© 2017 Copyright - Haijai.com
Q : ดิฉันมีลูกสาวอายุ 1 ปี 1 เดือน อยากจะถามว่า ทำไมลูกมีน้ำมูกไหล ไม่หายเลย ตั้งแต่อายุ 11 เดือน โดยเริ่มจากลำคออักเสบ พอหายจากลำคออักเสบ น้ำมูกก็ยังมีอยู่ บางทีก็เป็นน้ำมูกใส บางทีก็เป็นน้ำมูกข้น แต่อาการไข้ไม่มี และนอนหลับก็ไม่มีน้ำมูกไหลค่ะ ลูกจะเป็นหวัดเรื้อรังหรือไม่ค่ะ
A : น้องมีประวัติติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเมื่อสองเดือนก่อน โดยปกติแล้วอาการทั้งหมดควรหายเป็นปกติดีถ้าไม่มีภาวาแทรกซ้อนใดๆ ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ความเป็นไปได้สูงคือ การติดเชื้อซ้ำ ไปซ้ำมา... ซึ่งอาจจะเนื่องจากคนรอบข้างที่ยังเป็นพาหะของโรค บ่อยครั้งเราพบว่าการที่มีใครคนใดคนหนึ่งในบ้านเป็นหวัดโดยเฉพาะถ้าเป็นนาน คนรอบข้างในบ้านมักจะได้รับเชื้อเข้าไปด้วย บางคนอาจจะป่วยและมีอาการให้เห็น บางคนอาจจะมีหรือไม่มีอาการแต่จะเป็นพาหะของโรคอยู่สักช่วงเวลาหนึ่ง เราจึงมักจะเห็นว่า เมื่อมีคนป่วยคนแรกในบ้านมักจะมีคนที่สองที่สามตามมา โดยเฉพาะถ้าเป็นในสถานที่ที่เลี้ยงเด็กหลายๆคน เนื่องจากภูมิต้านทานที่ต่ำ และขาดความระมัดระวังในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ดังนั้นน้องซึ่งอายุยังน้อย และเป็นวัยที่กำลังชอบการสำรวจกับต่างๆรอบด้าน จะมีโอกาสได้รับเชื้อหมุนเวียนกันอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามผู้ที่ได้รับเชื้อเป็นทอดๆ ลักษณะเช่นนี้ เราจึงแนะนำให้มีการทำความสะอาดของใช้ เครื่องเล่นต่างๆโดยเฉพาะในสถานที่เลี้ยงเด็กเพื่อลดการสะสมเชื้อซึ่งจะเป็นแหล่งกำเนิดโรคได้
อีกประการที่เป็นไปได้ก็คือ การที่เด็กเองยังไม่หายสนิท หรือมีภาวะแทรกซ้อน เด็กรุ่นใหม่ๆเราพบว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะคล้ายๆภูมิแพ้ได้สูง มีอาการตอบสนองต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจได้รุนแรงและนานกว่าเด็กในรุ่นเก่า อาจจะเนื่องมาจากอาหารที่เปลี่ยนไป การได้กินนมวัวตั้งแต่ที่อายุน้อยและเป็นปริมาณมากของเด็ก(หรือแม่กินมากขึ้นเมื่อขณะตั้งครรภ์) ภาวะภูมิแพ้ในพ่อแม่ และ/หรือ สภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ในเด็ก เราพบว่าเด็กกลุ่มแบบนี้มีแนวโน้มของเป็นหวัด หรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ นานกว่าเด็กทั่วๆไป และมักจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา เช่น หลอดลมอักเสบ โพรงไซนัสอักเสบ ภาวะการตอบสนองของหลอดลมที่ไวเกิน รวมทั้งโรคหอบหืดในเด็กที่เราพบบ่อยมากขึ้น
เด็กในวัยนี้หลายคนยังมักจะกินนมขวดอยู่ เป็นไปได้ที่ ด้วยวิธีการกินนมมักจะทำให้เหมือนจะมีเสมหะในลำคอ ทำให้หลายคราวพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงคิดว่า เด็กยังมีเสมหะและไม่ดีขึ้น ซึ่งด้วยอายุขนาดนี้คุณแม่สามารถเริ่มลดการกินนมขวดได้เลย ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการดื่มจากแก้ว ก็จะทำให้การติดดูดนมหมดไปและส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคี้ยวต่อไปด้วย
กรณีของน้องนั้นผมแนะนำให้สังเกตอาการของคนรอบข้างในครอบครัวที่เลี้ยงเด็ก (รวมถึงในสถานที่เลี้ยงเด็ก) หากมีใครที่มีอาการก็ควรแยกห่างจากน้อง และสอนการป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น เช่นการไม่ไอรดใส่ผู้อื่นและสิ่งของ การใช้ผ้าเช็ดหน้า การล้างมือบ่อยๆ ฯลฯ อย่างไรก็ดีหากเป็นนานถึง 2 เดือนเช่นนี้ ผมก็แนะนำให้ไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจ ติดตามการดำเนินโรค และรับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)