
© 2017 Copyright - Haijai.com
หลังคลอด เจ้าตัวน้อยหายไปไหน
หลังจากที่คุณคลอดดวงใจน้อยๆ ออกมา และได้ชื่นใจประเดี๋ยวประด๋าวแล้ว สักครู่เจ้าหน้าที่ก็มาเข็นคุณไปพักผ่อน ส่วนเจ้าตัวน้อยก็จะถูกแยกไปในส่วนอื่น ซึ่งคุณก็พอรู้แล้วว่า เจ้าตัวน้อยได้ถูกแยกไปอยู่ในที่ๆ ปลอดภัยในหอทารกแรกเกิดของสถานพยาบาล ซึ่งมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลให้ หลังจากที่คุณพักผ่อนไปได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง พยาบาลก็จะพาเจ้าตัวน้อยกลับมาหาคุณเพื่อให้นม คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ในระหว่าง 1-2 ชั่วโมงที่เจ้าตัวน้อยอยู่ในห้องกระจกนี้ เจ้าตัวน้อยได้ทำอะไรบ้าง หรือพยาบาลได้ดูแลเจ้าตัวน้อยอย่างไร
เราได้เก็บภาพมาให้คุณแม่ทั้งมือเก่าและมือใหม่ดู เพื่อให้หายข้องใจกันค่ะ
คุณอังคณา อาจยุทธณรงค์ หัวหน้าพยาบาลประจำหอทารกแรกเกิด และ N.I.C.U. ชี้แจงถึงขั้นตอนต่างๆ หลังจากเจ้าตัวน้อยถูกแยกจากมารดาว่า ทารกจะถูกนำมาที่หอทารกแรกเกิด โดยนอนอยู่ภายในตู้อบทำความอบอุ่น เมื่อพามาถึงภายในห้องหอทารกแรกเกิดจะเป็นเขตปลอดเชื้อ จึงเปิดตู้นำเจ้าตัวน้อยออกมาเพื่อตรวจสุขภาพและทำความสะอาด ขั้นตอนต่างๆ ดำเนินไปอย่างรวดเร็วดังนี้
1.ตรวจเช็คป้ายข้อเท้าเจ้าตัวน้อย (จะตรวจตั้งแต่แรกรับจากเจ้าหน้าที่ห้องคลอด)
จุดประสงค์
• เพื่อตรวจทารกให้ตรงกับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดไป เป็นการป้องกันการสลับทารกไม่ให้ผิดคน
• เพื่อเป็นการให้การรักษาพยาบาลกับทารกถูกคน
2.การตรวจประเมินทารก
ตรวจชั่งน้ำหนัก ทารกปกติทั่วไปจะมีน้ำหนักแรกคลอดเฉลี่ยมากกว่า 2,500 กรัม แต่ถ้าน้อยกว่า 2,500 กรัม จะต้องรายงานกุมารแพทย์เจ้าของไข้ทราบ และสังเกตอาการอื่นๆ ในตู้อบ บนเครื่องชั่งน้ำหนักจะมีเครื่องให้ความอบอุ่นหรือฮีทเตอร์ (Heater) เพื่อปล่อยความร้อนลงมาให้ความอบอุ่นกับเจ้าตัวน้อยอยู่ตลอดเวลา
ตรวจวัดอุณหภูมิ ใช้วิธีนำปรอทเสียบวัดที่รูทวาร ซึ่งเป็นวิธีการวัดอุณหภูมิที่แม่นยำที่สุด อุณหภูมิปกติของทารกอยู่ที่ประมาณ 36.5-37 องศาเซลเซียส แต่ถ้ามีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส จะต้องให้ความอบอุ่นกับทารก ด้วยเครื่องทำความอบอุ่นเพื่อให้อุณหภูมิกลับมาปกติ
เนื่องจากทารกเคยชินกับการอยู่ในครรภ์มารดา ที่มีอุณหภูมิคงที่อยู่เสมอ เมื่อทารกออกมา อุณหภูมิของร่างกายจะถูกปรับเปลี่ยนอย่างกระทันหันจากอุณหภูมิภายนอก ทารกต้องใช้พลังงานในการปรับตัวซึ่งมีอยู่น้อยนิด ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ทารกถึงจะปรับตัวให้คุ้นเคยได้ ดังนั้นถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือร่วมด้วยในระยะแรก ทารกอาจมีอุณหภูมิลดต่ำ ทำให้เกิดอันตรายได้
ตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยการใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจของทารก ค่าปกติของเสียงหัวใจในทารกจะเต้นประมาณ 120-160 ครั้งต่อนาที รวมทั้งตรวจระบบการหายใจ โดยใช้วิธีสังเกตหน้าอกที่ขึ้น-ลงของทารก นับการหายใจเข้าและออกเป็น 1 ครั้ง โดยค่าเฉลี่ยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าทารกคนใดมีอัตราการหายใจเกิน 60 ครั้งต่อนาที ถือว่าผิดปกติ ต้องปรึกษากุมารแพทย์
หมายเหตุ หากผลการตรวจประเมินทารกในส่วนหนึ่งส่วนใดมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับทารก พยาบาลที่ตรวจประเมินทารกคนนั้น จะต้องปรึกษาและรายงานกุมารแพทย์เจ้าของไข้ให้ทราบ และสังเกตอาการอื่นๆ ต่อไป
3.เช็ดตัวและเช็ดไข
เป็นการทำความสะอาดร่างกายเบื้องต้น ทารกแต่ละคนมีไขเมื่อแรกคลอดมากน้อยแตกต่างกัน ทารกที่ครบกำหนดคลอดจะมีไขน้อยกว่าคลอดก่อนกำหนด และการที่ทารกมีไขตัวมากหรือน้อยไม่ได้มีผลใดๆ ต่อทารก พยาบาลจะทำความสะอาดไขหลังคลอดให้หมดทุกคน โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำมันมะกอก เช็ดไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ ฯลฯ จนสะอาด แล้วหอตัวด้วยผ้าห่อตัวก่อนนำไปทำความสะอาดศีรษะ จากนั้นจะมีการปั๊มรอยเท้าเพื่อนำไปประกอบกับสมุดสุขภาพ อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ เป็นการยืนยันว่าทารกเป็นลูกของคุณแม่จริง โดยก่อนนำทารกออกจากห้องคลอด จะมีการปั๊มรอยเท้าของทารกและนิ้วหัวแม่มือด้านขวาของมารดาไว้เป็นหลักฐานครั้งหนึ่งก่อนแล้ว แล้วเช็ดเอาคราบหมึกออก
4.ทำความสะอาดศีรษะ
เพื่อขจัดคราบไข และคราบเลือดขณะคลอดที่ติดเส้นผมออก ด้วยการใช้สบู่ฆ่าเชื้อที่มีฟองน้อย ฟอกให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้หวีซี่ถี่สางเอาไขที่ติดบริเวณศีรษะออก แล้วล้างน้ำอีกครั้ง ก่อนเช็ดให้แห้ง แล้วหวีให้เรียบ
หมายเหตุ ขั้นตอนที่ 3-4 จะเห็นได้ว่าการทำความสะอาดทารกเป็นสิ่งจำเป็น แต่จะไม่ใช้วิธีการอาบน้ำ ซึ่งอาจให้ความสะอาดที่มากกว่า เพราะอาจทำให้อุณหภูมิของทารกลดต่ำลงอย่างกระทันหัน อาจเป็นอันตรายได้
5.ใช้สำลีชุบน้ำเกลือ 0.9% เช็ดที่ขอบตาของทารก
โดยไล่จากหัวตาไปหางตา แล้วหยอดตาด้วยยาปฏิชีวนะข้างละ 1 หยด
6.เช็ดสะดือ
ด้วยแอลกอฮอล์ 70% บริเวณรอบๆ สะดือ ไปจนถึงโคน พร้อมตรวจปลายของสายสะดือว่ามีเส้นเลือดครบ (3 เส้น) หรือไม่ ถ้าไม่ครบแสดงว่าทารกอาจผิดปกติ ต้องแจ้งให้แพทย์เจ้าของไข้ทราบ หลังจากนั้นจะ.ฉีดวิตามินเค K ที่บริเวณต้นขาของทารก เพื่อป้องกันเลือดออก
7.ใส่ผ้าอ้อมและเสื้อผ้าให้ความอบอุ่น
8.พยาบาลจะห่อตัวให้ทารก
ผ้าที่โรงพยาบาลเป็นผ้าจำพวกผ้าสาลูหรือสำลี ที่ให้ความอ่อนนุ่มและอบอุ่น
9.เข้าเครื่องทำความอบอุ่น
จะมีอยู่ 2 เครื่อง แล้วแต่อุณหภูมิของทารก หลังจากวัดอุณหภูมิร่างกายของทารก (ในข้อ 2) จะทำให้รู้ว่าอุณหภูมิของทารกปกติหรือตัวเย็น (อุณหภูมิประมาณ 37 องศาเซลเซียส ถือว่าปกติแต่ถ้าต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส ถือว่าตัวเย็น) ถ้าอุณหภูมิปกติก็จะนำไปเข้าเครื่องทำความอบอุ่น ที่เป่าลมร้อนทั่วตัวแบบกลางแจ้ง แต่ถ้าตัวเย็นหรือมีปัญหาการปรับอุณหภูมิของร่างกายมากๆ จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบและนำเข้าตู้อบจนกว่าอุณหภูมิจะปกติ ซึ่งพยาบาลจะคอยมาตรวจวัดอุณหภูมิของทารกทุกคน ทุกๆ 3-4 ชั่วโมง เพราะอุณหภูมิของทารกมีความปรวนแปรได้ง่าย ทารกยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิแวดล้อมได้ ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
กรณีที่ทารกคลอดก่อนถึงโรงพยาบาล การให้การดูแลจะต้องพิเศษกว่าทารกคนอื่นที่คลอดในโรงพยาบาล เนื่องจากจะต้องมีการเฝ้าระวังในเรื่องอุณหภูมิร่างกายของทารก และการติดเชื้อต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ โดยพยาบาลจะแยกทารกคนนั้นออกมาจากทารกคนอื่นๆ เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
ส่วนการตรวจวัดร่างกายและพัฒนาการพื้นฐานจะมีตั้งแต่แรกคลอดโดยแพทย์ ซึ่งอาจตรวจภายในห้องคลอดหรือหลังคลอด เมื่อนำทารกมาไว้ในหอทารกแรกคลอดแล้ว ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์เจ้าของไข้ แต่แพทย์ก็จะมีดูแลตรวจวัดพัฒนาการทุกวัน จนกว่าทารกจะกลับบ้าน
เมื่อได้รู้ถึงขั้นตอนและวิธีการดูแลเจ้าตัวน้อยหลังคลอดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยกันอยู่ก็หายสงสัย ว่าเจ้าตัวน้อยได้รับการดูแลอย่างดี รวมถึงเจ้าตัวน้อยที่คุณพากลับบ้าน จะยืนยันได้ว่าต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงจริงๆ และน้อยมากที่จะผิดฝาผิดตัว คุณสามารถวางใจและเลี้ยงเจ้าตัวน้อยอย่างสบายใจได้ค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)