลอดในน้ำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ด้วย เพื่อความปลอดภัยทั้งของคุณแม่และเจ้าตัวเล็กค่ะ ส่วนคุณแม่คนไหนที่สามารถคลอดในน้ำได้ เรามาดูกันค่ะว่าต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนจะถึงเวลาคลอด
เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คุณแม่จะต้องไปติดต่อที่แผนกเวชระเบียนเพื่อแจ้งชื่อ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะพาคุณแม่ไปชั่งน้ำหนักและวัดความดัน เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ถึงเวลาไปแผนกคลอดแล้วค่ะ
ที่ห้องคลอด พยาบาลจะพาคุณแม่ไปยังห้องคลอดในน้ำเพื่อรอคลอด ในช่วงนี้พยาบาลจะใช้เครื่องวัดการเต้นของหัวใจของทารกและดูการดิ้นว่าเป็นปกติดีไหม หลังจากนั้นคุณแม่สามารถเดินหรือนอนพักอยู่ภายในห้องซึ่งคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนอริยาบทได้ตามต้องการเพื่อบรรเทาอาการปวด ในระหว่างนี้จะมีพยาบาลคอยดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และเมื่อช่วงเวลาคลอดใกล้จะมาถึง พยาบาลจะพาคุณแม่ลงไปในอ่างน้ำอุ่นที่เตรียมไว้ โดยคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนท่านั่งที่รู้สึกสบายมากที่สุด โดยในช่วงนี้จะมีการตรวจวัดการเต้นของหัวใจของทารกอีกครั้ง เมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่พร้อมที่จะคลอดแล้ว คุณหมอที่ดูแลการคลอดจะเข้ามาทำคลอดให้ ซึ่งอีกไม่นานคุณก็จะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยสมใจแล้วค่ะ
การคลอดลูกเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทำให้คุณแม่ทั้งหลายรู้ซึ้งถึงความเป็นแม่อย่างแท้จริง คุณแม่บางคนอาจจะต้องพบกับอุปสรรคบ้างจนทำให้ไม่สามารถคลอดลูกได้เอง แต่ไม่ว่าคุณแม่จะมีประสบการณ์การคลอดแบบไหน ขอเพียงได้เห็นลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เท่านี้คุณแม่ก็ดีใจมากแล้วใช่ไหมคะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)